จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับภารกิจสู้วิกฤตน้ำมันรั่วไหลพิทักษ์ท้องทะเลไทย
Photo by Daniel Olah on Unsplash
ปัญหาระบบนิเวศชายฝั่งทะเลไทยได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของน้ำมันดิบหลากหลายรูปแบบยังคงได้รับความสนใจจากประชาชนในวงกว้างทุกครั้งที่ถูกนำเสนอโดยสื่อมวลชน เพราะในทุกปี ผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้ชายฝั่งหรือบริเวณป่าชายเลนในประเทศไทยจะพบคราบน้ำมันและก้อนน้ำมันบนชายฝั่งซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิต และกระทบการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ที่ติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนของน้ำมันในทะเล ตลอดแนวชายฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน นับตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน พบคราบน้ำมันที่ไม่ทราบที่มารวมทั้งสิ้น 44 ครั้ง โดยพบในพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันออกจาก จ.ตราด ถึง จ.ชลบุรี ถึง 30 ครั้ง อีกทั้งข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษยังพบว่าเฉพาะปี 2560 และ 2561 พบคราบน้ำมันและคราบน้ำมันดินบนเกาะต่าง ๆ มากกว่า 10 ครั้ง ในบริเวณเกาะต่าง ๆ เช่น เกาะสมุย เกาะพะงัน ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชายหาดทุ่งซาง จ.ชุมพร ชายหาดทุ่งประดู่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และชายหาดแม่รำพึง จ.ระยอง ซึ่งยังไม่สามารถสืบหาแหล่งที่มาของก้อนน้ำมันและคราบเหล่านี้ได้ แหล่งที่มาของคราบน้ำมันและก้อนน้ำมันดินจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบเพื่อหาผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายทางระบบนิเวศ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ดำเนินโครงการระบุลายนิ้วมือ ของคราบน้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มวิเคราะห์น้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อระบุแหล่งที่มาของน้ำมันดิบ ภายหลังเหตุการณ์การรั่วไหลของน้ำมันในอ่าวไทย
รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จงผาติวุฒิ อาจารย์ประจำวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี กล่าวว่า “เราใช้มาตรฐานสากลศึกษาและพัฒนากระบวนการเพื่อระบุที่แหล่งที่มาของคราบน้ำมัน โดยวิเคราะห์ไบโอมาร์คเกอร์ซึ่งเปรียบเสมือนลายนิ้วมือของน้ำมัน ซึ่งคาดเดาชนิดและแหล่งที่มาได้ นอกจากนี้ คราบน้ำมันเหล่านี้ที่ลอยอยู่ในน้ำจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ลดปริมาณออกซิเจนในน้ำ ปิดกันการสังเคราะห์แสงในแพลงก์ตอน สาหร่ายทะเล และพืชทะเลอื่น ๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสภาวะการย่อยสลายของแบคทีเรียในน้ำ ซึ่งล้วนแต่มีผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น เช่น ปลา สัตว์หน้าดิน ปะการัง รวมถึงนกน้ำด้วยซึ่งทำให้เกิดการสะสมสารพิษในห่วงโซ่อาหารที่เริ่มตั้งแต่แพลงก์ตอนจนถึงสัตว์ทะเลจนและถึงผู้บริโภคสุดท้ายคือมนุษย์ นอกจากนั้นก็ยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ประมง และการเพราะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วย”
โดยในก้อนน้ำมันนั้นมีสารไบโอมาร์กเกอร์เป็นสารที่คงทนไม่ย่อยสลายในสภาพแวดล้อมเช่นในทะเล ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้โดยใช้เครื่องแก๊สโครมาโทกราฟี-แมสสเปกโตรมิเตอร์แบบ 2 มิติ (GCxGC TOFMS) ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวที่สามารถแยกสารไบโอมาร์กเกอร์ที่มีองค์ประกอบซับซ้อนได้และให้ผลที่ถูกต้องแม่นยำ ดังนั้น การวิเคราะห์ตัวอย่างเพื่อระบุแหล่งที่มาของก้อนน้ำมันหรือน้ำมันดิบอย่างมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลลายนิ้วมือและลักษณะอื่น ๆ ของน้ำมันหลากหลายประเภทต่างมาใช้เปรียบเทียบ
และเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยพร้อมพิสูจน์แหล่งที่มาของคราบน้ำมัน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 จึงได้เกิดข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่องการพัฒนาฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยกับทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนร่วมเป็นภาคีเครือข่าย 10 แห่ง ประกอบด้วย กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในส่วนของกองทัพเรือ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งได้กำหนดบทบาทสำคัญให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำหน้าที่วิเคราะห์ลายนิ้วมือน้ำมัน และจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ในฐานะที่มีความเชี่ยวชาญและมีเทคโนโลยีการวิเคราะห์โดยตรง
ทั้งนี้ ข้อมูลจะถูกรวบรวมและใช้โดยการเรียนรู้ของเครื่องสำหรับการวิเคราะห์ 2D-GC ของน้ำมัน น้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยจะถูกแยกประเภทโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบการเรียนรู้เชิงลึก (Deep learning) กระบวนการระบุตัวตนนี้จะช่วยแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเชื่อมโยงการรั่วไหลไปยังผู้กระทำผิดในกรณีที่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย เพราะเมื่อเกิดเหตุขึ้น คราบน้ำมันจะกระจายตัวออกไปซึ่งโดยร้อยละ 80 ไม่ทราบที่มาว่ามาจากไหน
ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ 99 แหล่งทั่วโลก และมีบริษัทน้ำมัน 23 แห่งที่ทำธุรกิจนำเข้า ตัวอย่างน้ำมันของบริษัทเหล่านี้ถูกรวบรวมและวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างจากคราบน้ำมันหรือก้อนน้ำมันเพื่อระบุตัวตน หาตัวมาร์คเกอร์ (MARKERS) ซึ่งเป็นสารเคมีหรือกลุ่มสารเคมีที่มีลักษณะเฉพาะของซากสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการทับถมก่อกำเนิดเป็นปิโตรเลียม ซึ่งลักษณะเฉพาะเจาะจงในแต่ละแหล่งปิโตรเลียมนี้คือ “Oil Finger Print” ลายนิ้วมือที่จะสืบหาต้นตอต่อไป
ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางวิชาการในการจัดการมลพิษเนื่องจากน้ำมันและภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมน้ำมัน จำนวน 220 คน จากภาคีเครือข่ายทั้ง 10 แห่งภายใต้ MOU นี้ เพื่ออัพเดทสถานการณ์และองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการการเดินทางของน้ำมัน แหล่งที่มาของน้ำมัน การนำไปใช้ประโยชน์ การป้องกันการรั่วไหล ตลอดจนการแก้ไขปัญหาเมื่อมีการรั่วไหล โดยให้คณาจารย์ประจำวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีประสบการณ์และติดตามสถานการณ์น้ำมันรั่วไหลในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้และฝึกอบรมแนวทางการประยุกต์ใช้คู่มือการเก็บและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำมัน คราบน้ำมัน และก้อนน้ำมันดิน
ดังนั้น การมีฐานข้อมูล “Oil Finger Print” ที่เก็บรวบรวมโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นจึงได้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นจากทุกภาคส่วนและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการธุรกิจน้ำมันจัดการน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องดำเนินธุรกิจอย่างรัดกุม นอกจากนี้ แผนการป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำของการปนเปื้อนของน้ำมันในพื้นที่อ่อนไหวยังจะช่วยบรรเทาผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยให้ข้อกฎหมายหรือนโยบายต่าง ๆ ถูกพิจารณาและแก้ไขให้มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งช่วยลดข้อพิพาทจากการกล่าวอ้างหรือกล่าวโทษต่อผู้อื่นและหาผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
ที่มา
วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
SDG ที่เกี่ยวข้อง
อื่นๆ
การดำเนิการตามแนวพระราชดำริ: ส่งต่อความหลากหลายทางระบบนิเวศสู่คนรุ่นหลัง
“การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไม่ได้หมายถึงการเก็บเอาไว้ไม่ให้ใครเข้าถึง แต่หมายถึงการรักษาไว้อย่างยั่งยืนเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม”
รื้อถอนแท่นปิโตรเลียมกลางอ่าวไทยอย่างไร ให้ความหลากหลายทางชีวภาพในท้องทะเลไทยยังคงอยู่
เร่งสร้างองค์ความรู้ให้เพียงพอและพร้อมใช้นำมาบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลนอกชายฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะในกระบวนการวางแผนหาแนวทางที่เหมาะสม และตัดสินใจเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับกิจกรรมการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมในอ่าวไทย
เปิดเบื้องหลังความสำเร็จวัคซีน mRNA “CU-Cov19”
โครงการวิจัยวัคซีนโควิด-19 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อความมั่นคงและสวัสดิภาพของมวลมนุษย์ชาติ
นวัตกรรมหุ่นยนต์เพื่อผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง
ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้นเรื่อย ๆ ราว 500,000 ราย โดยในแต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่มากกว่า 300,000 ราย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าร้อยละ 70 จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูหลังเข้ารับการรักษา ส่งผลค่ารักษาพยาบาลที่หากต้องใช้รักษาผู้ป่วยเหล่านี้สูงกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี และยังพบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอีกจำนวนมากไม่มีสิทธิ์เข้าถึงการรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพ