เปิดเบื้องหลังความสำเร็จบนเส้นทางแห่งการพัฒนาวัคซีนจุฬาฯ
ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula VRC) ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเสมอภาคทางด้านวัคซีนให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งถือเป็นภารกิจในระดับนานาชาติ โดยมีพันธกิจในการวิจัย และพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย ในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะในงานด้านการป้องกันโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อชนิดต่าง ๆ ได้แก่ เอชไอวี (Human immunodeficiency virus, HIV) โรคไข้เลือดออกชนิดเดงกี่ (Dengue) โรคฉี่หนู (Leptospirosis) และภูมิแพ้ไรฝุ่นในบ้าน (House dust mite) ซึ่งมีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะไปแล้วมากกว่า 19 ฉบับ นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งกับคณะเภสัชศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ มีความร่วมมือในการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยภายในประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รวมทั้งการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายการวิจัยวัคซีนระหว่างประเทศ ได้แก่ Vaccine Research Center (VRC) National Institute of Allergy and Infectious Diseases (NIAID) National Institute of Health (USA); Department of Adjuvant and Antigen Research, U.S., Military HIV Research Program (MHRP) และ Walter Reed Army Institute of Research (WRAIR) จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าในกระบวนการพัฒนาวัคซีนที่ปกติแล้วเคยใช้เวลานานนับสิบปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาแต่ละขั้นตอนให้สำเร็จได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาวัคซีน “ChulaCov19”
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการกล่าวว่า “การพัฒนาวัคชีน ChulaCov19 ได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน อาทิ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเงินบริจาคจากสมาคมศิษย์เก่าคณะแพทย์จุฬาฯ กองทุนบริจาควิจัยวัคซีน สภากาชาดไทย”
ในประเทศที่มีรายได้น้อยจนถึงปานกลางมักประสบกับปัญหาการเข้าถึงวัคซีนที่ล่าช้าและมีอย่างจำกัดในช่วงที่มีโรคระบาดใหญ่ การกระจายวัคซีนจึงควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของสาธารณะเป็นหลัก มากกว่าผลประโยชน์ทางการตลาด ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำของการเข้าถึงวัคซีน ดังนั้นการสร้างความสามารถในการพัฒนาและผลิตวัคซีนให้ได้เองภายในประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ขึ้น ทาง ChulaVRC จึงได้มีการทำงานร่วมกับ Prof.Drew Weissman แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตวัคซีน mRNA เพื่อพัฒนาวัคซีนต่อโรคโควิด-19 ให้เกิดขึ้นภายในประเทศ โดยใช้ชื่อว่า “ChulaCov19” ซึ่งพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในสัตว์ทดลอง นำไปสู่การสนับสนุนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติและสาธารณชนเพื่อเริ่มการวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 1 ซึ่งได้ทำข้อตกลงกับ CMOs สหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นฐานการผลิตวัคซีน ChulaCov19 ที่ใช้สำหรับการวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 1 ซึ่งโครงการวิจัยนี้ได้เริ่มต้นหลัง Pfizer และ Moderna เพียง 1 เดือนเท่านั้น แต่เนื่องจากต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น ปัญหาในการขออนุญาต การแข่งขันกันในเรื่องของการจองสถานที่ผลิต เงินทุนสนับสนุน การตรวจสอบคุณภาพ การล็อกดาวน์ การได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ จนในที่สุดได้เริ่มการวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 1 ในเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งในตอนนั้นวัคซีน Pfizer และ Moderna ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในมนุษย์ได้ในเดือนสิงหาคม 2564 อย่างไรก็ตามวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ก็เพื่อสร้างความสามารถในการผลิตวัคซีนชนิด mRNA ให้เกิดขึ้นได้ในเมืองไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในครั้งถัดไป และการแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนที่ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข้ให้ดีเท่าที่ควร ซึ่งผลการวิจัยวัคซีน ChulaCov19 ในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งยังคงใช้วัคซีนล็อตที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา พบว่า วัคซีน ChulaCov19 มีความปลอดภัย และสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้นได้เดินทางมาเยี่ยมชมการดำเนินงานของโครงการวิจัยนี้ในเดือนสิงหาคม 2564 และได้ให้ทุนวิจัยจำนวน 2.3 พันล้านบาท สำหรับการผลิตวัคซีน และการวิจัยในมนุษย์ในระยะต่อไป จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการผลิตวัคซีน ChulaCov19 ขึ้นภายในประเทศไทยเอง โดยร่วมมือกับบริษัท BioNet-Asia เพื่อเป็นฐานการผลิตในประเทศไทย จนในที่สุดสามารถผลิตวัคซีนที่มีคุณภาพเหมือนกับวัคซีน ChulaCov19 ที่ผลิตโดยใช้โรงงานในประเทศสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ โดยผลการวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 ทั้งในประเทศไทย และออสเตรเลีย พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก
แต่เนื่องด้วยไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ที่รวดเร็ว และมีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดิม ทางโครงการวิจัยจึงได้คิดค้นวัคซีนรุ่นที่ 2 ออกมา ซึ่งเป็นวัคซีนไบวาเลนซ์ (bivalent) ที่มี mRNA ของทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์โอมิครอนรวมอยู่ในเข็มเดียว ซึ่งการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 นั้น เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เนื่องจากมีความพร้อมในทุกด้านเพิ่มมากขึ้น โดยวัคซีนรุ่นที่ 2 นี้มีชื่อว่า Comvigen (WT/BA.4/.5) ซึ่งในปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยในมนุษย์ ระยะที่ 2 ซึ่งได้ทำการศึกษาทั้งในประเทศไทยและออสเตรเลีย ในอาสาสมัครรวมกันทั้งหมดจำนวน 520 ราย ซึ่งได้เริ่มการศึกษาไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา เป้าหมายใหญ่ของพวกเราคือการเตรียมความพร้อมของประเทศในการสร้างวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตให้เป็นไปได้ด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น และเข้าร่วมกับ WHO mRNA vaccine hub เพื่อให้มีการกระจายวัคซีนไปสู่ประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ทาง ChulaVRC ยังคงศึกษาการพัฒนาวัคซีนต่อโรคอื่น ๆ ด้วย เช่น วัคซีนไข้เลือดออก วัคซีนมะเร็งปากมดลูก (HPV) วัคซีนวัณโรค วัคซีนภูมิแพ้ และวัคซีนมะเร็ง ซึ่งในขณะนี้ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ได้เป็นที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ของศูนย์ WHO mRNA vaccine tech transfer hub ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีวัคซีน mRNA ของ WHO เพื่อสร้างความเสมอภาคทางด้านวัคซีนสำหรับรองรับโรคระบาดในอนาคตให้กับกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง
โดยสรุป โครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของ ChulaVRC ถือเป็นการสร้างศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาการผลิตวัคซีนชนิด mRNA ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ผ่านความร่วมมือหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคเอกชน การหาทุนสนับสนุน การจัดการทุนวิจัยในระดับพันล้านบาท และการขับเคลื่อนโครงการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกิดความพร้อมในการรับมือการระบาดใหญ่ และเกิดความเสมอภาคด้านวัคซีน จึงถือเป็นความสำเร็จที่โดดเด่น และส่งผลดีต่อผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก ซึ่งการวิจัยและพัฒนาวัคซีน mRNA ในครั้งนี้ทำให้มั่นใจได้ว่าประเทศไทยมีความพร้อมที่จะรับมือโรคระบาดใหญ่ในอนาคตได้ดีขึ้น และทุกคนสามารถเข้าถึงวัคซีนที่อาจช่วยชีวิตนี้ได้ โดยไม่ได้คำนึงถึงรายได้หรือที่อยู่อาศัย
ที่มา
- ศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อื่นๆ
โครงการพัฒนาความมั่นคงในการจัดการสิ่งแวดล้อมของจังหวัดฉะเชิงเทราด้วยระบบบริหารข้อมูลอัจฉริยะการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม
จังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกำลังมุ่งสู่การพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ และเป็นพื้นที่มีความพิเศษที่พึ่งพาฐานของความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร เพื่อสนับสนุนการเกษตรอันเป็นเศรษฐกิจฐานรากโครงการนี้ได้สร้างระบบบริหารข้อมูลอัจฉริยะในการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของจังหวัดฉะเชิงเทรา
“Chula-Cov19” วัคซีน mRNA สัญชาติไทยขยับเข้าใกล้ความสำเร็จ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมาทำให้เราได้เห็นศักยภาพของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยรับมือกับวิกฤติด้านสาธารณสุขระดับโลก
นวัตกรรมโดรนใต้น้ำจากจุฬาฯ กับภารกิจพิทักษ์ท้องทะเลไทย
วิทยาศาสตร์ของมวลมนุษยชาติเป็นไปด้วยความล่าช้า และทำให้ความจริงของธรรมชาติประการสำคัญยังมิถูกพิสูจน์ทราบตามหลักฐานทางวิชาการ แต่เมื่อเทคโนโลยีเจริญรุดหน้า มนุษย์จึงพัฒนานวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle : UAV) และนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในภารกิจสำรวจทางธรรมชาติเพื่อให้ผู้สำรวจได้รับความสะดวกสบายและเกิดความปลอดภัยขณะปฏิบัติงาน
การเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนพิการขาขาดทั่วประเทศไทยด้วยนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกส์เอสเพส (sPace)
โครงการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนพิการขาขาดทั่วประเทศไทยด้วยนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกเอสเพส โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว) ผ่านสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) โดยได้นำเอาผลงานวิจัยนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกส์เอสเพส มาผลิตเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้พิการขาขาดจำนวน 300 ราย ได้เข้าถึงเท้าเทียมคุณภาพสูง โดยแจกจ่ายผ่านโรงพยาบาลของรัฐจำนวน 22 แห่ง