กรณีศึกษา

เปิดพื้นที่สีเขียวของจุฬาฯ กับการสร้างสุขภาพที่ดีให้กับชุมชน

เมื่อก้าวเข้ามาในย่านจุฬา สวนหลวง-สามย่าน จะสัมผัสได้ถึงพื้นที่สีเขียวภายในย่านที่มีขนาดใหญ่และจะขยายขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรามีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองให้เป็น “GREEN & CLEAN CITY” โดยมีหลากหลายนโยบายที่จะช่วยพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมรอบด้านอย่างยั่งยืน

เราเชื่อว่าการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมืองในปัจจุบัน คือการได้ใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและพื้นที่สีเขียว จึงมีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวสำหรับทุกคนในชุมชน ให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ และต้องการสร้างอากาศบริสุทธิ์ โดยมีการเพิ่มสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยจากสถิติในปี 2563 พื้นที่สีเขียวของจุฬาฯ และพื้นที่โดยรอบของย่าน มีพื้นที่สีเขียวในอัตราส่วน 1 คน ต่อ 11 ตร.ม. ซึ่งมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานของ WHO ที่กำหนดให้มีพื้นที่สีเขียวในอัตรา 1 คน ต่อ 9 ตร.ม. นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มจำนวนต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ (BIG TREE) ในพื้นที่ ให้มีมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2563 พื้นที่จุฬาฯ มีต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมากกว่า 1,000 ต้น และจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเราได้เล็งเห็นความสำคัญต่อระบบนิเวศของต้นไม้ใหญ่ ซึ่งนอกจากจะให้ร่มเงาแก่พื้นที่ได้เป็นอย่างมากแล้ว ต้นไม้ใหญ่ยังสามารถที่จะเก็บกักคาร์บอนได้ในปริมาณมหาศาลเมื่อเทียบกับต้นไม้ขนาดเล็ก จึงมีส่วนช่วยในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและลดโลกร้อนได้เป็นอย่างดี จึงไม่แปลกที่เมื่อก้าวเข้ามาในพื้นที่ภายในย่านของจุฬาฯ แล้วรู้สึกได้ถึงพื้นที่สีเขียวอันร่มรื่น

หนึ่งในพื้นที่ที่นับว่าเป็นพื้นที่สีเขียวที่มีการใช้งานจากสาธารณะมาเป็นเวลาช้านาน คือ สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ครอบครอง แต่เปิดโอกาสให้หน่วยงานราชการหลายหน่วยงานได้มีโอกาสยืมใช้พื้นที่ เพื่อเป็นที่ตั้งของหน่วยราชการ สำนักงาน สมาคม หน่วยงานสาธารณะด้านกีฬาและสุขภาพ

ทั้งยังเป็นพื้นที่สำคัญของกรุงเทพมหานครที่เป็นที่ตั้งของสนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งทั้งอดีต ปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต จะยังคงเป็นพื้นที่สาธารณะที่ถูกใช้โดยสาธารณชนอย่างหลากหลาย ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในรูปแบบองค์กร และส่วนบุคคล ทั้งในลักษณะที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

โดยนับได้ว่า สนามศุภชลาศัย  สนามกีฬาแห่งชาติ เป็นพื้นที่โล่งขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานคร ที่ประกอบด้วยพื้นที่ที่มีความหลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการในการใช้พื้นที่โล่งและพื้นที่สาธารณะภายในเมือง ทั้งพื้นที่สีเขียว ลานโล่ง สนามกีฬา อาคารสาธารณะขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถให้บริการทั้งกิจกรรมด้านการกีฬาและกิจกรรมนันทนาการหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่มีความต้องการในการใช้พื้นที่โล่ง พื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองในย่านการค้าและชุมชนพักอาศัยหนาแน่นโดยรอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้กรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ และการควบคุมดูแลโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งส่วนของสนามเทพหัสดิน พื้นที่เดินวิ่งโดยรอบ ลานกิจกรรม และพื้นที่ว่างใช้งานหรือพื้นที่จอดรถภายในบริเวณสนามศุภชลาศัย

ที่มา:

สำนักงานจัดการทรัพย์สิน  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

อื่นๆ

โรงเรียนสาธิตการเลี้ยงสุกร

หากจะพยายามอธิบายความหมายของคำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือคำว่าความมั่นคงทางอาหารให้กับชาวบ้านที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ก็อาจจะไม่สามารถจะเข้าใจได้เลยว่ามีความสำคัญอย่างไร จนกระทั่งได้รับมอบลูกหมูให้หนึ่งคู่

เทคโนโลยีราไมคอร์ไรซาเพื่อการปลูกและฟื้นฟูป่าอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน

จากการสำรวจในปี 2564 พบว่ามีพื้นป่าเพียง 31.59% ของพื้นที่ทั้งหมดในประเทศไทย สาเหตุหลักของการลดลงของผืนป่าเกิดจาก ไฟป่า การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการเกษตรและการลักลอบตัดไม้ นอกจากนี้พื้นป่าที่เหลืออยู่ก็อยู่ในสภาพวิกฤต สภาพอากาศที่แห้งแล้งหรือการลักลอบเผาป่าอย่างผิดกฎหมาย ทำให้เกิดไฟป่า ที่นอกจากจะทำให้ผืนป่าลดลงแล้ว การเกิดไฟป่ายังทำลายสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น

การพัฒนาเครือข่ายชุมชนเกษตรด้วยระบบเกษตรแบบยั่งยืน

จุฬาฯ จัดทำโครงการ “การพัฒนาเครือข่ายชุมชนเกษตรด้วยระบบเกษตรแบบยั่งยืน” โครงการนี้ส่งเสริมการสร้างทักษะและความรู้ด้านระบบการผลิตและแนวทางการตลาดที่จะผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายกลุ่มเกษตรกร