จุฬาฯ สร้างระบบส่งเสริมสุขภาพช่องปากให้กลุ่มเปราะบางชายขอบด้วยระบบ Digital Health Platform
องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ประกาศให้โรคทางช่องปากเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประชากรโลก สถานการณ์โรคฟันผุที่ยังไม่ได้รักษา (Untreated Dental Caries) ในชุดฟันแท้เป็นโรคที่มีพบมากที่สุดในโลก ร้อยละ 35 ของประชากรโลก ในขณะที่โรคปริทันต์อักเสบระดับรุนแรงที่จะนำไปสู่การสูญเสียฟันนั้นยังมีอีกร้อยละ 11 ของประชากรโลก และอัตราการเกิดมะเร็งช่องปากยังเพิ่มขึ้นอย่างคงที่ ซึ่งแน่นอนว่าโรคทางช่องปากอย่างโรคฟันผุยังคงเป็นภัยคุกคามคุณภาพชีวิตของประชากรโลกมากที่สุด สำหรับสถานการณ์โรคทางช่องปากในประเทศไทยนั้นพบว่ากว่าร้อยละ 50 ของเด็กไทยมีปัญหาฟันผุ ในขณะที่วัยผู้ใหญ่เองยังต้องประสบปัญหาการสูญเสียฟัน โรคปริทันต์ และเหงือกอักเสบอยู่อย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่าในปี 2560 การเข้าถึงบริการทันตกรรมในประเทศไทยยังมีสถิติอยู่ร้อยละ 9.6 เท่านั้น คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการรักษาสูงถึง 20,638 ล้านบาท ซึ่งประชาชนในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 56 ต้องจ่ายค่าบริการด้วยตนเอง (out of pocket) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับบริการทางการแพทย์อื่น ๆ ทั่วไปที่ผู้ป่วยต้องจ่ายเองอยู่ในสัดส่วนเพียงร้อยละ 9 เท่านั้น ซึ่งเป็นหลักฐานยืนว่าประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางทันตกรรมของประชาชน และโรคในช่องปากยังเป็นภัยคุกคามอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเขตชนบทยิ่งมีแนวโน้มเกิดโรคทางช่องปากเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสวนทางกับสถานการณ์กรุงเทพมหานครและเขตเมืองที่มีแนวโน้มลดลง
ด้วยเหตุนี้ การรักษาโรคทางช่องปากจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนช่วยบรรเทาอาการและป้องกันการลุกลามของโรคที่ยังสามารถนำไปสู่การสูญเสียฟันถาวร และเพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด การสร้างเสริมสุขภาพช่องปากจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะลดการเกิดโรคใหม่ เพราะการมุ่งรักษาเพียงอย่างเดียวนั้นไม่อาจเพียงพอและมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงมองหาแนวทางพัฒนาระบบการให้บริการทางทันตกรรมในทิศทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีอุปสรรคทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะทันตแพทยศาสตร์ จึงได้พัฒนาระบบ Teledentistry เพื่อเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลการให้บริการทางทันตกรรมซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (ทุน กทปส.) ภายใต้โครงการพัฒนาการให้บริการและการรักษาทางทันตกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลบนเครือข่ายดิจิตอลความเร็วสูง
Teledentistry เป็นระบบและกระบวนการสาธารณสุขทางไกล (telehealth) ที่ให้การรักษาทางทันตกรรม ดังนี้
- Synchronous (Live, Realtime) ระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้บริการทางทันตกรรมผ่านทางเทคโนโลยี audiovisual telecommunication
- Asynchronous เก็บข้อมูลในระบบแล้วส่งต่อ เช่นการลงข้อมูลทั่วไป รูปถ่ายในช่องปาก ภาพรังสีหรือรอยพิมพ์ฟันแบบดิจิดอล (digital impression) ของผู้ป่วยในระบบ แล้วส่งต่อไปยังทันตแพทย์เพื่อประเมินสุขภาวะช่องปากของผู้ป่วย
- Remote patient monitoring ใช้ระบบให้บริการพื้นที่ห่างไกล
- Mobile health พัฒนาอุปกรณ์สื่อสารที่ติดตัวผู้ป่วย ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ทางทันตสุขศึกษาได้สะดวก
สำหรับความก้าวหน้าของโครงการได้นำไปใช้แล้วกับกลุ่มเปราะบางทั้งกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสในชุมชน ผู้ต้องขังในเรือนจำ และกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตชนบทจังหวัดน่าน ได้แก่ ชนเผ่าไทลื้อ ชนเผ่าเมี่ยน ชนเผ่าม้ง ชนเผ่าขมุ ชนเผ่าถิ่น ชนเผ่าก่อ ชนเผ่าอิ้วเมี่ยน (เย้า) ชนเผ่าเมี่ยน ชนเผ่ามลาบรี และ ชนเผ่าลัวะ รวมแล้วกว่า 100,000 ราย ผ่านการดำเนินของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่คอยคัดกรองปัญหาในช่องปากเบื้องต้น จากการถ่ายภาพนิ่งและวิดิโอร่วมกับกล้องถ่ายภาพในช่องปาก (Intraoral Camera) ให้คำแนะนำวิธีดูแลช่องปาก โดย อสม. ผู้ดูแลคนไข้ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และการส่งต่อเพื่อรับบริการในขั้นต่อไป นอกจากนี้ ยังสามารถให้บริการใส่ฟันเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลร่วมกับการสแกนในช่องปาก (Intraoral Scanner) ซึ่งได้รักษากับคนไข้ไปแล้ว 1,000 ราย
นอกจากนี้ ทีมผู้ดำเนินโครงการยังจัดอบรมพัฒนาทักษะบุคลากรทางสาธารณสุข ทันตแพทย์ทันตาภิบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดน่าน สระบุรี ศรีสะเกษ และปทุมธานี ร่วมกับนิสิตอาสาสมัครให้บริการด้วยระบบการให้บริการทางทันตกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ เทคโนโลยีกล้องถ่ายภาพในช่องปากและเทคโนโลยีการสแกนในช่องปาก 2 ครั้งต่อจังหวัดต่อปี ให้ผู้ป่วยอีก 300 ราย และยังสร้าง Application ระบบการให้คำปรึกษาทางไกล (Distance Learning) ให้กับทันตแพทย์ในต่างจังหวัดแบบ real time โดยได้รับความพึงพอใจจากประชาชนและบุคลากรทางทันตกรรมถึงกว่าร้อยละ 80 อีกด้วย
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ คือการเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงการรักษาพยาบาลในช่องปากของกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีความจำเป็นต้องรับบริการทางทันตกรรม เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการให้บริการ และยังได้พัฒนาทักษะทางดิจิทัลของทันตบุคลากรทางสาธารณสุขและยังช่วยอำนวยความสะดวกให้บุคลากรและประชาชนเข้าถึงข้อมูลทางทันตสุขศึกษาในระดับฐานรากอีกด้วย
ที่มา
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อื่นๆ
พิพิธภัณฑ์ของจุฬาฯ: แหล่งเรียนรู้โลกกว้างที่ทุกคนเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
ภายในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากจะเป็นที่ตั้งของคณะและสถาบันสำคัญที่ทั้งสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้นิสิตผลิตบัณฑิตให้พร้อมออกไปรับใช้สังคมแล้ว จุฬาฯ ยังได้เปิดพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงวิชาการและการอนุรักษ์ให้นิสิต คณาจารย์ และบุคลากร รวมทั้งบุคคลภายนอกที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ตลอดชีวิต
อนุรักษ์ปลากระเบนเจ้าพระยา อนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่กลอง
นักวิชาการต่างยกให้ปลากระเบนเจ้าพระยาเป็นสิ่งมีชีวิตบ่งชี้ความไม่สมดุลของระบบนิเวศน้ำจืดด้วยคุณสมบัติของปลาชนิดนี้ที่มีความไวต่อสารพิษและสภาพการเปลี่ยนแปลงของถิ่นที่อยู่อาศัย
พิพิธภัณฑ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: แหล่งเรียนรู้โลกกว้างที่ทุกคนเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
ภายในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากจะเป็นที่ตั้งของคณะและสถาบันสำคัญที่ทั้งสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้นิสิตผลิตบัณฑิตให้พร้อมออกไปรับใช้สังคมแล้ว จุฬาฯ ยังได้เปิดพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงวิชาการและการอนุรักษ์ให้นิสิต คณาจารย์ และบุคลากร รวมทั้งบุคคลภายนอกที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) ศึกษาหาความรู้เสริมเพิ่มเติมทักษะต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ได้อย่างเพลิดเพลินตามอัธยาศัยในแบบสรรสาระ (Edutainment) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
UDDC ฟื้นฟูเมือง เพื่อความยั่งยืนและสุขภาวะของประชาชน
ฟื้นฟูย่านเมืองเก่าสู่กระบวนการพัฒนาแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างยั่งยืน สร้างการใช้ประโยชน์พื้นที่เมืองเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างมีคุณภาพ