กรณีศึกษา

อนุรักษ์ปลากระเบนเจ้าพระยา อนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่กลอง

ปลากระเบนเจ้าพระยา (Himantura chaophraya) เป็นสัตว์น้ำจืดที่มีถิ่นอาศัยในแถบลุ่มน้ำแม่กลองที่ไหลผ่าน 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก อุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และเพชรบุรี โดยเฉพาะในแหล่งน้ำสะอาดจะสามารถพบเห็นปลากระเบนเจ้าพระยาได้บ่อยครั้ง ซึ่งกลุ่มนักวิชาการต่างยกให้ปลากระเบนน้ำจืดสายพันธุ์นี้เป็นสิ่งมีชีวิตบ่งชี้ (Indicator Species) ความไม่สมดุลของระบบนิเวศน้ำจืดด้วยคุณสมบัติของปลาชนิดนี้ที่มีความไวต่อสารพิษและสภาพการเปลี่ยนแปลงของถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งสารพิษตัวร้ายที่เป็นศัตรูกับกระเบนเจ้าพระยาไม่ว่าจะเป็นแอมโมเนีย (Ammonia, NH3) และไนไตรท์ (Nitrite, NO2-) ที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำล้วนเป็นเหตุให้ปลากระเบนเจ้าพระยาอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species) ตามประกาศของ The IUCN Red list of threatened Species (International Union for The Conservation of Nature, IUCN) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ ซึ่งมีพันธกิจหนึ่งที่มุ่งพัฒนา บุกเบิก ค้นคว้า ทางการวิจัย ตลอดจนประยุกต์วิชาความรู้ที่ได้รับเพื่อการบริการแก่สังคม จึงได้ริเริ่มศึกษาวิจัยปลากระเบนสายพันธุ์นี้ในแง่ของสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ชีววิทยา และนิเวศวิทยา มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โดยลงพื้นที่เก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนเกิดความรู้ความเข้าใจจนได้นำองค์ความรู้มาใช้จริงในเหตุการณ์ช่วงปี พ.ศ. 2559 พบปลากระเบนในลุ่มน้ำแม่กลองบริเวณจังหวัดสมุทรสงครามตายพร้อมกันมากถึง 45 ตัว ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สร้างความวิตกกังวลให้กับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีบัญชาสั่งการให้เร่งคลี่คลายหาข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมอบหมายให้ รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ นำคณะลงพื้นที่เร่งศึกษาเชิงลึกในมิติสิ่งแวดล้อมจนต่อมาสามารถระบุต้นเหตุที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมนี้เกิดจากการได้รับสารเคมีออกฤทธิ์เฉียบพลันที่เป็นพิษต่อระบบไตและเหงือกของกระเบน ซึ่งสารเหล่านี้ไม่ใช่สารออกฤทธิ์สะสมจึงทำให้ปลากระเบนสูญเสียการควบคุมความสมดุลในร่างกายและตายอย่างรวดเร็ว นับเป็นผลงานเชิงประจักษ์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้คณะนักวิจัยมีขวัญและกำลังใจพัฒนางานสานต่อจนเกิดเป็นความร่วมมือกับอีกหลายภาคส่วนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน

ความร่วมมือหนึ่งที่แน่นแฟ้นก่อเกิดประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่กลองและปลากระเบนเจ้าพระยาเกิดขึ้นเมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ ได้ทำงานร่วมกันกับ National Geographic Society และกรมประมง จังหวัดสมุทรสงคราม นำทักษะ องค์ความรู้ และประสบการณ์ ร่วมศึกษาวิจัยปลากระเบนน้ำจืดเชิงลึก พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระดับชาติและวางมาตรการอนุรักษ์ปลากระเบนเจ้าพระยาในระยะยาว ครอบคลุมถึง 3 มิติ ได้แก่

1) ด้านสัตว์  ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับนิเวศวิทยาและประชากรเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในกระเบนเจ้าพระยา ทั้งถิ่นที่อยู่อาศัย รูปแบบของพฤติกรรม และปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการเลือกพื้นที่อาศัยและผสมพันธุ์ ด้วยวิธีศึกษาการเคลื่อนที่ของปลากระเบนเจ้าพระยา (Himantura chaophraya) ในลุ่มน้ำแม่กลองโดยใช้เครื่องหมายติดตาม (Tracking of Giant Freshwater Stingray (Himantura chaophraya) in Maeklong River) ปลากระเบน กว่า 200 ตัว ตลอดจนช่วยเหลือและอนุบาลปลากระเบนป่วยหรือได้รับบาดเจ็บจากการประมง พร้อมจัดทำฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการลดภัยคุกคามต่อปลากระเบน และผลักดันแนวนโยบายด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์นำไปสู่การออกกฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีรายชื่อของปลากระเบนเจ้าพระยารวมอยู่ด้วย

2) ด้านสิ่งแวดล้อม เก็บตัวอย่างและบันทึกคุณภาพดินและน้ำจากแหล่งที่พบปลากระเบนเจ้าพระยามาตรวจสอบคุณภาพทางกายภาพ ชีวภาพ และเคมี เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมของลุ่มน้ำแม่กลอง และจัดทำมาตรการที่จำเป็นต่อการคุ้มครองและอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัย พร้อมกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อลดผลกระทบของภัยคุกคามต่อถิ่นที่อยู่อาศัยและประชากรของปลากระเบน รวมถึงมาตรการปรับเปลี่ยนวิธีการทำประมงของชุมชนที่อาจก่อให้เกิดการตายของปลากระเบนได้

3) ด้านสังคม กำหนดแผนรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชาวบ้าน โดยสร้างเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของปลากระเบน ตลอดจนภัยคุกคามต่อปลากระเบนและถิ่นที่อยู่อาศัยให้กับชุมชนและผู้ที่สนใจด้วยโปรแกรมเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและเพิ่มโอกาสให้ภาคประชาชนได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมอนุรักษ์ ผ่านนิทรรศการอนุรักษ์กระเบนลุ่มน้ำแม่กลองร่วมกับจังหวัดสมุทรสงคราม และเทศบาลอำเภออัมพวา ในบรรยากาศถ้อยทีถ้อยอาศัยจากการร่วมเฝ้าระวังของชุมชนเพื่อนำส่งข้อมูลข่าวสารให้กับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวิจัยและพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

จากการวางมาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์ปลากระเบนเจ้าพระยาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผนึกกำลังกับทั้งชุมชนและหน่วยงานระดับชาติที่เกี่ยวข้องได้ยังประโยชน์มาสู่การอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่กลองที่ไม่เพียงแต่ช่วยให้ปลากระเบนสายพันธุ์นี้ยังสามารถอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำพื้นถิ่นแถบนี้ได้ แต่ยังเป็นกุศโลบายให้ชาวแม่กลองเกิดจิตสำนึกทั้งรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในบ้านเกิดของตนเพื่อส่งต่อให้กับคนในรุ่นต่อไป  

ที่มา:

คณะสัตวแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

อื่นๆ

โครงการปทุมวัน Zero Waste: เครือข่ายการจัดการขยะในกรุงเทพมหานคร ช่วยลดขยะเศษอาหารมากกว่า 2,000 ตัน

ความร่วมมือจากโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเขตปทุม มีเป้าหมายในการลดปริมาณขยะที่เข้าสู่กระบวนการฝังกลบที่มีมากถึง 207 ตัน/วัน เป็นการนำองค์ความรู้และประสบการณ์จากการจัดการขยะภายในถ่ายทอดสู่ภาคี เครือข่ายภาครัฐ และเอกชน ทำให้ใน 7 เดือนที่ผ่านมาประสิทธิภาพในการลดและแยกขยะภายในเขตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะขยะเศษอาหารที่แยกออกมาได้มีจำนวน 2,148 ตันและถูกจัดการอย่างเหมาะสม ซึ่งถ้าหากขยะเศษอาหารเหล่านี้ปะปนกับขยะอื่น จะสามารถก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงประมาณ 5,456 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

เทคโนโลยีราไมคอร์ไรซาเพื่อการปลูกและฟื้นฟูป่าอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ตามรายงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร้อยละ 31-33 ของประเทศไทยเป็นพื้นที่สีเขียว ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและปกป้องผืนป่าโดยกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) วางเป้าหมายในการขยายพื้นที่ป่าให้เป็นร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั่วประเทศ

ภารกิจฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม “บ้านก้อแซนด์บ๊อกซ์” เพิ่มประสิทธิภาพ การฟื้นฟูป่าไม้วงศ์ยางในประเทศไทย

การฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมโดยได้กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) วางเป้าหมายที่จะรักษาผืนป่าของไทยให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งประเทศ

เรียนรู้โลกกว้างผ่านแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์จุฬาฯ เปิดชมฟรีตลอดปี

จุฬาฯ เปิดพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงวิชาการและการอนุรักษ์ผ่านการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ซึ่งมีทั้งส่วนที่อยู่ภายในกำกับของส่วนกลางมหาวิทยาลัยและอยู่ในส่วนความรับผิดชอบของหลายคณะ รวมมากถึง 23 แห่ง