CU-OIL NEW
การวิเคราะห์ลายนิ้วมือน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย
ทุก ๆ ปี ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่ง หรือป่าชายเลน จะพบคราบน้ำมัน และก้อนน้ำมันสีดำลอยมาติดตามชายฝั่งทะเล สร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ และการท่องเที่ยว ซึ่งจำนวนก้อนน้ำมันก็มากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ระบุว่า จากการติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนของน้ำมันในทะเล ตลอดแนวชายฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน นับตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน พบคราบน้ำมันที่ไม่ทราบสาเหตุรวมทั้งสิ้น 44 ครั้ง โดยเป็นพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันออก จ.ตราด ถึง จ.ชลบุรี ถึง 30 ครั้ง
ส่วนข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าในปี 2560-2561 พบว่ามีก้อนน้ำมันและคราบน้ำมันเหล่านี้พบได้ไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง ตามเกาะต่างๆ เช่น เกาะสมุย และเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ชายหาดทุ่งซาง จ.ชุมพร ชายหาดทุ่งประดู่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และชายหาดแม่รำพึง จ.ระยอง โดยยังไม่สามารถสืบหาแหล่งที่มาของก้อนน้ำมันและคราบเหล่านี้
แต่ในขณะนี้ได้มีความพยายาม ตามหาแหล่งที่มาของก้อนน้ำมันเหล่านี้เพื่อให้บริษัทผู้ผลิต หรือผู้ขนส่งน้ำมัน รับผิดชอบต่อความเสียหายทางนิเวศที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย โดยวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ ได้ริเริ่มทำการวิเคราะห์น้ำมันปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี 2554 เพื่อสืบหาแหล่งที่มาของก้อนน้ำมันเหล่านี้ หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในอ่าวไทย
“เราใช้การศึกษาและพัฒนากระบวนการพิสูจน์แหล่งที่มาของคราบน้ำมันด้วยวิธีสากล โดยการวิเคราะห์สารไบโอมาร์กเกอร์ซึ่งเปรียบเสมือนลายนิ้วมือของน้ำมัน ที่สามารถบ่งชี้ชนิดและแหล่งกำเนิดได้หากมีฐานข้อมูลลายนิ้วมือของน้ำมันที่คาดว่าจะเป็นแหล่งกำเนิดได้” รศ.ดร. ศิริพร จงผาติวุฒิ แห่งวิทยาลัยปิโตรเลียมกล่าว
ความเสียหายที่ก้อนน้ำมันเหล่านี้ก่อให้เกิดกับระบบนิเวศในไทยนั้นมีมากมายหลายด้านอย่างคาดไม่ถึง “คราบน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำจะทำปฎิกิริยากับออกซิเจนทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง” ดร.ศิริพรอธิบาย “และปิดกั้นการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช สาหร่าย และพืชน้ำต่างๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงสภาวะการย่อยสลายของแบคทีเรียในน้ำ ซึ่งล้วนแต่มีผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นเช่น ปลา สัตว์หน้าดิน ปะการัง รวมถึงนกน้ำด้วย”ซึ่งทำให้เกิดการสะสมสารพิษในห่วงโซ่อาหารที่เริ่มตั้้งแต่การเริ่มต้นจากแพลงก์ตอนจนถึงสัตว์ทะเลจนถึงผู้บริโภคสุดท้ายคือมนุษย์ นอกจากนั้นก็ยังมีผลเสียต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ประมง และการเพราะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วย
ในก้อนน้ำมันนั้น มีสารไบโอมาร์กเกอร์เป็นสารที่คงทนไม่ย่อยสลายในสภาพแวดล้อมเช่นในทะเล ซึ่งวิเคราะห์ได้โดยใช้เครื่องแก๊สโครมาโทกราฟี-แมสสเปกโตรมิเตอร์แบบ 2 มิติ (GCxGC TOFMS) เนื่องจากเป็นเทคนิคเดียวที่สามารถแยกสารไบโอมาร์กเกอร์ที่มีองค์ประกอบซับซ้อนได้ดี ให้ผลที่ถูกต้องแม่นยำ
“อย่างไรก็ดีในการที่จะวิเคราะห์ตัวอย่างเพื่อบ่งชี้ที่มาของน้ำมัน หรือก้อนน้ำมันดิบ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องมีฐานข้อมูลลายนิ้วมือ และคุณสมบัติอื่น ๆ ของน้ำมันชนิดต่าง ๆ ที่คาดว่าเป็นสาเหตุของคราบ หรือก้อนน้ำมันดิบตัวอย่างนั้น ๆ ในการเปรียบเทียบ” ดร.ศิริพรกล่าว
เพื่อให้ประเทศมีความพร้อมในการพิสูจน์แหล่งที่มาของคราบน้ำมัน จึงได้มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่องการพัฒนาฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย กับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในข้อตกลงความร่วมมือได้กำหนดให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ทำหน้าที่วิเคราะห์ลายนิ้วมือน้ำมัน และจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เนื่องจากเป็นความเชี่ยวชาญและมีเทคโนโลยีการวิเคราะห์โดยตรง ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญที่สุด เพราะข้อมูลการวิเคราะห์ลายนิ้วมือน้ำมัน จะเป็นต้นทางของการสร้างฐานข้อมูลและเสนอให้หน่วยงานอื่นได้ใช้ในการดำเนินงานเพื่อบรรลุพันธกิจที่ตั้งไว้
การพิสูจน์ดังกล่าวนี้จะสามารถแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรือปัญหาน้ำมันรั่วจะได้มีการพิสูจน์เชื่อมโยงเพื่อหาผู้รับผิดชอบเพื่อนำไปสู่การเยียวยาชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาคราบน้ำมันนับเป็นปัญหามลพิษข้ามแดน เมื่อเกิดที่หนึ่งแล้วกระจายไปทั่ว และส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ามาจากไหน มีประมาณ 20% เท่านั้นที่จะทราบที่มาจากแหล่งใหญ่
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันจาก 99 แหล่งทั่วโลก โดยมีบริษัทน้ำมันที่เกี่ยวข้อง 23 บริษัทซึ่งหน่วยงานรัฐและเอกชนจะร่วมกันจัดเก็บน้ำมันตัวอย่างของทุกบริษัทมาวิเคราะห์ และทำเป็นฐานข้อมูล เพื่อใช้เทียบเคียงในกรณีที่เกิดเหตุการณ์พบคราบน้ำมันและก้อนน้ำมันดิบ โดยจะเป็นการหาตัวมาร์คเกอร์ (MARKERS) ซึ่งเป็นสารเคมีหรือกลุ่มสารเคมีที่มีลักษณะเฉพาะ ของซากสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการทับถมก่อกำเนิดเป็นปิโตรเลียม ซึ่งลักษณะเฉพาะเจาะจงในแต่ละแหล่งปิโตรเลียมนี้คือ Oil Finger print ลายนิ้วมือที่จะสืบหาต้นตอต่อไป
เมื่อทราบได้ว่าแหล่งที่มาของน้ำมันเป็นชนิดไหน จากแหล่งใด โดยการเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลที่มีอยู่ ก็จะสามารถลดการกล่าวอ้างหรือกล่าวโทษต่อผู้อื่นและหาผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ดร.ศิริพรกล่าว ซึ่งผู้รับผิดชอบจะรับผิดชอบในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งรวมทั้งการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจที่ชะงักตัวจากเหตุที่เกิด และป้องกันการเกิดเหตุซ้ำขึ้นอีก
ในการดำเนินการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) มีการสร้างร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวม 10 หน่วยงาน ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในส่วนของกองทัพเรือ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561
นายชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด กล่าวว่า “การมีฐานข้อมูลดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการมีความระมัดระวังในการดำเนินกิจการมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่ไม่ได้มีการตรวจสอบและอาจทำให้ถูกละเลยไป”
แผนหรือแนวทางในการป้องกันการปนเปื้อนคราบน้ำมัน จากการประเมินพื้นที่เสี่ยงนั้นจะ ช่วยลดผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพและช่วยให้ข้อกฎหมายหรือนโยบายต่าง ๆ ถูกพิจารณาและแก้ไขให้มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งช่วยลดข้อพิพาทจากการกล่าวอ้างหรือกล่าวโทษต่อผู้อื่นและหาผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
ที่มา:
วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:
- https://greennews.agency/?p=18200
- https://dmf.go.th/public/list/data/detail/id/14610/menu/593/page/1
- https://thaipublica.org/2018/11/oil-fingerprint-gc-mou/
SDG ที่เกี่ยวข้อง
อื่นๆ
ศิลปะบำบัด ปลดปล่อยความวิตกกังวลจากเหตุการณ์วิกฤต
หลายคนที่เคยประสบกับเหตุการณ์วิกฤตไม่ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการเข้าบำบัดรักษาสุขภาพจิต เนื่องจากค่านิยมในสังคมเป็นสาเหตุที่สำคัญทำให้ผู้คนที่ได้รับความบาดเจ็บทางอารมณ์จากเหตุการณ์รุนแรงไม่เข้ารับการบำบัด ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมีความเชื่อว่าการเข้ารับการบำบัดหมายถึงการเป็นคนบ้าหรือมีสภาพจิตใจที่อ่อนแอ การปรับทัศนคติในเรื่องนี้กับผู้คนในสังคมมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้การบำบัดสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงได้ง่ายและเป็นที่ยอมรับ
ความร่วมมือจุฬาฯ กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยของข้าราชการตำรวจ (Affordable Housing for Police Officers)
สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของข้าราชการตำรวจ อันเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อชุมชน
โครงการปทุมวัน Zero Waste: เครือข่ายการจัดการขยะในกรุงเทพมหานคร ช่วยลดขยะเศษอาหารมากกว่า 2,000 ตัน
ความร่วมมือจากโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเขตปทุม มีเป้าหมายในการลดปริมาณขยะที่เข้าสู่กระบวนการฝังกลบที่มีมากถึง 207 ตัน/วัน เป็นการนำองค์ความรู้และประสบการณ์จากการจัดการขยะภายในถ่ายทอดสู่ภาคี เครือข่ายภาครัฐ และเอกชน ทำให้ใน 7 เดือนที่ผ่านมาประสิทธิภาพในการลดและแยกขยะภายในเขตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะขยะเศษอาหารที่แยกออกมาได้มีจำนวน 2,148 ตันและถูกจัดการอย่างเหมาะสม ซึ่งถ้าหากขยะเศษอาหารเหล่านี้ปะปนกับขยะอื่น จะสามารถก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงประมาณ 5,456 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
กล่องรอดตาย – หอผู้ป่วยเสมือน
COVID-19 เป็นโรคระบบทางเดินหายใจสามารถทำให้เกิดอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่ไม่แสดงอาการ ไปจนถึงเสียชีวิตได้ อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ มีไข้ ไอ และอ่อนเพลีย สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมากหรือเป็นโรคอื่นๆ อยู่ เช่น เบาหวาน มีแนวโน้มที่จะมีอาการรุนแรง