กรณีศึกษา

จาก “ละอ่อนสา-รักษ์ป่า-น่าน” ถึง “ละอ่อนน่านเรียน-รู้-รักษ์ป่า” ใช้ Google Earth Pro เพื่ออนุรักษ์ป่าชุมชน

ด้วยเหตุความเสื่อมโทรมของป่าน่าน ทำให้เกิดโอกาสแห่งร่วมมือระหว่างศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค (CLNR) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง และสถาบันวิจัยปรับปรุงพันธุกรรมสัตวบาล ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดน่าน เพื่อวางแนวทางการปลูกป่าและสร้างความสมดุลในระบบนิเวศของป่าชุมชน “ไหล่น่าน”

ผลงานวิจัยที่ร่วมกับชุมชนในตำบลไหล่น่านในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ชัย ดำรงโรจน์วัฒนา และนิสิตระดับปริญญาตรี-โท ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ว่าพื้นที่ป่าชุมชนที่ตั้งอยู่รอบสถานีวิจัยคัดเลือกและบำรุงพันธุ์สัตว์ ตำบลไหล่น่าน ได้รับการดูแลจากชุมชนอยู่บ้าง แต่ยังขาดการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเชิงการบริหารจัดการเชิงอนุรักษ์และศึกษาทรัพยากรต่าง ๆ ในป่าชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2561 นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนชาวบ้าน ตัวแทน อบต. ตัวแทนนักเรียนและครูโรงเรียนสา จึงร่วมกันทำกิจกรรมบูรณาการจัดการองค์ความรู้ด้านป่าชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีส่วนร่วมและตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการป่าชุมชน รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งของกระบวนการเพื่อความยั่งยืนและประโยชน์ที่สูงขึ้น โดยให้คณะนักวิจัยเข้ามาช่วยดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ในปลายเดือนมกราคม 2562 จึงได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่าชุมชนบ้านบุญเรือง

ตัวแทน อบต.ไหล่น่าน และผู้แทนครูโรงเรียนสา ตั้งใจสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติวิทยาและรองรับคณะเยี่ยมดูงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนร่วมสนองพระราชดำริ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)  โดยให้ตัวแทนนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาตินี้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียนโดยทำโครงงานของรายวิชาการค้นคว้าอิสระ (Independent Study) ซึ่งใช้หลักการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Project-based and problem-based learning) มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (21st century learning skill) ควบคู่กันไป

การสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 1,500 เมตรนี้ นอกจะเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนแล้ว ยังเป็นการสร้างกิจกรรมที่หลากหลายให้กับนักเรียน นักศึกษา คนในชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่าย เช่น นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน เช่น การอบรมความรู้เกี่ยวกับการสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติ การอบรมการใช้ GPS Essentials และ Google Earth Pro การอบรมและแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรเห็ดในป่าชุมชน การเดินชมป่าชุมชนกับตัวแทน อบต. ชาวบ้าน ครู และนักเรียน รวม 3 ครั้ง เพื่อจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติจัดทำป้ายความรู้และสื่อประชาสัมพันธ์ให้ อบต.ไหล่น่านและชุมชนได้ใช้ประโยชน์ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากทุกภาคส่วน จำนวน 96 คน และที่มากไปกว่านั้นคือนักเรียนกลุ่มนี้ได้นำความรู้และประสบการณ์มาจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์ 8 โครงงาน ได้แก่

  1. การสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่าชุมชน
  2. ความหลากหลายของไม้ยืนต้นตามแนวเส้นทางการศึกษาธรรมชาติ
  3. ความหลากหลายของไม้ยืนต้นตามแนวเส้นทางศึกษาธรรมชาติในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ Google Earth Pro
  4. การเติบโตของต้นไม้ในแปลงถาวร
  5. ความหลากหลายของพืชสมุนไพรและการใช้ประโยชน์
  6. ความหลากหลายของเห็ดและการใช้ประโยชน์
  7. ความหลากหลายของมดในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
  8. อาหารพื้นบ้านจากทรัพยากรในป่าชุมชน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำโครงการ “ละอ่อนน่านเรียน-รู้-รักษ์ป่า” เพื่อขยายมิติอื่นๆ ของการพัฒนาเยาวชนอย่างยั่งยืน โดยต่อยอดจากความสำเร็จของโครงการละอ่อนสารักษ์ป่าน่านร่วมกับโครงการการเเรียน-รู้-รักษ์นก ตามแนวคิดขององค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับ “การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ผสมผสานกับบทเรียนที่ได้จากกิจกรรมต่างๆ ในโครงการนี้ เป้าหมายความยั่งยืนในอนาคตในมิติอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้น โครงการ “ละอ่อนน่านเรียน-รู้-รักษ์ป่า” มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนแก่เยาวชน นำความรู้ไปปฏิบัติโดยผสมผสานกับการเรียนรู้ในห้องโรงเรียนและการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นตัวตั้ง (problem-based learning)

สำหรับกิจกรรมที่ดำเนินการในโครงการละหานน่าน ประกอบด้วย กิจกรรมต่างๆ ดังนี้

  1. จัดอบรมเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความสำคัญของระบบนิเวศป่าไม้ การใช้ Application GPS Essentials, Google Earth Pro และ Google Drive ในการทําฐานข้อมูลทรัพยากรพันธุ์ไม้และจัดเก็บข้อมูลการศึกษาภาคสนาม
  2. จัดอบรมเกี่ยวกับการติดตามศึกษาระบบนิเวศป่าไม้และการสร้างแปลงถาวร จากนั้นทําการสร้างแปลงถาวรในพื้นที่ป่าร่วมกับตัวแทน อปท. และตัวแทนชุมชน
  3. จัดอบรมการวางแปลงถาวรและการเก็บข้อมูลในพื้นที่แปลงถาวรเพิ่มเติม อบรมการสร้างและใช้เกมส์การเรียนรู้ โดยจัดอบรมตามโรงเรียนและร่วมวางแปลงถาวรในพื้นที่ที่ได้เลือกไว้
  4. จัดอบรมการวิเคราะห์ข้อมูลการค้นคว้าอิสระของนักเรียน โดยจัดการอบรมผ่านโปรแกรม Zoom

ที่มา:

  • คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อื่นๆ

จุฬาฯ ชงแก้ปัญหาขยะทะเลจากบนบก เสนอรัฐคุมใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งในบริการส่งอาหาร (Food Delivery)

ขยะพลาสติกจากธุรกิจส่งอาหารกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมเมืองโดยเฉพาะหลังจากที่ภาครัฐออกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ห้ามให้ประชาชนออกมารับประทานอาหารนอกบ้าน ส่งผลให้ธุรกิจส่งอาหารเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในขณะเดียวกลับสร้างปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลตามมาอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดนั่นคือปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมีจำนวนมหาศาล และกลายเป็นขยะทันทีหลังบริโภค

จังหวัดชลบุรีมั่นใจ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าเกาะสีชังอุ้มประมงชายฝั่งยั่งยืนทุกมิติ

วัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์ปูม้าแบบฟาร์มบนบก ช่วยเพิ่มอัตราการรอดของลูกพันธุ์ปูม้าจากการสลัดไข่ของแม่ปูม้า ซึ่งกลุ่มชาวประมงเรือเล็กหรือชาวประมงพื้นบ้านจะนำแม่ปูม้าที่มีไข่ติดกระดองมาฝากไว้ที่ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบนบกเพื่อให้ไข่ฟักตัวเป็นลูกปูม้าวัยอ่อนแทนที่จะนำออกขายทันที

เปิดพื้นที่สีเขียวของจุฬาฯ กับการสร้างสุขภาพที่ดีให้กับชุมชน

เมื่อก้าวเข้ามาในย่านจุฬา สวนหลวง-สามย่าน จะสัมผัสได้ถึงพื้นที่สีเขียวภายในย่านที่มีขนาดใหญ่และจะขยายขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรามีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองให้เป็น “GREEN & CLEAN CITY” โดยมีหลากหลายนโยบายที่จะช่วยพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมรอบด้านอย่างยั่งยืน