นวัตกรรมเครื่องบำบัดโรคระบบทางเดินหายใจอัตราการไหลสูงในภาวะฉุกเฉินการระบาด COVID-19
“ใน พ.ศ. 2564 ทั่วโลกเกิดการระบาดของ COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดที่เกิดจากเชื้อกลายพันธุ์อัลฟาและเดลตา ทำให้มีผู้ติดเชื้อยืนยันเกิน 363,000 รายและผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 รายในประเทศไทยถึงเดือนกรกฎาคม อาการรุนแรงของผู้ป่วยนำมาสู่เครื่องช่วยหายใจและเครื่องบำบัดโรคอัตราการไหลสูงขาดแคลนเนื่องจากมีต้องการทั่วโลก ทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภากาชาดไทยจึงได้พัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์บำบัดโรคหายใจแบบอัตราการไหลสูงที่เป็นเป้าหมายสำคัญเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนเป็นปัจจัยสำคัญในการออกแบบและทดสอบทางการแพทย์ การระดมทุนจากสาธารณชนได้สนับสนุนการผลิตและกระจายไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ พร้อมกับวัสดุการอบรม การใช้งานของอุปกรณ์เหล่านี้ได้เป็นที่เรียบร้อยและสามารถรักษาผู้ป่วยรุนแรงเกือบ 7,000 รายจนถึงปัจจุบัน โดยสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ แม้สถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลาย แต่ยังคงมีการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้อยู่อย่างแพร่หลาย สะท้อนถึงความสำเร็จของนวัตกรรมนี้ในระบบการให้บริการด้านสุขภาพ โครงการนี้จึงมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างด้านสุขภาพของประชาชนและระบบการดูแลสุขภาพในประเทศไทย”
ใน พ.ศ. 2564 ทั่วโลกเกิดการระบาดของ COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดที่เกิดจากเชื้อกลายพันธุ์อัลฟาและเดลตาในช่วงเดือนเมษายนจนถึงเดือนกรกฎาคม ทำให้มีผู้ถูกยืนยันการติดเชื้อ 363,029 คน และผู้เสียชีวิต 2,934 คนในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 โดยมีผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการรุนแรงจนเกิดปอดอักเสบและภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลันจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ (ventilator) และเครื่องบำบัดโรคระบบทางเดินหายใจอัตราการไหลสูง (high flow nasal therapy device) เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการขาดแคลนของเครื่องมือทั้งสองชนิด โดยขณะนั้นไม่สามารถจัดซื้อจากผู้ผลิตในต่างประเทศ เนื่องจากเกิดการขาดแคลนทั่วโลก จึงมีความจำเป็นที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภากาชาดไทย ต้องเร่งการดำเนินงานเพื่อออกแบบ ทดสอบ และขออนุมัติผลิตเครื่องบำบัดโรคระบบทางเดินหายใจอัตราการไหลสูง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีเครื่องมือที่มีคุณภาพและจำนวนเพียงพอต่อกลุ่มเป้าหมายหลักอันได้แก่ผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการหนักที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านการแพทย์ของประเทศในการที่จะพึ่งพาตนเองได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤติ
โครงการนี้ได้พัฒนานวัตกรรมเครื่องบำบัดโรคระบบทางเดินหายใจอัตราการไหลสูงในภาวะฉุกเฉินการระบาด COVID-19 ซึ่งไม่เคยมีองค์ความรู้และการผลิตในประเทศไทยมาก่อน เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายหน่วยงาน โดยมีหน่วยงานหลักได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภากาชาดไทย คณะกรรมการอาหารและยา บริษัท อินทรอนิคส์ จำกัด และบริษัท ไทยเบฟ จำกัด ทั้งในการออกแบบ การทดสอบทางวิศวกรรมและทางการแพทย์ การสอบเทียบมาตรฐานทั้งความปลอดภัยทางไฟฟ้า ความแม่นยำและถูกต้องของเครื่องมือ การขอการอนุมัติของคณะกรรมการจริยธรรมในคน การทดสอบผลการรักษากับผู้ป่วยโควิด-19 (equivalent test) พบว่าได้ผลเท่าเทียมกับเครื่องที่ผลิตและนำเข้าจากต่างประเทศ การระดมทุนจากภาคประชาชน (โดยประมาณ 50 ล้านบาท) นำไปสู่การผลิตเครื่องมือจำนวน 500 เครื่อง และแจกจ่ายไปสู่ 183 โรงพยาบาลใน 42 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ อีกทั้งการออกแบบพัฒนานวัตกรรมได้คำนึงถึงการใช้อุปกรณ์ที่จัดหาได้ในประเทศและในภาวะฉุกเฉิน สามารถขนส่งกระจายออกไปทั่วประเทศ ทำให้โรงพยาบาลต่าง ๆ สามารถประกอบและใช้งานได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมีการจัดทำคู่มือ วีดีโอและจัดอบรมให้ความรู้ในการใช้เครื่องแก่แพทย์ และพยาบาลผู้ใช้เครื่อง การสร้างเครือข่าย line เพื่อสื่อสารแก้ไขปัญหาและติดตามผลการใช้เครื่องอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
โดยช่วงเริ่มพัฒนาโครงการ พบว่าผู้ป่วยมีอัตราตายสูงที่สุด ระหว่าง 257-260 คนต่อวัน ในช่วง 24-31 สิงหาคม 2021 เมื่อเริ่มการแจกจ่ายเมื่อ 8 ตุลาคม 2021 ยังมีอัตราเสียชีวิตรายวันที่ 116 คน จนกระทั้งในต้นเดือนตุลาคม 2022 อัตราตายเฉลี่ย 7 วันลดต่ำกว่า 20 คนต่อวัน นอกจากนี้ระหว่างการดำเนินโครงการ มีจำนวนผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการหนักได้รับบริการ ไม่น้อยกว่า 5,000 รายทั่วประเทศ
แม้ปัจจุบันสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทยจะคลี่คลาย แต่โครงการยังคงติดตามการใช้งานของเครื่องบำบัดโรคระบบทางเดินหายใจอัตราการไหลสูงตลอดปี พ.ศ. 2565 โดยพบว่า ยังคงมีโรงพยาบาลถึงร้อยละ 80 ใช้เครื่องตลอด 1 ปี ในการรักษาผู้ป่วยมากกว่า 2,000 คน ในด้านของความเพียงพอของอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับเครื่องบำบัดโรคระบบทางเดินหายใจอัตราการไหลสูง พบว่า มีโรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์พอเพียงร้อยละ 37 และสามารถจัดซื้อเพิ่มเองได้ถึงร้อยละ 63 สะท้อนให้เห็นว่านวัตกรรมนี้สามารถนำไปปรับใช้ในโรงพยาบาลของแต่ละท้องที่ได้เป็นอย่างดี
นับได้ว่านวัตกรรมเครื่องบำบัดโรคระบบทางเดินหายใจอัตราการไหลสูงเป็นนวัตกรรมการบริการแบบใหม่ ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานใดเคยดำเนินการมาก่อน เป็นผลงานที่นำไปใช้ได้จริง เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา COVID-19 ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยและมีผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่สามารถตรวจสอบได้
ที่มา
- คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สภากาชาดไทย
รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:
อื่นๆ
ความร่วมมือในการสำรวจระดับนานาชาติ “ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมและการรับรู้ผลกระทบจากโรคโคโรน่าไวรัส 2019 (โควิด-19)”
วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ ได้รับความไว้วางใจและร่วมมือกับสมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก (APRU) ในการสำรวจระดับนานาชาติ “ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมและการรับรู้ผลกระทบจากโรคโควิด-19 (COVID-19)” โดยมุ่งเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและประเมินผลกระทบของโรคโควิด-19 ซึ่งมุ่งหวังที่จะช่วยในการพัฒนาแนวทางในการจัดการกับการระบาดของโรคโควิด-19 และเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดการต่อโรคระบาดที่คล้าย ๆ กัน ในอนาคต
สองนวัตกรรมคืนชีวิตใหม่ให้ปะการังไทย ผสมเทียมสำเร็จครั้งแรกของโลก พร้อมชูเครื่องพิมพ์ 3 มิติสร้างปะการังเทียม
ปัญหาการเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วของระบบนิเวศของมหาสมุทรถือเป็นภาวะวิกฤติการณ์ที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลกต่างให้ความสนใจอย่างมากกับความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ในระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งได้รับผลกระทบจากทางตรงและทางอ้อมจากความผิดปกติของสภาพอากาศ สิ่งมีชีวิตจำนวนมากใกล้จะสูญพันธุ์ซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งทำให้จำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว “ปะการัง” เป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตเราเหล่านั้น
ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมและการรับรู้ผลกระทบจากโรคโคโรน่าไวรัส 2019 (โควิด-19): การสำรวจระดับนานาชาติ
การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ทั่วโลกยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีวัคซีนแล้ว แต่ไวรัสก็ยังกลายพันธุ์ได้อยู่ และยังส่งผลกระทบต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก ดังนั้นการหาข้อมูลหรือการเก็บข้อมูลที่จะเก็บประเด็นผลกระทบต่างๆจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลในวงกว้างระดับภูมิภาค จึงเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในภาคีเครือขายของ Association of Pacific Rim Universities (APRU) ในหน่วย Global Health Program ซึ่งมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกทั้งหมด 60 มหาวิทยาลัย จาก 19 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงได้มีการทำโครงการสำรวจข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมและการรับรู้ผลกระทบจากโรคโคโรน่าไวรัส 2019 (โควิด-19) ขึ้น
บางโพลีฟวิ่งแล็บ: โครงการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ผ่านการวางแผนการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนถนนสายไม้บางโพ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการวิจัย Bang Pho Living Lab ได้รับทุนสนับสนุนจาก ศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้ของชุมชนถนนสายไม้ ย่านบางโพให้กลับมาเป็นที่รู้จักและส่งเสริมการสืบทอดภูมิปัญญาของชุมชน ผ่านการสร้างพื้นที่ร่วมทดลองปฏิบัติการจริง โดยนิสิต 266 คน