กรณีศึกษา

ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ (EID): ภารกิจวิจัย วินิจฉัย ป้องกัน รักษา และควบคุมโรคอุบัติใหม่เพื่อมวลมนุษยชาติ

ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาโลกเผชิญหน้ากับการระบาดของโรคอุบัติใหม่ (Emerging Disease) ที่ทวีความรุนแรงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทั้งไวรัสซิกา ไวรัสอีโบลา ไวรัสเมอร์ส และล่าสุดที่มวลมนุษยชาติกำลัง ประสบอยู่นั้นคือโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ระบาดใหญ่จนมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 219 ล้านคน และคร่าชีวิตคนหลากชาติพันธุ์ไปแล้วกว่า 4.55 ล้านคน ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เชื้อไวรัสเหล่านี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วคือความรุดหน้าแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีในโลกไร้พรมแดนที่เอื้อให้การทำกิจกรรมและการเดินทางไปมาหาสู่กันทั้งง่าย สะดวก รวดเร็ว จนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในหลายประเทศเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมถึงประเทศไทยของเราด้วย

ประเทศไทย ในฐานะหมุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก จึงตกอยู่ในความเสี่ยงที่อาจต้องเผชิญกับการรับเชื้อโรคข้ามพรมแดน จากการเปิดข้อมูลของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ในช่วง 3-4 ปีก่อนที่จะมีการระบาดใหญ่ของเชื้อโคโรนาไวรัส  ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาทำกิจกรรมต่าง ๆ ในประเทศเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคนต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้อาจเป็นพาหะนำโรคอุบัติใหม่ติดเชื้อจากคนสู่คนข้ามพรมแดนเข้ามาด้วยเช่นกัน การเฝ้าระวังโรคติดต่ออุบัติใหม่จึงเป็นภารกิจสำคัญที่หน่วยงานในแวดวงสาธารณสุขไทยเทศตระหนักและขานรับเป็นวาระที่จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายพัฒนาความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมโรคที่อาจเกิดขึ้นใหม่ ระงับยับยั้งก่อนแพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะแพทยศาสตร์ จึงได้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ขึ้นในปี พ.ศ.2559 [ https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/en/ec/thai-red-cross-emerging-infectious-diseases-health-science-centre/ ] ทำงานควบคู่กันกับศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน เพื่อดำเนินการเชิงรุกเข้าถึงแหล่งกำเนิดโรค (upstream operation) และเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ผ่านการสร้างความร่วมมือในระดับโลก (global collaboration) ซึ่งศูนย์นี้มีบทบาทสำคัญช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับวิกฤตการณ์โควิด-19 จากสนับสนุนสอบสวนโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณาสุข ให้สามารถตรวจยืนยันผู้ป่วยติดเชื้อโรค COVID-19 และยืนยันผลจากการถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัส เพื่อเป็นข้อมูลให้กับกระทรวงสาธารณสุขใช้ควบคุมการแพร่กระจายของโรคได้ทันท่วงที

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Member of the WHO Expert Advisory Panel on Rabies และ WHO member of the International Health Regulations Roster of Experts as an expert in Human-animal interface (Zoonoses) กล่าวว่า “เชื้อก่อโรคในมนุษย์กว่าร้อยละ 70 เกิดจากสัตว์ และปัจจุบันยังมีเชื้อไวรัสที่ยังไม่สามารถระบุชนิดหรือสายพันธุ์ได้อีกกว่า 500,000 ชนิด ซึ่งอาจพัฒนาเป็นเชื้อก่อโรคจากสัตว์สู่คนและกลายเป็นโรคอุบัติใหม่ได้ในที่สุด ดังนั้น การตรวจและออกสำรวจเพื่อให้รู้ว่าสัตว์ประเภทใดก่อโรคชนิดใดในมนุษย์จะช่วยให้เราสามารถนำมาเทียบเคียงความชุกของพื้นที่ที่อาจจะเกิดโรคได้ นำไปสู่การสร้างมาตรการป้องกันโรค พร้อมกำหนดพื้นที่เสี่ยงได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

ความก้าวหน้าของงานเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่เชิงรุกในประเทศไทยของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ เป็นผลมาจากการพัฒนาความร่วมมือทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง

1) องค์การอนามัยโลก (World Health Organization): สนับสนุนการทำงานขององค์การอนามัยโลกด้านการวิจัยและการตรวจวินิจฉัยยืนยันโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน พร้อมให้คำปรึกษาและจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในฐานะกรรมการผู้เชี่ยวชาญแก่ประเทศสมาชิกของ WHO – Regional Office for South-East Asia จำนวน 11 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน เกาหลีใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ เมียนมาร์ เนปาล ศรีลังกา ติมอร์-เลสเต และไทย

2) United States Agency for International Development (USAID): สร้างเครือข่ายงานวิจัยโรคอุบัติใหม่ในต่างประเทศ ผ่านการดำเนินโครงการวิจัย PREDICT พัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการเพื่อเป็นนวัตกรรมการวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสชนิดใหม่และตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อไม่ทราบสาเหตุ เช่น ประยุกต์ห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19

3) กระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกา: พัฒนางานวิจัยและห้องปฏิบัติการโรคอุบัติใหม่ ตลอดจนเครื่องมือวิทยาศาสตร์แบบครบวงจร เพื่อการวิจัย วินิจฉัย และเฝ้าระวังโรค อาทิ ธนาคารตัวอย่างโรคติดเชื้อ ธนาคารเชื้อไวรัส การตรวจวินิจฉัยด้วยแนวทางอณูชีววิทยา การถอดรหัสพันธุกรรมไวรัส การเพาะเชื้อไวรัสเพื่อวินิจฉัยโรค และการสร้าง Clinical Genomics Integration Platform เป็นต้น

4) กระทรวงสาธารณสุขไทย:  ขยายผลการวิจัยระดับชาติไปสู่ชุมชนท้องถิ่นโดยพัฒนาการตรวจวินิจฉัยไวรัสซิกาจากตัวอย่างอื่นนอกจากเลือดและปัสสาวะ ได้แก่ น้ำนม รก น้ำคร่ำ เยื่อสมอง น้ำอสุจิ น้ำลาย และน้ำตา

            จากการพัฒนางานเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ และภาคีเครือข่าย ได้พลิกโฉมการดำเนินงานของบุคลากรทางการแพทย์ไทยให้ตื่นตัวสามารถรับมือกับโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด19 ควบคู่ไปกับการสร้างมาตรการป้องกันโรคและการกำหนดพื้นที่เสี่ยงได้อย่างแม่นยำ จนกระทั่งได้พัฒนาชุดตรวจเชื้อโควิด19 ที่พัฒนาวิธีการตรวจหาชิ้นส่วนของโปรตีนของโควิด-19 และโปรตีนตอบสนองการติดเชื้อในน้ำลายและจากตัวอย่างอื่น  โดยใช้เครื่องมือตรวจวิเคราะห์ขั้นสูงผ่านกระบวนการแมสสเปกโตรเมตรี (Mass Spectrometry) ตรวจจับไวรัสได้ในตัวอย่างจำนวนมากโดยใช้เวลาไม่นาน สามารถตรวจพบโปรตีนจากไวรัสและโปรตีนตอบสนองต่อทั้งไวรัสโควิดสายพันธุ์ปกติ รวมทั้งสายพันธุ์อินเดีย อังกฤษ และแอฟริกาใต้ได้ผลดีเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการตรวจด้วยพีซีอาร์ในตัวอย่างที่ได้จากการแยงจมูกและลำคอ สามารถนำมา ใช้เป็นเครื่องมือคัดกรองการติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพ และมีความสะดวกในการเก็บตัวอย่าง เช่น น้ำลาย ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อน ประหยัดงบประมาณในการตรวจคัดกรองคนจำนวนมาก เช่น ในโรงงานอุตสาหกรรม และองค์กรขนาดใหญ่ได้

นอกจากนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ยังให้การบริการวิชาการโดยการสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายขององค์การอนามัยโลก และองค์การอนามัยสัตว์โลก ด้านการวิจัย วินิจฉัย รักษา และควบคุมโรคอุบัติใหม่และโรคสมองในมิติต่าง ๆ อาทิ

  • งานสอบสวนโรคร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเกิดโรคระบาดไม่ทราบสาเหตุ
  • ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาการตรวจโรคสมองเสื่อมเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการรองรับความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากสังคมสูงอายุ
  • ร่วมจัดทำคู่มือการดูแลโรค เวชปฏิบัติ คู่มือการตรวจวินิจฉัย
  • ร่วมเป็นคณะกรรมการ/ผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลกเจนีวาและภาคพื้นเอเชีย
  • จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู่สู่สาธารณะทั้งระดับวิชาการและประชาชน
  • เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่หน่วยงานภายนอก
  • จัดทำเว็บไซต์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคอุบัติใหม่ [ https://www.trceid.org/home ]

ที่มา:

  • ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  • คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

อื่นๆ

จุฬาฯ สนับสนุนการศึกษาสำหรับทุกคน ไม่แบ่งแยก

การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับทุกคนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งผลให้การพัฒนาประเทศดีขึ้น การศึกษาไม่ควรจำกัดเฉพาะเยาวชนเท่านั้น การศึกษาไม่ควรมีค่าใช้จ่ายและทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แม้ว่าพวกเขาจะรวยหรือจน

จุฬาฯ กับการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งใหญ่ ใน Chula Sustainability Fest 2022

ในปี 2022 ผลงานที่มีส่วนในการสร้างความยั่งยืนของจุฬาฯ จะไม่อยู่แค่ใน SDGs Report แต่ได้ออกมาสื่อสารในงาน Chula Sustainability Fest 2022 เมื่อวันที่ 2-4 กันยายน 2565 เพื่อสร้าง Commitment สื่อสารนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนของจุฬาฯ Connect เชื่อมโยงประชาคมจุฬาฯ และ Inspired สร้างแรงบันดาลใจให้ช่วยกันผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืน

จุฬาฯ สร้างยุวมัคคุเทศก์ชาวมอแกน สร้างหลักสูตรต่อลมหายใจวิถีชาวเลอันดามัน

ชาวเล เป็น 1 ใน 56 กลุ่มชาติพันธุ์ของไทย ถือเป็นชาวน้ำที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต สตูล มีวิถีพึ่งธรรมชาติ จับปลาทำประมงในท้องทะเลเพื่อยังชีพ เชี่ยวชาญการเดินเรือจากการดูทิศทางโดยอาศัยดวงดาวมานานนับร้อยปี