อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ป่ากลางเมือง พื้นที่สีเขียวเพื่อชุมชนที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้
อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ เป็นพื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองบนพื้นที่กว่า 29 ไร่ ของจุฬาฯ อันเกิดขึ้นจากนโยบายการสร้างเมือง GREEN & CLEAN CITY และเพื่อเป็นการตามรอยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชทานที่ดินให้แก่จุฬาฯ เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และคืนประโยชน์สู่สังคมส่วนร่วม โดยก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้เข้าใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
พื้นที่สีเขียวของจุฬาฯ แห่งนี้ จึงเป็นพื้นที่เพื่อให้คนทุกเพศทุกวัย ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เข้ามาสูดอากาศบริสุทธิ์ผ่อนคลาย สามารถมาเดินหรือออกกำลังรับลมเย็น ๆ ชมพระอาทิตย์ตกดินในบรรยากาศสวยที่หาได้ยาก และได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติในย่านใจกลางกรุงเทพฯ
ด้วยแนวคิดในการออกแบบอุทยานแห่งนี้ ที่ไม่เพียงแต่การคำนึงถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ขนาดใหญ่ของย่านที่อยู่อาศัยบริเวณนี้ ยังสร้างความหลากหลายด้วยการใช้พืชพรรณที่หลากหลาย และปลูกแบบธรรมชาติตามแนวคิดป่าในเมือง มอบความเขียวชอุ่ม สดชื่น และสวยงามให้แก่ชุมชน ด้วยดีไซน์การออกแบบอันเกิดจากแรงบันดาลใจมาจากการเติบโตของกิ่งรากจามจุรี ต้นไม้สัญลักษณ์ประจำของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ยังถูกออกแบบให้เป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโครงสร้างระบบนิเวศสีเขียวในระดับชุมชนของเมืองแห่งนี้ (URBAN GREEN INFRASTRUCTURE) และคำนึงถึงการรับน้ำและการหมุนเวียนทรัพยากรน้ำภายในอุทยานอย่างชาญฉลาด เพื่อเป็นต้นแบบสวนสาธารณะที่เป็นพื้นที่หน่วงน้ำของเมือง เอื้อต่อระบบนิเวศที่ดี และเอื้อต่อการทำกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ ของคนในชุมชนได้อีกด้วย [ https://pmcu.co.th/?page_id=9921 ]
กิจกรรมและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อุทยาน
[ https://www.facebook.com/chulalongkornuniversitycentenarypark/ ]
เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่ออกกำลังกาย แหล่งนัดพบปะสังสรรค์ สำหรับคนทุกคน โดยเฉพาะคนในชุมชนที่อาศัยโดยรอบพื้นที่และพื้นที่ใกลัเคียง ที่สามารถเข้าใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ เปิดทุกวัน เวลา 05.00-22.00 น.
เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์หลายรูปแบบ ที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ และเปิดให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตลอดทั้งปี เช่น การจัดนิทรรศการกลางแจ้ง เทศกาลดนตรี กิจกรรมด้านต่างๆ เพื่อสังคม การรณรงค์รวมกลุ่มอิสระเพื่อส่งเสริมมิติของข่าวสารข้อมูลด้านสาธารณะ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ จึงเป็นพื้นที่สีเขียวสำคัญของจุฬาลงกรณ์ที่มีบทบาทในการเปิดโอกาสให้สาธารณะเข้ามาใช้งานได้อย่างเต็มที่ ช่วยเชื่อมโยงการใช้พื้นที่ระหว่างย่านการค้าและพื้นที่มหาวิทยาลัยอย่างไร้รอยต่อ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของกลุ่มคนหลากหลายชนชั้นในสังคมพหุวัฒนธรรม ตัวอย่างกิจกรรมสำคัญที่จัดขึ้นในช่วงปี 2564-2565 เช่น
นิทรรศการ “ความงามของโอกาส” วันที่ 22 – 26 ธันวาคม 2564
นิทรรศการ “ความงามของโอกาส” รวบรวมผลงานศิลปะและงานออกแบบของศิลปิน 7 ท่าน และผู้ต้องขังในโครงการช่างสิบหมู่ เรือนจำพิเศษธนบุรี ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตและแนวคิดของผู้ที่ต้องโทษในเรือนจำนำเสนอสู่สาธารณชน เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมระหว่างวันที่ 22 – 26 ธันวาคม 2564 เวลา 10.00 – 19.00 น. ณ อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ
[ https://www.chula.ac.th/news/57798/ ]
เทศกาล Village Tourism Festival วันที่ 18-19 มิถุนายน 2565
เทศกาล Village Tourism Festival เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเปิดมุมมองใหม่ต่อการท่องเที่ยววิถีไทยและวิถีท้องถิ่น ให้คนไทยได้สัมผัสและเรียนรู้ภูมิปัญญาจากชุมชนที่มีเอกลักษณ์ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวหลากหลาย อันนำไปสู่การกระจายรายได้สู่ชุมชนและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนตามแนวคิด BCG Model อีกทั้งต่อ ยอดความสำเร็จของรางวัล Thailand Tourism Awards โดยนำเสนอกิจกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชนท่องเที่ยวที่ได้รับรางวัล สาขาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เป็นการเพิ่มโอกาสทางการตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว
ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ ออนไลน์ [ https://www.thansettakij.com/general-news/529373 ]
งาน “ดนตรีในสวน” ที่อุทยาน 100 ปีจุฬาฯความสุขสนุกสนานและรักษ์สิ่งแวดล้อม วันที่ 4-6 สิงหาคม 2565
งานดนตรีในสวน ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 6 สิงหาคม 2565 โดยในงานมีการแสดงดนตรีหลากหลาย ทั้งดนตรีสากล ดนตรีไทยประยุกต์ การแสดงความสามรถทางดนตรีโดยวงดนตรีของนิสิตจุฬาฯ คณะต่างๆ นอกจากนี้ในงานยังมีซุ้มกิจกรรมร่วมสนุกมากมาย เช่น ซุ้มเกม งานคราฟต์ ซุ้มดูดวง ซุ้มสอยดาว ทำสบู่แฮนด์เมด ฯลฯ
กิจกรรมในครั้งนี้ยังต้อนรับทุกๆ คนเข้ามามีส่วนร่วมในงาน รวมไปถึงผู้พิการ โดยมีการให้บริการวีลแชร์และห้องน้ำสำหรับผู้พิการ ที่สำคัญงานนี้ยังเป็นแบบอย่างที่ดีของกิจกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ด้วยบรรยากาศและกิจกรรมรักษ์โลก โดยมีจุดบริการน้ำดื่ม เพื่อให้ผู้ร่วมงานนำกระบอกน้ำมาเอง งดใช้ถุงพลาสติก บริเวณจุดทิ้งขยะมีการแบ่งชนิดถังอย่างชัดเจน ทั้งขยะแห้งรีไซเคิลได้ ขยะเปียก และเศษอาหาร โดยมีการจัดการนำขยะไปรีไซเคิลต่อไป [ https://www.chula.ac.th/news/80732/ ]
“CHULA SUSTAINABILITY FEST 2022” วันที่ 2 – 4 กันยายน 2565
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงาน “Chula Sustainability Fest 2022” ระหว่างวันที่ 2 – 4 กันยายน 2565 ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ชีวิตตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) [ https://www.chula.ac.th/highlight/83534/ ]
พบกับหลากหลายโครงการและกิจกรรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมความยั่งยืนในด้านต่างๆ ทั้งการพัฒนาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสุขภาวะ ตลอดจนการพัฒนาสังคม ตลอดทั้ง 3 วันที่จัดงานมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย นิทรรศการและการนำเสนอผลงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน งานเสวนา Workshop นิทรรศการให้ความรู้ ศิลปะบำบัด ดนตรีในสวน ตลาดนัดสีเขียวจาก Greenery และ Chula SDGs การฉายหนังกลางแปลง ฯลฯ
ขอเชิญชวนบุคลากรจุฬาฯ นิสิตจุฬาฯ นิสิตเก่า และประชาชนทั่วไปที่สนใจร่วมงาน “Chula Sustainability Fest 2022” โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เข้าใจง่าย ช่วยให้ชาวจุฬาฯ และผู้สนใจได้รับรู้และเกิดแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิต การทำงานที่ส่งผลดีต่อตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน [ https://pmcu.co.th/?p=25342 ]
ที่มา:
สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:
SDG ที่เกี่ยวข้อง
อื่นๆ
จุฬาฯ ปลุกการท่องเที่ยวเมืองน่านสีเขียว
“น่าน” มีวิสัยทัศน์ประจำจังหวัด คือ “เมืองแห่งความสุข เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ธรรมชาติสมบูรณ์ เกษตรกรรมอุดมสมบูรณ์ ชุมชนแน่นแฟ้น และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” น่านได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดการพัฒนาการและเติบโตด้านการท่องเที่ยวอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยใช้ 5 กลยุทธ์
พิพิธภัณฑ์ของจุฬาฯ: แหล่งเรียนรู้โลกกว้างที่ทุกคนเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
ภายในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากจะเป็นที่ตั้งของคณะและสถาบันสำคัญที่ทั้งสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้นิสิตผลิตบัณฑิตให้พร้อมออกไปรับใช้สังคมแล้ว จุฬาฯ ยังได้เปิดพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงวิชาการและการอนุรักษ์ให้นิสิต คณาจารย์ และบุคลากร รวมทั้งบุคคลภายนอกที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ตลอดชีวิต
จุฬาฯ ผนึกกำลังชุมชน ติวน้อง “ละอ่อนสารักษ์ป่าน่าน” ใช้ Google Earth Pro กู้ป่าชุมชนเสื่อมโทรม
สถานการณ์ป่าน่านเสื่อมโทรมเป็นปฐมเหตุให้ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง และสถานีวิจัยคัดเลือกและบำรุงพันธุ์สัตว์ ตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ต้องผนึกกำลังกันดำเนินกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเพื่อวางแนวทางการพลิกฟื้นผืนป่าสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศป่าชุมชน “ไหล่น่าน”
กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสาธารณะตลอดปีที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ 2565-2566
ด้วยความมุ่งมั่นให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงกิจกรรมเหล่านี้ได้ โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา ความทุพพลภาพ หรือเพศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการจัดโครงการและกิจกรรมสาธารณะด้านวิชาการ การถ่ายทอดความรู้ และการฝึกอบรมสายอาชีพสำหรับประชาชนอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี หลากหลายรูปแบบ ทั้ง onsite และ Online ให้กับทั้งนักศึกษา บุคลากร และบุคคลภายนอกทั่วไปที่สนใจเข้าร่วม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย