กรณีศึกษา

ธนาคารปูม้า เกาะสีชัง ต้นแบบศูนย์เรียนรู้เพิ่มทางรอดปูม้าไทยคืนสู่ท้องทะเลได้ถึงร้อยละ 60

คุณคิดว่า เมื่อมีปูม้าที่มีไข่ติดมา 457 ตัว จะได้ลูกปูม้าจำนวนเท่าไหร่ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (2563) มีชาวประมงที่จับปูม้าที่ท้องนอกกระดองมาให้ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบนบก อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เป็นจำนวน 457 ตัว เพื่อเพาะเป็นลูกปูม้า ปรากฎว่าศูนย์สามารถดูแลปูไข่จนลูกปูม้าถึง 565,219,724 ตัว และแม้ลูกปูม้าจะมีเปอร์เซนต์รอดชีวิตที่ 40-60% ศูนย์ก็ยังสามารถเอาลูกปูม้าไปปล่อยในทะเลได้เป็นพันตัว นับตั้งแต่เดือนมกราคมหลังจากที่ชาวประมงเริ่มมีการนำปูท้องนอกกระดองมามอบให้ที่ศูนย์ เหล่านี้คือตัวเลขที่มหัศจรรย์ที่ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบนบก กำลังทำให้เกิดในทะเลไทย และทำให้ความกังวลว่าปูม้าไทยจะสูญพันธ์ ผู้บริโภคไทยจะขาดแคลนปูม้าที่เป็นอาหารทะเลยอดนิยมได้หมดไป

“ปูม้า อาหารทะเลที่มีความต้องการสูง แต่ความสามารถในการจับปูม้าลดลง โดยเฉพาะในสถานที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่นที่เกาะสีชัง ปูม้าจะมีราคาแพงมาก” ดร.นิลนาจ ชัยธนาวิสุทธิ์ (NILNAJ CHAITANAWISUTI) นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้า อธิบาย

แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อชาวประมงจับปูม้าไข่นอกกระดองก็ไม่สามารถนำออกไปขายได้เนื่องจากผิดกฎหมาย “เพื่อช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ เมื่อชาวประมงได้ปูม้าที่มีไข่นอกกระดองมา ก็จะต้องเอามาฝากไว้กับโครงการของเรา แล้วเราก็ทำหน้าที่เลี้ยงจนกระทั่งมันฟักตัวออกมา ซึ่งวิธีการนี้มันจะทำให้ประชากรปูม้าที่กำลังลดลง เพิ่มขึ้นได้ และเป็นการลดการลักลอบจับปูม้าไข่นอกกระดองไปขายด้วย” ดร.นิลนาจ อธิบาย

ขณะนี้ผลตอบรับ ดีมาก คือ “เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ชาวประมงไม่ค่อยเห็นความสำคัญ เอาปูมาฝากค่อนข้างน้อย แต่ตอนนี้ทุกหมู่บ้าน ทุกครัวเรือน เอาปูม้าไข่นอกกระดองมาฝากไว้กับเรา “เพราะเขาเริ่มเห็นความสำคัญของโครงการนี้ เพราะตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นปู่ รุ่นตา เค้าไม่เคยจับปูขนาดเล็ก ๆ ได้เลย” ดร.นิลนาจ เล่าต่อ “เขาจับเอามาให้เราดูแล้วบอกว่า ไม่เคยเห็นปูเล็กขนาดนี้มาก่อนเลย แต่นี่เค้าไปจับมาได้ที่หน้าเกาะ”

เมื่อชาวประมงเห็นศักยภาพโครงการที่จะทำประโยชน์ ให้เขามีปูม้าจำนวนมากให้จับได้ในระยะยาว จึงเริ่มเอาปูม้าไข่นอกกระดองมาที่ศูนย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในเดือนมิถุนายนเดือนเดียว ได้มีปูม้าไข่นอกกระดองเข้ามามากถึง 457 ตัว

ปูม้า เป็นสัตว์น้ำเค็มที่คนไทยนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลายและเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้การทำประมงชายฝั่ง อีกทั้งยังเป็นวัตถุดิบหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อการส่งออก จากการเปิดเผยข้อมูลของกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ในปี พ.ศ. 2554 ผลผลิตปูม้าของประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 28,800 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 3,243 ล้านบาท ซึ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญถึงร้อยละ 20-30 จากปี พ.ศ. 2540 ที่ขณะนั้นประเทศไทยมีผลผลิตปูม้าอยู่ราว 40,000 ตันต่อปี ส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคของตลาดและอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อส่งออก จึงเป็นที่มาของการพัฒนาวิธีการจับปูม้าและเครื่องมือทำประมงให้มีประสิทธิภาพและมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ชาวประมงไทยเคยใช้แร้วปูม้าแบบขอบเดียว ต่างหันมาใช้ลอบปูม้าแบบพับได้และอวนลอยปูม้า อีกทั้งยังได้พัฒนาอวนลอยปูม้าให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเป็นอวนแบบจมซึ่งสามารถหย่อนลงได้ถึงก้นทะเลเพื่อเพิ่มอัตราการจับปูม้าและเพิ่มโอกาสจับสัตว์น้ำพลอยจับได้ ซึ่งการดัดแปลงอุปกรณ์ในข้างต้นส่งผลให้ทรัพยากรปูม้าไทยถูกจับมาบริโภคเกินกำลังการขยายพันธุ์ของปูม้าตามธรรมชาติ จนอาจเป็นเหตุให้ปูม้าไทยใกล้สูญพันธุ์ได้ในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ ซึ่งมีสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลและศูนย์ฝึกนิสิตอยู่ที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี จึงได้กำหนดแนวทางฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากการทำประมงปูม้า โดยจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบนบก อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์ปูม้าแบบฟาร์มบนบก ช่วยเพิ่มอัตราการรอดของลูกพันธุ์ปูม้าจากการสลัดไข่ของแม่ปูม้า ซึ่งกลุ่มชาวประมงเรือเล็กหรือชาวประมงพื้นบ้านจะนำแม่ปูม้าที่มีไข่ติดกระดองมาฝากไว้ที่ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบนบก เพื่อให้ไข่ฟักตัวเป็นลูกปูม้าวัยอ่อนแทนที่จะนำออกขายทันที “นอกจากนี้ ทางศูนย์ยังมุ่งพัฒนาพ่อแม่พันธุ์ปูม้าให้สามารถผลิตตัวอ่อนที่แข็งแรงเหมาะสมต่อการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติช่วยเพิ่มสมดุลให้ประชากรปูม้าในระบบนิเวศได้อีกทางหนึ่ง” ดร.นิลนาจ อธิบายต่อ

มากไปกว่านั้น ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารปูม้าบนบกแห่งนี้ยังทำหน้าที่สำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่กลุ่มเป้าหมายหลักระดับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอำเภอเกาะสีชัง โดยมีธนาคารปูม้าเกิดขึ้นแล้วจำนวน 22 แห่ง และยังมีธนาคารปูม้าเกิดขึ้นตามมาในพื้นที่อำเภอใกล้เคียงภายในจังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายรองอีกจำนวน 3 แห่ง ใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เรื่องประมงปูม้าของผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้คนในชุมชนเกาะสีชังเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบนบก รวมถึงร่วมกันติดตามสถานการณ์การทำประมงปูม้าในพื้นที่เกาะสีชังอีกด้วย

ที่ผ่านมา การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้ายังประโยชน์ให้คนบนเกาะสีชังที่ประกอบอาชีพทำประมงราว 3,500 คน คิดเป็นกว่าร้อยละ 70 ของประชากรในพื้นที่ทั้งหมด และศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ยังได้รับการพัฒนาให้เป็นต้นแบบกลไกการบูรณาการใช้ประโยชน์จากการวิจัยนวัตกรรมแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศและการบริหารจัดการทรัพยากรของชาติจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่ายได้ขยายผลไปยังชุมชนในพื้นที่ท้องทะเลไทยในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ทั้งสิ้นจำนวนอีก 4 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าวิสาหกิจชุมชุนบ้านบางเสร่ จังหวัดชลบุรี 2) ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านเกาะมุกด์ (อ่าวหัวนอน) อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง 3) ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านเกาะมุกด์ (อ่าวมะขาม) อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และ 4) ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านปากคลองท่าทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ปัจจุบัน 2021 ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบนบก อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ได้ปรับเป็นศูนย์เรียนรู้ธนาคารสัตว์ทะเลเกาะสีชัง โดยชุมชนเพื่อชุมชนยั่งยืน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ที่มา:

สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

  • http://www.bangsaensook.com/NEWS/6201-BlueSwimmingCrab-SiChang.html
  • https://www.thairath.co.th/news/local/east/1476965
  • https://www.education4plus.com/home/2019/01/%E0%B8%A7%E0%B8%8A-%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A-%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%A3/

อื่นๆ

กล่องรอดตาย – หอผู้ป่วยเสมือน

COVID-19 เป็นโรคระบบทางเดินหายใจสามารถทำให้เกิดอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่ไม่แสดงอาการ ไปจนถึงเสียชีวิตได้ อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ มีไข้ ไอ และอ่อนเพลีย สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมากหรือเป็นโรคอื่นๆ อยู่ เช่น เบาหวาน มีแนวโน้มที่จะมีอาการรุนแรง

กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสาธารณะตลอดปีที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ด้วยความมุ่งมั่นให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงกิจกรรมเหล่านี้ได้ จึงได้ดำเนินการจัดโครงการและกิจกรรมสาธารณะด้านวิชาการ การถ่ายทอดความรู้ และการฝึกอบรมสายอาชีพสำหรับประชาชนอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี หลากหลายรูปแบบ ทั้ง onsite และ Online โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

เปิดพื้นที่สีเขียวของจุฬาฯ กับการสร้างสุขภาพที่ดีให้กับชุมชน

เมื่อก้าวเข้ามาในย่านจุฬา สวนหลวง-สามย่าน จะสัมผัสได้ถึงพื้นที่สีเขียวภายในย่านที่มีขนาดใหญ่และจะขยายขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรามีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองให้เป็น “GREEN & CLEAN CITY” โดยมีหลากหลายนโยบายที่จะช่วยพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมรอบด้านอย่างยั่งยืน

ความร่วมมือจุฬาฯ กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยของข้าราชการตำรวจ (Affordable Housing for Police Officers)

สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของข้าราชการตำรวจ อันเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อชุมชน