จุฬาฯ หวังเพิ่มประชากรเต่าทะเล หนุนตั้งเครือข่ายคุ้มครองแหล่งวางไข่ในอ่าวไทย
จำนวนเต่าทะเลในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 แม้รัฐบาลจะประกาศใช้กฎหมาย กำหนดเขตหวงห้าม ประกาศขึ้นทะเบียนเต่าทะเลในบัญชีรายชื่อของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งพันธุ์พืชป่าและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และพยายามสำรวจและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งอาศัยของเต่าทะเล เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการอนุรักษ์เต่าทะเลก็ตาม แต่จำนวนของเต่าทะเลในประเทศไทยยังคงลดลงจนใกล้ถึงจุดวิกฤต จากจำนวนมากกว่า 2,500 รังต่อปี เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเหลือเพียงปีละ 300-400 รังต่อปี เท่านั้น
ปัญหาการลดลงของเต่าทะเลเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ กรณีศึกษาในเต่ากระซึ่งเป็นเต่าทะเลประเภทหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เต่าทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการทำประมงพื้นบ้านและเชิงพาณิชย์ที่ทำให้เต่าทะเลติดอวนเป็นจำนวนมาก การนำไข่เต่ามาประกอบอาหาร การนำกระดองเต่ามาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งมีราคาถูกและซื้อขายกันอย่างแพร่หลายในท้องตลาด แม้ว่าปัจจุบันนโยบายของรัฐและนักสิ่งแวดล้อมจะสร้างความตระหนักในพฤติกรรมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้ในวงกว้างแล้ว แต่ความพยายามโดยตรงในการเพิ่มจำนวนเต่าทะเลยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนของเต่าทะเลได้อย่างชัดเจน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงจัดโครงการการประเมินหลุมวางไข่และภัยคุกคามเพื่อการวางแผนเพิ่มการวางไข่ของเต่ากระในอ่าวไทย โครงการดังกล่าวมีภารกิจหลักในการจัดการประเมินการวางไข่ของเต่ากระ และจัดตั้งเครือข่ายระหว่างภาครัฐและชุมชน เพื่อเพิ่มพื้นที่การวางไข่ของเต่ากระในบริเวณอ่าวไทยตะวันออกในระดับชุมชนและภูมิภาค จากจุดเริ่มต้นของโครงการในปี 2562 ระยะแรกโครงการได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติและภูมิภาค Fauna and Flora International (FFI-RTW) Regional Training Workshop (RTW) ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งได้นำความรู้มาใช้ต่อยอดเพื่อดำเนินโครงการ ก่อนจะติดต่อและประสานงานทั้งหน่วยงานราชการและเอกชนในพื้นที่วางไข่ของเต่าทะเลในเขตอ่าวไทย เพื่อขอข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เข้าสำรวจพื้นที่ และจัดสัมมนาให้ความรู้แก่บุคคลในชุมชนพื้นที่ในระยะต่อมา ก่อนจะสร้างเครือข่ายคุ้มครองแหล่งวางไข่ในชุมชนและเก็บข้อมูลแหล่งวางไข่ของเต่ากระในพื้นที่เขตชายฝั่งอ่าวไทย บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดชุมพร นอกจากนี้ ยังช่วยกันดูแลเฝ้าสังเกตการณ์ด้านสุขภาวะของสภาพแวดล้อมของระบบนิเวศทางทะเลและพัฒนา โครงการนี้ยังสร้างแนวทางปฏิบัติที่ดีในการดูแลรักษาระบบนิเวศทางน้ำในวงกว้างต่อทั้งคนในชุมชน และประชาชนทั่วไป จนนำไปสู่การจัดตั้งและพัฒนาสร้างเครือข่ายคุ้มครองแหล่งวางไข่ในชุมชนและเก็บข้อมูลแหล่งวางไข่ของเต่ากระในพื้นที่เขตชายฝั่งอ่าวไทยอีกด้วย ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบทบาทของชุมชนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โครงการนี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป้าหมายเพิ่มอัตราการวางไข่ของเต่าทะเลเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง และมีแนวโน้มที่จะขยายไปยังพื้นที่อื่น ภาพเต่าทะเลจำนวนมากในท้องทะเลไทย จะกลับมาเป็นจริงอีกครั้งหลังจากเป็นเพียงภาพฝันของคนไทยหลายคนมาหลายทศวรรษ
ที่มา:
ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:
อื่นๆ
อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ป่ากลางเมือง พื้นที่สีเขียวเพื่อชุมชนที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้
พื้นที่กว่า 29 ไร่ ของจุฬาฯ อันเกิดขึ้นจากนโยบายการสร้างเมือง GREEN & CLEAN CITY และเพื่อเป็นการตามรอยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชทานที่ดินให้แก่จุฬาฯ เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และคืนประโยชน์สู่สังคมส่วนร่วม
ร่วมมือกับ NGOs เพื่อขับเคลื่อน SDGs ผ่านกิจกรรมการอาสาสมัครของนิสิต
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับเป้าหมาย SDGs ทั้งหมด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมมือกับหลายองค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร(NGOs) โดยนิสิตมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเป้าหมาย SDGs ในด้านต่างๆ โดยเข้าร่วมในโครงการอาสาสมัครต่างๆ
เทคโนโลยีราไมคอร์ไรซาเพื่อการปลูกและฟื้นฟูป่าอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ตามรายงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร้อยละ 31-33 ของประเทศไทยเป็นพื้นที่สีเขียว ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและปกป้องผืนป่าโดยกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) วางเป้าหมายในการขยายพื้นที่ป่าให้เป็นร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั่วประเทศ
จุฬาฯ หนุนใช้นวัตกรรมกู้วิกฤตประมงไทย ผุดวิธีแก้ประมงผิดกฎหมาย ช่วยชาติปลดล็อคใบเหลือง IUU
ต่อยอดผลสำเร็จงานวิจัยการจัดการและถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาประมงแบบ IUU แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ในกิจการประมงไทย