กรณีศึกษา

จุฬาฯ กับรูปแบบการเดินทางอย่างยั่งยืนที่หลากหลาย: Chula Smart Mobility

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย สำนักงานจัดการทรัพย์สิน (PMCU) ขับเคลื่อนโครงการ “สามย่านสมาร์ทซิตี้” (Samyan Smart City) ผ่าน “7 Smart” นำนวัตกรรมอัจฉริยะ 7 มิติ ได้แก่ Smart Environment , Smart Mobility , Smart Living, Smart Energy, Smart Economy, Smart People และ Smart Governance รองรับไลฟ์สไตล์ใหม่ให้ประชาคมจุฬาฯ กว่า 50,000 คน ที่ใช้ชีวิตบนพื้นที่กว่า 1.5 พันไร่ ใจกลางกรุงเทพฯ พร้อมสร้างคุณค่าต่อยอดให้ชุมชนและสังคม ชูจุดเด่นยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ลดการปล่อยมลพิษสู่บรรยากาศ หลากรูปแบบตอบโจทย์ SMART MOBILITY

ผลงานนวัตกรรมยานยนต์ในกลุ่ม Smart  Mobility ที่จุฬาฯ นำมาให้บริการภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยช่วยเสริมภาพลักษณ์การเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นย่านนวัตกรรมที่สร้างสรรค์คุณค่าแก่ชุมชนและสังคมให้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น อีกทั้งผสานคุณภาพชีวิตและธุรกิจ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิตที่ดีของคนทุกเพศทุกวัยอย่างยั่งยืน โดยมียานยนต์รองรับการสัญจรที่น่าจับตามองชวนให้ลองใช้อยู่ถึง 5 ผลงาน ได้แก่

1. รถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้าภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Pop Bus)

[ https://www.chula.ac.th/about/green-university/cu-shuttle-bus/ ]

รถโดยสารปรับอากาศขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า สานต่อแนวคิดลดมลภาวะตามโครงการนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนิสิต คณาจารย์ และบุคลากรจุฬาฯ รวมไปถึงชุมชนรอบข้างโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แบ่งเส้นทางบริการออกเป็น 5 สาย เพื่อลดการขับรถเข้ามาในมหาวิทยาลัยชั้นใน เชื่อมโยงระหว่างระบบขนส่งมวลชนมาสู่บริเวณมหาวิทยาลัยเพื่อลดการก่อมลภาวะ ซึ่งในปัจจุบันมีรถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้าให้บริการ 5 สาย ให้บริการตั้งแต่วันจันทร์ – เสาร์ เวลา 6.30-21.30 น. (วันเสาร์ให้บริการเฉพาะสาย 1 และ 2)

นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชัน Chula Pop Bus ช่วยบอกตำแหน่งที่ตั้งของ Chula Pop Bus แต่ละคันแบบวินาทีต่อวินาที ทำให้การเดินทางผ่านจุฬาฯ สะดวกขึ้น ผ่าน ViaBus – Transit Tracking & Navigation [ https://www.viabus.co/ ] แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนในระบบ Android และ iOS ให้บริการด้านการติดตามและนำทางรถโดยสารแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเข้าถึงข้อมูลการเดินทางในระบบโดยสารสาธารณะต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น ตำแหน่งรถ สถานี(ป้าย) เส้นทาง ทำให้ผู้โดยสารสามารถตัดสินใจในการเดินทาง รวมถึงบริหารเวลาและวางแผนการเดินทางได้ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 1.7 ล้านคน [ https://www.facebook.com/viabusapp/ ]

2. รถยนต์ไฟฟ้าให้เช่าแบบแบ่งปันกันใช้ (EV Car Sharing : Haup Car)

[ https://www.facebook.com/HAUPCAR ]

ผู้ที่ดำเนินชีวิตอยู่ในชุมชนจุฬาฯ นั้น มีตั้งแต่นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร รวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ภายในพื้นที่ การเดินทางออกไปยังนอกพื้นที่นั้น นอกจากจะใช้บริการรถขนส่งสาธารณะแล้วโดยในปี 2563 จุฬาฯ ได้ร่วมมือกับ ฮ้อปคาร์ (Haupcar) ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพคาร์แชร์ริ่งรายแรกของประเทศไทย ได้นำทางเลือกใหม่ในการเช่ารถในรูปแบบใหม่คือ รถยนต์ให้เช่าแบบแบ่งปันกันใช้ ฉีกกฎเดิม ๆ ของการเช่ารถด้วยการนำเอาเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการให้บริการ ที่สะดวก ง่าย และคล่องตัว สามารถจองรถเช่า ปลดล็อค และชำระเงินได้ง่าย ๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งยังสามารถจองรถเช่าในระยะเวลาสั้น ๆ เริ่มต้นที่ 30 นาที ทำให้สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้งานรถเช่าอย่างสร้างสรรค์ ทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่สามารถเช่ารถยนต์ในการเดินทางได้อย่างอิสระมากขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย

ในปัจจุบัน มีจำนวนรถให้เช่าภายในพื้นที่ประมาณ 10 คัน กระจายอยู่ตามสถานีจุดต่าง ๆ ทั่วพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัย ในอนาคตมีนโยบายที่จะเพิ่มจำนวนรถที่ให้บริการในพื้นที่ และจะปรับเปลี่ยนเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด การให้บริการรถยนต์ให้เช่าดังกล่าว จึงสามารถมาช่วยตอบโจทย์นโยบายการลดปัญหาด้านการจราจร ปัญหาด้านที่จอดรถที่ไม่เพียงพอ อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดมลภาวะ และลดอัตราการครอบครองรถยนต์ลง ช่วยให้คนรุ่นใหม่ได้ประหยัดและใช้รถได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้นอีกด้วย

[ https://pmcu.co.th/ev-car-rental/ ]

3. รถตุ๊ก ตุ๊ก ไฟฟ้า แบบแบ่งปันกันใช้ (EV tuk-tuk Sharing : Muvmi)

[ https://muvmi.co/ ]

เกิดจากการมองเห็นปัญหาช่องว่างของการเชื่อมต่อระหว่างขนส่งมวลชนขนาดใหญ่อย่าง BTS และ MRT ที่ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ในตรอกซอกซอย หรือสถานที่ที่ไม่ได้อยู่บนถนนเส้นหลักได้ จึงเกิดการผสมผสานระหว่างการใช้แอปพลิเคชันเรียกรถแบบ “On-Demand” คือ เรียกเมื่อไหร่ก็ได้ตามความต้องการ ไม่ต้องรอรอบเวลา ไม่ได้วิ่งตามเส้นทางประจำแบบที่เคยมีอยู่ และรูปแบบ “Sharing” ที่นำระบบเทคโนโลยีทันสมัยมาบริหารจัดการให้ผู้ที่จะเรียกรถไปในเส้นทางเดียวกันหรือบริเวณใกล้เคียงกันสามารถขึ้นรถคันเดียวกันได้จึงทำให้มีราคาที่ไม่แพง เหมาะสมกับค่าครองชีพยุคปัจจุบัน นักเรียนนักศึกษาและคนทำงานสามารถเข้าถึงได้ นอกจากแอปพลิเคชันแล้ว จุดเด่นอีกด้านของ MuvMi คือ การใช้รถระบบไฟฟ้า 100% ในการให้บริการ รับ-ส่งผู้โดยสาร โดยรถไฟฟ้านี้ได้ผ่านการวิเคราะห์การชนร่วมกับสถาบันศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) จึงทำให้มั่นใจได้ว่าปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการรวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

4. รถจักรยานแบบแบ่งปันกันใช้ (Bike Sharing : Anywheel) 

[ https://www.facebook.com/anywheel.th ]

เอนี่วีลได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดให้บริการจักรยานแบบแบ่งปันกันใช้ในพื้นที่ ที่ใช้บริการง่าย ๆ ด้วย แอปพลิเคชันผ่านสมาร์ทโฟน ที่ผสานเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ซึ่งเป็นการรวมตัวของนวัตกรรมการควบคุมระยะไกลและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (สมาร์ทโฟน) เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อลดการใช้รถยนต์ภายในมหาวิทยาลัย และสนับสนุนให้หันมาใช้พาหนะทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดมลภาวะทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของรถยนต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ปัจจุบัน เอนี่วีลให้บริการจักรยานกว่า 350 คัน พร้อมจุดจอดกว่า 40 สถานีรอบมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เอนี่วีลยังมีแผนที่จะขยายจุดจอดให้บริการรวมถึงจักรยานเพื่อรองรับผู้ใช้งานที่มากขึ้นในอนาคต

5. สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าแบบแบ่งปันกันใช้ (E-Scooter Sharing : Beam)

[ https://www.facebook.com/ridebeamthailand/ ]

ถ้าเข้ามาในพื้นที่จุฬาฯ ท่านอาจจะได้เห็นนิสิตขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าแบบเท่ ๆ ไปมาระหว่างอาคารเรียนภายในมหาวิทยาลัย นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางที่ทันสมัย ในทีแรกผู้ที่ไม่เคยใช้งานอาจจะยังลังเลว่าขับขี่ยากหรือไม่ แต่พอเมื่อได้ลองแล้วต้องบอกว่านอกจากจะขับง่ายแล้ว ยังให้ความสนุกสนานไม่เบาอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นน้อง ๆ นักเรียน วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ ก็สามารถขี่ได้ จนทำให้เราเห็นนักเรียนหลาย ๆ คนมาเช่าใช้ขับเล่นอย่างเพลิดเพลิน กลายเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมหลังเลิกเรียนกับเพื่อน ๆไปด้วยเลย

โดยสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้านี้ ได้ร่วมมือกับบริษัท บีม จํากัด ให้บริการภายใต้แอพลิเคชั่นที่ชื่อว่า Beam กระจายจุดจอดทั่วในจุดเชื่อมต่อไปยังโซนต่าง ๆ ภายในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง ทำให้คนในชุมชนก็สามารถที่จะใช้การเดินทางด้วยสกู้ตเตอร์ไฟฟ้าได้ง่ายดายเช่นกัน

นอกจากจุฬาฯจะมีทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลายที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษแล้ว ยังมีการสร้าง CU Covered Walkways & Sky Walk [ http://www.green.chula.ac.th/index.php/transportation/cu-cover-way-sky-walk/  ]  ทางเชื่อมสำหรับคนที่ไม่รีบหรือชอบเดินภายในจุฬาฯ โดยทางเดินมีหลังคาที่เชื่อมโยงอาคารเรียนทั่วมหาวิทยาลัย พร้อมขยายเส้นทางทำเป็น Sky walk เชื่อมต่อจุฬาฯ ผ่าน MBK จนถึงสถานีรถไฟฟ้า BTS สนามกีฬาอีกด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับทุกคนที่ต้องการเดินทางไปยังสถานที่ใกล้เคียงด้วยการเดิน ลดจำนวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ภายในมหาวิทยาลัยที่เป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และยังส่งเสริมวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดีของนิสิต บุคลากรและบุคคลทั่วไปผ่านการออกกำลังกายด้วยการเดิน พร้อมปกป้องผู้ที่เดินเท้าจากฝนและแสงแดดที่รุนแรง

ที่มา

  • สำนักงานจัดการทรัพย์สิน  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อื่นๆ

CU-DSR เรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมเพื่อสังคม

การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ในในทุกๆ ที่ไม่จำเป็นที่ต้องเกิดขึ้นภายในสถานศึกษาเท่านั้น สามารถเกิดขึ้นผ่านกระบวนการต่างๆ รวมถึงการเรียนรู้ผ่านการประสบการณ์การปฏิบัติ การฝึกงาน และการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ได้

แนวทางการปฏิบัติงานที่ยืดหยุ่นของจุฬาฯ : การปรับตัวเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของบุคลากร

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการปรับตัว และปรับรูปแบบในการให้บุคลากรเข้ามาปฏิบัติงาน จากที่ต้องเข้ามาปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของหน่วยงานเท่านั้น เปลี่ยนเป็นลักษณะที่มีความยืดหยุ่นขึ้น

ดูแลคุณภาพชีวิตนิสิตครบวงจรในวิกฤตโควิด-19 ด้วยนวัตกรรม Pre-vent Protect Cure

เพื่อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นดั่งบ้านที่ปลอดภัย ของนิสิตกว่า 37,000 คน ฝ่าวิกฤตนี้ด้วยนวัตกรรมจุฬาฯ ทั้ง ป้องกัน ปกป้อง และรักษา และออกมาตรการดูแลคุณภาพชีวิตนิสิตจุฬาฯ อย่างครบวงจร

การพัฒนาพื้นที่เพื่อเพิ่มประโยชน์: การปรับปรุงพื้นที่ Gewertz Square เพื่อก่อสร้างเป็น “ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเชิงบูรณาการด้าน Smart Living Solutions”

ตึกเกเวอร์ต (Gewertz) เป็นอาคารเก่าแก่ของภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาอย่างยาวนาน ด้วยระยะเวลาอันยาวนานของการใช้งาน อาคารทั้งสามหลังจึงมีสภาพทรุดโทรมไปตามกาลเวลา รวมทั้งพื้นที่โดยรอบก็อาจมีการสะสมปนเปื้อนของสารเคมีและโลหะเสียจากการทดลองและฝึกปฏิบัติของนิสิตที่มีมาอย่างยาวนานด้วย