พื้นที่สีเขียวของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พื้นที่เปิดเพื่อชุมชนและสังคมที่ทุกคนเข้าถึงได้
Photo by Nopparuj Lamaikul on Unsplash
อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: ป่ากลางเมือง พื้นที่สีเขียวเพื่อชุมชนที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้
อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ เป็นพื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองบนพื้นที่กว่า 29 ไร่ ของจุฬาฯ อันเกิดขึ้นจากนโยบายการสร้างเมือง GREEN & CLEAN CITY และเพื่อเป็นการตามรอยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชทานที่ดินให้แก่จุฬาฯ เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และคืนประโยชน์สู่สังคมส่วนร่วม โดยก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้เข้าใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
พื้นที่สีเขียวของจุฬาฯ แห่งนี้ จึงเป็นพื้นที่เพื่อให้คนทุกเพศทุกวัย ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เข้ามาสูดอากาศบริสุทธิ์ผ่อนคลาย สามารถมาเดินหรือออกกำลังรับลมเย็น ๆ ชมพระอาทิตย์ตกดินในบรรยากาศสวยที่หาได้ยาก และได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติในย่านใจกลางกรุงเทพฯ
ด้วยแนวคิดในการออกแบบอุทยานแห่งนี้ ที่ไม่เพียงแต่การคำนึงถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ขนาดใหญ่ของย่านที่อยู่อาศัยบริเวณนี้ ยังสร้างความหลากหลายด้วยการใช้พืชพรรณที่หลากหลาย และปลูกแบบธรรมชาติตามแนวคิดป่าในเมือง มอบความเขียวชอุ่ม สดชื่น และสวยงามให้แก่ชุมชน ด้วยดีไซน์การออกแบบอันเกิดจากแรงบันดาลใจมาจากการเติบโตของกิ่งรากจามจุรี ต้นไม้สัญลักษณ์ประจำของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ยังถูกออกแบบให้เป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโครงสร้างระบบนิเวศสีเขียวในระดับชุมชนของเมืองแห่งนี้ (URBAN GREEN INFRASTRUCTURE) และคำนึงถึงการรับน้ำและการหมุนเวียนทรัพยากรน้ำภายในอุทยานอย่างชาญฉลาด เพื่อเป็นต้นแบบสวนสาธารณะที่เป็นพื้นที่หน่วงน้ำของเมือง เอื้อต่อระบบนิเวศที่ดี และเอื้อต่อการทำกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ ของคนในชุมชนได้อีกด้วย [ https://pmcu.co.th/chula-centenary-park/ ]
กิจกรรมและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อุทยาน
[ https://www.facebook.com/chulalongkornuniversitycentenarypark/ ]
เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่ออกกำลังกาย แหล่งนัดพบปะสังสรรค์ สำหรับคนทุกคน โดยเฉพาะคนในชุมชนที่อาศัยโดยรอบพื้นที่และพื้นที่ใกลัเคียง ที่สามารถเข้าใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ เปิดทุกวัน เวลา 05.00-22.00 น.
เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์หลายรูปแบบ ที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ และเปิดให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตลอดทั้งปี เช่น การจัดนิทรรศการกลางแจ้ง เทศกาลดนตรี กิจกรรมด้านต่างๆ เพื่อสังคม การรณรงค์รวมกลุ่มอิสระเพื่อส่งเสริมมิติของข่าวสารข้อมูลด้านสาธารณะ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ จึงเป็นพื้นที่สีเขียวสำคัญของจุฬาลงกรณ์ที่มีบทบาทในการเปิดโอกาสให้สาธารณะเข้ามาใช้งานได้อย่างเต็มที่ ช่วยเชื่อมโยงการใช้พื้นที่ระหว่างย่านการค้าและพื้นที่มหาวิทยาลัยอย่างไร้รอยต่อ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของกลุ่มคนหลากหลายชนชั้นในสังคมพหุวัฒนธรรม ตัวอย่างกิจกรรมสำคัญที่จัดขึ้นในช่วงปี 2566-2567 เช่น
CEO Festival วันที่ 2 – 3 กุมภาพันธ์ 2566
สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ (PMCU) ขอเชิญประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงาน CEO Festival ระหว่างวันที่ 2 – 3 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ตั้งแต่เวลา 16.30 น. เป็นต้นไป
โดยกิจกรรมภายในงาน พบกับคอนเสิร์ตโดยศิลปินแนวหน้าของเมืองไทย อาทิ Foolstep, Lipta, Serious Bacon และ สแตมป์ อภิวัชร์ พร้อมกับร้านค้าของเหล่าผู้เข้าแข่งขันจาก Beat the Biz 2022 ซุ้มอาหารและเครื่องดื่มจากหลากหลายแบรนด์ ซุ้มเกม บูธถ่ายภาพ และกิจกรรมอีกมากมาย [ https://www.chula.ac.th/news/103128/ ]
Workshop: “Urban Green Infrastructure” ออกแบบพื้นที่สีเขียวสู่เมืองยั่งยืน ที่อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ วันที่ 16 – 22 มีนาคม 2566
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย เชิญคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูป่าไม้และสถาปนิกออกแบบเมืองจากไม้ (Wood cities) จากประเทศสวีเดนลงพื้นที่แลนด์มาร์กสีเขียวใจกลางกรุงเทพฯ “อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ” ร่วม Workshop: “Urban Green Infrastructure” ออกแบบพื้นที่สีเขียวสู่เมืองยั่งยืน โดยคุณ สัจจพงศ์ เล็กอุทัย Design Director บริษัท LANDPROCESS ร่วมแลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจในการออกเปลี่ยนพื้นที่รกร้างสู่การออกแบบพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ พร้อมกับช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมไปพร้อม ๆ กัน [ https://www.chula.ac.th/news/107781/ ]
Zero Waste Day วันที่ 30 มีนาคม 2566
โครงการ Chula Zero Waste จัดกิจกรรม “การกินข้าวครั้งแรก Zero Waste Day’s Potluck Dinner” ระหว่างน้อง ๆ นิสิตจุฬาฯ กับพี่ ๆ ทีม Chula Zero Waste ที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาพบปะกัน ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ เนื่องในโอกาสที่สหประชาชาติประกาศให้วันที่ 30 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันปลอดขยะสากล (World Zero Waste Day) ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ กิจกรรม Potluck Dinner กินอาหารที่แต่ละคนเอามาแบ่งกัน กิจกรรม Networking Session ทำความรู้จักเพื่อนๆ ที่มีความสนใจคล้ายกัน [ https://www.chula.ac.th/news/110826/ ]
“ดนตรีริมสวน ครั้งที่ 7” โดยนิสิตชมรมดนตรีสากล คณะจิตวิทยา จุฬาฯ วันที่ 11 เมษายน 2567
ขอเชิญผู้ที่มีดนตรีในหัวใจและรักในเสียงเพลงมาร่วมงาน “ดนตรีริมสวน ครั้งที่ 7” โดยนิสิตชมรมดนตรีสากล คณะจิตวิทยา จุฬาฯ (Psyche Music) ฟังเพลงไพเราะสนุกสนาน ท่ามกลางบรรยากาศดีๆ และเรื่องราวที่น่าจดจำ ในวันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน 2567 เวลา 17.30 – 21.00 น. ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย [ https://www.chula.ac.th/news/154827/ ]
คอนเสิร์ต Music Against Drugs 2024 ที่อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก วันที่ 22 มิถุนายน 2567
สำนักงาน ป.ป.ส. เชิญชม ฟรีคอนเสิร์ต Music Against Drugs 2024 เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ประจำปี 2567 พบกับศิลปินชื่อดัง Fellow Fellow, bamm และ Tilly Birds ท่ามกลางบรรยากาศสุดอบอุ่นใจกลางเมือง ในวันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน 2567 เวลา 17.00 – 21.00 น. ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรม Workshop และกิจกรรมอื่น ๆ ให้ร่วมสนุกพร้อมลุ้นรับของรางวัลมากมาย ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมทุกกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย [ https://www.chula.ac.th/news/169524/ ]
“Share for Change” วันที่ 5 ตุลาคม 2566
ขอเชิญร่วมฟังดนตรีเพราะๆ จากนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ นิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดกิจกรรมเปิดหมวก Share for Change เพื่อนำเงินไปบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงราย ในวันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2567 ณ อุทยาน 100ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [ https://www.facebook.com/share/7zB3opUrb3etu5VA/ ]
นอกจากอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวหลักของมหาวิทยาลัย แล้วภายในมหาวิทยาลัยยังมีการจัดการพื้นที่ให้ร่มรื่นด้วยการปลูกต้นจามจุรีและต้นไม้ใหญ่ใน 14 สวน เป็นพื้นที่สีเขียวในรั้วมหาวิทยาลัยที่เปิดให้ชาวจุฬาฯ และประชาชนทั่วไปทุกเพศทุกวัย ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้พักผ่อนหย่อนใจคลายร้อน เพิ่มอากาศที่บริสุทธิ์ ลดมลพิษ ส่งเสริมสุขภาพ สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ที่มา : Chulalongkorn University
- สวนพระเกี้ยวแก้ว (Phra Kieo Kaeo Garden) ชื่อสวนสื่อถึงพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 5 คำนึงถึงการจัดการน้ำฝน และปลูกหญ้าแฝกเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ
- สวนแวววชิระ (Waew Vajira Garden) ชื่อสวนสื่อถึงพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 6 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ สวนออกแบบพื้นดินให้มีลักษณะเหมือนคลื่น เพื่อหน่วงน้ำทำให้น้ำฝนบางส่วนซึมลงดิน
- สวนสถิรไมตรี (Sathiramaitri Garden) มีความยืดหยุ่นในการใช้สอยพื้นที่ ปรับทางเดินเท้าเพื่อความปลอดภัย รักษาต้นไม้เดิมไว้ให้มากที่สุด
- สวนปรีดิขวัญ (Pridikhwan Garden) พื้นที่ทดลองการปลูกไม้ป่าพื้นถิ่น เพื่อสังเกตการณ์อยู่รอดและการเจริญเติบโต ปรับพื้นที่ทางเดินโดยรอบ สามารถออกกำลังกายและนั่งพักผ่อนได้
- สวนปัญญาทวี (Panyathawi Garden) เน้นการปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อสร้างร่มเงาเชื่อมต่อกับลานพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งเปิดพื้นที่ให้บุคลากร นิสิต และประชาชนทั่วไปได้ใช้พื้นที่
- สวนศรีศตพรรษ (Srisattaphat Garden) อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงวันพระราชสมภพครบ 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีสวนเป็นสนามโล่ง โปร่งสบาย ต้นไม้ใหญ่ช่วยสร้างความร่มรื่นให้อาคารโดยรอบรองรับการจัดกิจกรรมของนิสิตและบุคลากร
- สวนจตุจิรวัฒน์ (Chatuchirawat Garden) ปลูกเฉพาะต้นไม้ใหญ่ เพื่อสร้างร่มเงาให้ทางเท้า สนามโล่งเพื่อรองรับกิจกรรมนิสิตในพื้นที่ของอาคารเรียนรวม
- สวนศาลาพระเกี้ยว (Sala Phra Kieo Garden) ลีลาวดีดอกสีชมพู สื่อถึงความเป็นไทย ตามลักษณะของอาคารศาลาพระเกี้ยว และความเป็นจุฬาฯ รักษาต้นไม้ใหญ่เพื่อสร้างร่มเงา และเพิ่มพื้นที่พักผ่อน
- สวนธรรมสถาน (Dhamma Center Garden) สวนปฏิบัติธรรม จัดกิจกรรมทางศาสนาและเป็นพื้นที่ออกกำลังกายสำหรับบุคลากรและบุคคลภายนอก มีไม้ยืนต้นหลากหลายสายพันธุ์เชื่อมโยงกับพระพุทธศาสนา
- สวนภะรตราชา (Pharot Racha Garden) เรือนไม้ 3 ชั้น ใช้เป็นเรือนรับรองต้อนรับอาคันตุกะของอธิการบดี รองรับกิจกรรมต่าง ๆ ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้สถาปัตยกรรมในอดีตล้อมรอบด้วยสนามหญ้าและทางเดินออกกำลังกายลักษณะคดเคี้ยวเพื่อรักษาต้นไม้เดิม
- สวนจุฬานฤมิต (Chula Narumit Garden) พื้นที่สวนเป็นสนามโล่ง เสริมอาคารรับรองให้โดดเด่นซึ่งมีพื้นที่เชื่อมโยงกับสวนภะรตราชาล้อมรอบด้วยพันธุ์ไม้น้อยใหญ่นานาพรรณ สร้างความประทับใจ ชวนมองแก่ผู้พบเห็น
- สวนจามจุรี 1-2-3 (Chamchuri 1-2-3 Garden) สระน้ำและแนวทางเดินเชื่อมพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของกลุ่มอาคารบริหาร สวนระหว่างทางช่วยสร้างร่มเงาและให้ความรู้สึกผ่อนคลาย
- สวน Park@Siam (Park@Siam Garden) สวนเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่เขตการศึกษาและสยามสแควร์ ออกแบบเพื่อเอื้อต่อผู้ใช้ทุกเพศทุกวัย (Universal Design)
- สวนอาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา 6 (Chaloem Rajakumari 60 building Garden) สวนศิลปะและสวนเกษตร (Art and Urban farm) พื้นที่พักผ่อนและทำกิจกรรม และสร้างบรรยากาศสวนป่าและสวนเกษตรในเมือง
ที่มา :
- สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
SDG ที่เกี่ยวข้อง
อื่นๆ
หลักสูตรความรู้และการจัดกิจกรรมรณรงค์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเรื่องของผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน ทั้งในแง่ของการเกิดพิบัติภัยจากสภาพอากาศที่รุนแรงโดยตรง และภัยพิบัติอื่น ๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ประชาคมโลกได้ทุ่มเทความพยายามอย่างมากในการแก้ไข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้
พิพิธภัณฑ์ของจุฬาฯ: แหล่งเรียนรู้โลกกว้างที่ทุกคนเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
ภายในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากจะเป็นที่ตั้งของคณะและสถาบันสำคัญที่ทั้งสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้นิสิตผลิตบัณฑิตให้พร้อมออกไปรับใช้สังคมแล้ว จุฬาฯ ยังได้เปิดพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงวิชาการและการอนุรักษ์ให้นิสิต คณาจารย์ และบุคลากร รวมทั้งบุคคลภายนอกที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ตลอดชีวิต
กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสาธารณะตลอดปีที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ 2565-2566
ด้วยความมุ่งมั่นให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงกิจกรรมเหล่านี้ได้ โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา ความทุพพลภาพ หรือเพศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการจัดโครงการและกิจกรรมสาธารณะด้านวิชาการ การถ่ายทอดความรู้ และการฝึกอบรมสายอาชีพสำหรับประชาชนอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี หลากหลายรูปแบบ ทั้ง onsite และ Online ให้กับทั้งนักศึกษา บุคลากร และบุคคลภายนอกทั่วไปที่สนใจเข้าร่วม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
โครงการและกิจกรรมเพื่อสังคมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการดำเนินกิจกรรมและโครงการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยครอบคลุมประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้อพยพ และผู้ลี้ภัย ภายในชุมชนต่าง ๆ