กรณีศึกษา

พิพิธภัณฑ์ของจุฬาฯ: แหล่งเรียนรู้โลกกว้างที่ทุกคนเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต

ภายในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากจะเป็นที่ตั้งของคณะและสถาบันสำคัญที่ทั้งสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้นิสิตผลิตบัณฑิตให้พร้อมออกไปรับใช้สังคมแล้ว จุฬาฯ ยังได้เปิดพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงวิชาการและการอนุรักษ์ให้นิสิต คณาจารย์ และบุคลากร รวมทั้งบุคคลภายนอกที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) ศึกษาหาความรู้เสริมเพิ่มเติมทักษะต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ได้อย่างเพลิดเพลินตามอัธยาศัยในแบบสรรสาระ (Edutainment) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ซึ่งมีทั้งส่วนที่อยู่ภายในกำกับของส่วนกลางมหาวิทยาลัยและอยู่ในส่วนความรับผิดชอบของหลายคณะ รวมมากถึง 23 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งล้วนเป็นคลังความรู้ที่มีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัว อาทิ พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หอประวัติจุฬาฯ, พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ สังกัดคณะทันตแพทยศาสตร์, พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้กระจายอยู่ในพื้นที่ของจุฬาฯ ในแต่ละภูมิภาคอีก 2 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ จังหวัดเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน จังหวัดชลบุรี เป็นต้น [ https://www.chula.ac.th/cu-services/creative-space/museums/ ]

หากแต่เสน่ห์เย้ายวนใจที่ทำให้นิทรรศการที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ของจุฬาฯ มีมนต์ขลังชวนดึงดูดใจให้กลุ่มคนเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยังคงเข้ามาเยี่ยมชมกันไม่ขาด น่าจะอยู่ตรงที่จุฬาฯ ได้พัฒนาทั้งเนื้อหาและรูปแบบการจัดแสดงในแบบสหศาสตร์อยู่อย่างต่อเนื่องตลอดปี โดยบูรณาการเนื้อหาและเทคนิคการนำเสนอผ่านความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์ในรั้วจุฬาฯ ด้วยกัน ตัวอย่างนิทรรศการสำคัญที่จัดแสดงในช่วงปี 2564-2565 เช่น

นิทรรศการ “ความลับของโครงกระดูก” 

นิทรรศการ “ความลับของโครงกระดูก” มีรูปแบบนิทรรศการที่ผสมผสานระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์  จัดแสดงตัวอย่างของโครงกระดูกสัตว์มีกระดูกสันหลัง  เพื่อศึกษาระบบโครงร่าง (Skeletal system) ของสัตว์ โดยนำมาจัดวางองค์ประกอบที่ช่วยสร้างสุนทรียะและเปิดประสบการณ์ผู้ชมตื่นตาตื่นใจและได้รับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกัน [ https://www.cuartculture.chula.ac.th/news/5514/ ]

ที่มา: Sarakadee Lite

[ https://www.sarakadeelite.com/lite/skeletons-secrets/ ]

นิทรรศการดังกล่าวจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 5 พฤษภาคม 2564 ผู้สนใจเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย [ https://www.chula.ac.th/news/42927/ ]

นิทรรศการ “ใครสร้างคำ คำสร้างใคร” 

สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม ร่วมกับภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกระทรวงวัฒนธรรม จัดนิทรรศการ “ใครสร้างคำ คำสร้างใคร” เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2565 เพื่อให้เรียนรู้ว่า “คำ” ไม่ได้เป็นเพียงหน่วยในภาษาที่ใช้เพื่อสื่อความหมายเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์กับผู้ใช้ภาษาและสังคมวัฒนธรรมด้วย การศึกษาคำจึงช่วยให้เราเข้าใจระบบความคิด ค่านิยม และความเชื่อของคนในสังคม ตลอดจนเป็นเครื่องมือในการศึกษาปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม [ https://www.cuartculture.chula.ac.th/activity/11519/ ]

นิทรรศการดังกล่าวจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม – 27 กันยายน 2565 ในวันทำการ ผู้สนใจเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย [ https://www.chula.ac.th/news/80597/ ]

พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์

เป็น 1 ใน 11 พิพิธภัณฑ์ของโลกและเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จัดแสดงร่างกายมนุษย์ด้วยเทคนิคพลาสติเนชัน ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ในการรักษาสภาพร่างกายหรือชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ที่เสียชีวิต โดยใช้การแทนที่น้ำและไขมันในเนื้อเยื่อด้วยสารพลาสติกเหลว ทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็นของน้ำยา ไม่มีการเน่าสลาย และสามารถคงสภาพอยู่ได้นาน ภายในจัดแสดงร่างกายและชิ้นส่วนของมนุษย์แบบ 3 มิติ 

โดยพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ที่อาคารทันตแพทยศาสตร์เฉลิมนวมราช 80 ชั้น 9 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมตลอดทั้งปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย [ http://www.dent.chula.ac.th/anatomy/museum.php ]

ที่มา: Thainess TV

https://www.youtube.com/watch?v=jy9vflCpcDs

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งน่าน พิพิธภัณฑ์ศิลป์-สินธรรมชาติที่จังหวัดสระบุรี สวนสมุนไพรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “เจ้ากรมเป๋อ” และสวนสมุนไพรบุญรอด บิณฑสันต์

เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และอ้างอิงทางวิชาการสำหรับเยาวชนในพื้นที่ ยกระดับความรู้และงานวิจัยของชุมชน และเสริมสร้างสำนึกรักทรัพยากรในท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบการศึกษาของนักเรียน นิสิตและนักศึกษาในพื้นที่ทั้งจังหวัดน่านและสระบุรี

ที่มา: CU Channel Engagement

https://www.youtube.com/watch?v=_yOAS0DfZ9o&t=67s

ที่มา :

  • สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อื่นๆ

หลักสูตรความรู้และการจัดกิจกรรมรณรงค์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเรื่องของผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน ทั้งในแง่ของการเกิดพิบัติภัยจากสภาพอากาศที่รุนแรงโดยตรง และภัยพิบัติอื่น ๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ประชาคมโลกได้ทุ่มเทความพยายามอย่างมากในการแก้ไข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้

เสวนา SDG 14 Life Below Water

จุฬาฯ จัดการเสวนาในซีรีส์ SDG14 ชีวิตในน้ำ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิจัยทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าร่วมการเสวนา และมีผู้เข้าร่วมการเสวนาประมาณกว่า 200 คน

จุฬาฯ ต้าน COVID-19 ด้วยกลยุทธ์หลายมิติ; การวินิจฉัย การรักษา และการฉีดวัคซีน

ในช่วงวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สนับสนุนงานวิจัย การบริการ และนวัตกรรมมากมายแก่สังคมเพื่อฟื้นคืนสถานการณ์ที่ตึงเครียด ซึ่งรวมถึงวิธีการวินิจฉัย แพลตฟอร์มออนไลน์ด้านการดูแลผู้ป่วย (วอร์ดเสมือน) และงานด้านศูนย์บริการวัคซีน

จุฬาฯ สนับสนุนการศึกษาสำหรับทุกคน ไม่แบ่งแยก

การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับทุกคนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งผลให้การพัฒนาประเทศดีขึ้น การศึกษาไม่ควรจำกัดเฉพาะเยาวชนเท่านั้น การศึกษาไม่ควรมีค่าใช้จ่ายและทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แม้ว่าพวกเขาจะรวยหรือจน