จังหวัดชลบุรีมั่นใจ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าเกาะสีชังอุ้มประมงชายฝั่งยั่งยืนทุกมิติ
Photo source: The Sharpener
เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วย นางสาวประภัสรา ศรีทอง นายกเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรีนำคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ธนาคารสัตว์ทะเลเกาะสีชัง โดยชุมชนเพื่อชุมชนยั่งยืน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และธนาคารปูม้า บนเกาะสีชัง ที่ได้ริเริ่มและบริหารจัดการโดยสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลและศูนย์ฝึกนิสิตจุฬาฯ ตั้งอยู่บนเกาะสีชังแห่งนี้เพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศตลอดจนทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับชุมชนมาอย่างต่อเนื่องจนสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการให้กับชาวประมงในพื้นที่โดยรอบได้กว่า 3,500 ราย ผ่านศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้
นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า “ด้วยการลงพื้นที่มาคลุกคลีกับชุมชนประมงชายฝั่งเกาะสีชังอย่างใกล้ชิดทำให้ภารกิจช่วยฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ และได้พิสูจน์ทราบแล้วว่าสามารถสร้างรายได้คืนกลับไปให้พี่น้องชาวประมงในเขตจังหวัดชลบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงได้จริง ทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อชาวบ้านอยู่ดีกินดี ปัญหาสังคมต่าง ๆ ก็จะน้อยลง เพราะเมื่อเขามีอาชีพ มีงานทำในท้องถิ่นของตน ปัญหาการย้ายถิ่นฐาน ออกไปหางานทำในเมืองก็ลดลงตามไปด้วย ครอบครัวก็อบอุ่น ซึ่งจังหวัดชลบุรีเองก็พร้อมให้การสนับสนุนชุมชนและสังคม ผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติต่อไป”
นอกจากนี้ ศูนย์เรียนรู้และธนาคารปูม้าแห่งนี้ยังได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดธนาคารปูม้าชุมชนเพื่อความยั่งยืนในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) มาแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิลนาจ ชัยธนาวิสุทธิ์ อาจารย์ที่ปรึกษาประจำธนาคารปูม้า ในฐานะหัวหน้าโครงการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทย เปิดเผยความมุ่งหวังตั้งใจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในภารกิจนี้ไว้ว่า
“เรามีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์ปูม้าแบบฟาร์มบนบก ช่วยเพิ่มอัตราการรอดของลูกพันธุ์ปูม้าจากการสลัดไข่ของแม่ปูม้า ซึ่งกลุ่มชาวประมงเรือเล็กหรือชาวประมงพื้นบ้านจะนำแม่ปูม้าที่มีไข่ติดกระดองมาฝากไว้ที่ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบนบกเพื่อให้ไข่ฟักตัวเป็นลูกปูม้าวัยอ่อนแทนที่จะนำออกขายทันที นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาพ่อแม่พันธุ์ปูม้าให้สามารถผลิตตัวอ่อนที่แข็งแรงเหมาะสมต่อการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติช่วยเพิ่มสมดุลให้ประชากรปูม้าในระบบนิเวศได้อีกทางหนึ่ง โดยมีลูกปูม้าที่ฟักตัวจากศูนย์ฯ และได้รับการปล่อยลงสู่ทะเลแล้วนับพันล้านตัว เพิ่มอัตราการรอดชีวิตของลูกปูม้าที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติจากการดำเนินโครงการนี้ได้ถึงร้อยละ 60 และที่มากไปกว่านั้น ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารปูม้าบนบกแห่งนี้ยังทำหน้าที่สำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่กลุ่มเป้าหมายหลักของเราคือลงไปในระดับชุมชนฐานรากและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอำเภอเกาะสีชัง นับจนถึงปัจจุบันบนเกาะสีชังมีธนาคารปูม้าเกิดขึ้นแล้วจำนวน 22 แห่ง เรายังมีธนาคารปูม้าเกิดขึ้นตามมาในพื้นที่อำเภอใกล้เคียงภายในจังหวัดชลบุรีอีกจำนวน 3 แห่ง
และได้ขยายผลไปยังชุมชนในพื้นที่ท้องทะเลไทยทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน อาทิ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านปากคลองท่าทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านเกาะมุก (อ่าวหัวนอน) จังหวัดตรัง ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านเกาะมุก (อ่าวมะขาม) จังหวัดตรัง เป็นต้น ซึ่งเรานับเป็นเครือข่ายและใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เรื่องประมงปูม้าให้กับผู้ที่สนใจรวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวสายอนุรักษ์ นอกจากนี้ เรายังได้สนับสนุนและชักชวนให้คนบนเกาะสีชังเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบนบกด้วยการร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ เก็บข้อมูล และติดตามสถานการณ์การทำประมงปูม้าใกล้ตัวพวกเขาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในพื้นที่ระหว่างกันอีกด้วย”
กิจกรรมการขยายผลธนาคารปูม้าสู่ทะเลไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงถือเป็นต้นแบบกลไกการบูรณาการใช้ประโยชน์จากการวิจัยนวัตกรรมแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศคือการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของผลผลิตปูม้าไทยได้สำเร็จ และยังได้สร้างแนวการบริหารจัดการทรัพยากรของชาติจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนได้อย่างแท้จริง
ที่มา
- สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
SDG ที่เกี่ยวข้อง
อื่นๆ
จุฬาฯ สร้างยุวมัคคุเทศก์ชาวมอแกน สร้างหลักสูตรต่อลมหายใจวิถีชาวเลอันดามัน
ชาวเล เป็น 1 ใน 56 กลุ่มชาติพันธุ์ของไทย ถือเป็นชาวน้ำที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต สตูล มีวิถีพึ่งธรรมชาติ จับปลาทำประมงในท้องทะเลเพื่อยังชีพ เชี่ยวชาญการเดินเรือจากการดูทิศทางโดยอาศัยดวงดาวมานานนับร้อยปี
อนุรักษ์ปลากระเบนเจ้าพระยา อนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่กลอง
นักวิชาการต่างยกให้ปลากระเบนเจ้าพระยาเป็นสิ่งมีชีวิตบ่งชี้ความไม่สมดุลของระบบนิเวศน้ำจืดด้วยคุณสมบัติของปลาชนิดนี้ที่มีความไวต่อสารพิษและสภาพการเปลี่ยนแปลงของถิ่นที่อยู่อาศัย
CU-PIG FARMING: โรงเรียนสาธิตการเลี้ยงสุกร เปิดทางเลือกใหม่ของเกษตรกรในจังหวัดน่าน
จังหวัดน่านประสบปัญหาผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในจังหวัด ส่งผลให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรจากที่อื่น โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสุกร เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนทางด้านอาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงริเริ่มโครงการเพื่อเพิ่มผลผลิตเนื้อสุกร เพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนของเกษตรกรในท้องถิ่น
เสวนา SDG 14 Life Below Water
จุฬาฯ จัดการเสวนาในซีรีส์ SDG14 ชีวิตในน้ำ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิจัยทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าร่วมการเสวนา และมีผู้เข้าร่วมการเสวนาประมาณกว่า 200 คน