จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย “ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์” และ“สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ” เผยผลสำเร็จ “แสมสารโมเดล” นำร่องแก้ปัญหาขยะบนบกไหลลงทะเลชลบุรี ด้วยหลัก 3Rs ลดขยะพื้นที่แสมสารได้จริงกว่าร้อยละ 30 พร้อมขยายผลความสำเร็จจากชุมชนสู่ระดับชาติ
จากองค์ความรู้ “วิทยาศาสตร์ทางทะเล” สู่การพัฒนา “แสมสารโมเดล”
“แสมสารโมเดล” หรือ แสมสารไร้ขยะ เป็นหนึ่งในโครงการท้องทะเลไทยไร้ขยะ ภายใต้ “โครงการสร้างความตระหนักและจิตสำนึกของชุมชนในการลดและแยกขยะเพื่อไม่ให้ตกลงสู่ทะเลพื้นที่แสมสาร” ดำเนินงานโดยภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศึกษาและวิจัยผลกระทบของขยะทะเลและไมโครพลาสติกที่มีผลต่อสัตว์ทะเลและมนุษย์ในพื้นที่นำร่องชุมชนแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จากความร่วมมือในระดับท้องถิ่นนำโดยองค์การบริหารส่วนตำบลแสมสาร กองทัพเรือสัตหีบ และประชาชนในพื้นที่ ได้กำหนดแนวทางการสร้างความตระหนักและจิตสำนึกอนุรักษ์ท้องทะเลร่วมกับชุมชน พร้อมถ่ายทอดความรู้เรื่องการลดและแยกขยะให้กับชุมชนจนกลายเป็นนวัตกรรมทางสังคมผ่านการศึกษาวิจัยการมีส่วนร่วม การสร้างจิตสำนึก และการสร้างชุมชนเข็มแข็ง โดยได้บูรณาการองค์ความรู้ “Chula Zero Waste” ที่ทดลองนำมาใช้จัดการปัญหาขยะภายพื้นที่จุฬาฯ จนสำเร็จแล้ว ขยายผลมายังชุมชนแสมสาร โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (The Japan International Cooperation Agency หรือ JICA) สนับสนุนเครื่องมือสำรวจปริมาณขยะทะเลบนเกาะแสมสาร จากนั้นนำผลสำรวจมาจัดทำข้อเสนอแนะเสนอหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม และป้องกันปัญหามลภาวะจากขยะทะเลโดยเฉพาะขยะพลาสติก ช่วยลดปริมาณขยะในพื้นที่ได้มากถึงร้อยละ 30 ด้วยหลักการ 3Rs ลดการใช้ นำกลับมาใช้ซ้ำ และนำขยะกลับมาใช้ใหม่ (Reduce Reuse and Recycle)
ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ริเริ่มโครงการเล่าถึงบรรยากาศความร่วมมือของภาคีเครือข่ายและชุมชนซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันคือมุ่งพัฒนาพื้นที่ให้สอดรับกับการท่องเที่ยวว่า “ก่อนหน้านี้ที่แห่งนี้เคยเป็นสถานีทดลองเพาะขยายพันธุ์ปะการังด้วยวิธีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ซึ่งได้ผลสำเร็จเป็นที่แรกของประเทศไทยมาแล้ว ทำให้ชาวบ้านสนใจและอยากมีส่วนร่วมอนุรักษ์ท้องทะเลของเขา ประกอบกับที่นี่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนักจึงเอื้อต่อการท่องเที่ยวและเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ยิ่งทำให้เราต้องเร่งสร้างจิตสำนึกร่วมทั้งกับคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวที่มาให้เขารู้จักลดและแยกขยะ เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะเหล่านี้ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยของเรา”
“แก้ขยะล้นทะเล” แนะแก้ปัญหาที่ต้นตอ
นอกจากนี้ ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ยังเผยข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสำคัญต่อด้วยว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะบนบกที่ตกลงสู่ทะเลเป็นจำนวนมากเนื่องจากการจัดการขยะบนบกที่ไม่เหมาะสมโดยเฉพาะพลาสติกประเภทใช้แบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง เมื่อตกลงสู่ทะเลแล้วนอกจากจะไม่สามารถย่อยสลายได้ ยังแตกตัวกลายเป็นไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศปนเปื้อนอยู่ในสัตว์ทะเลที่กินเข้าไปโดยไม่ตั้งใจส่งผลต่อเนื่องมาถึงมนุษย์ที่บริโภคสัตว์ทะเลเข้าไป จากการวิจัยพบว่าขณะนี้ในร่างกายของคนเรามีชิ้นส่วนของไมโครพลาสติกสะสมอยู่ในร่างกายมนุษย์มากกว่าหมื่นชิ้นแล้ว ถึงแม้จะต้องรอผลการวิจัยยืนยันในอีกประมาณ 5 – 10 ปีข้างหน้าว่าไมโครพลาสติกดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์มากน้อยเพียงใด แต่การลด ละ เลิก การใช้ขยะพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งนั้นควรจะเริ่มลงมือทำได้เลยตั้งแต่ตอนนี้ก่อนที่จะสายเกินไป ดังนั้น การวางแผนการจัดการนโยบายและมาตรการการลดและกำจัดขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ตกลงสู่ทะเลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง”
ผลสำเร็จและองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยผลกระทบที่เกิดขึ้นของโครงการ ไม่เพียงแต่ช่วยกำหนดแนวทางการจัดการขยะบนบกที่ไม่ถูกต้องเพื่อลดปริมาณขยะทะเลในระดับประเทศและนานาชาติ แต่ยังประโยชน์เห็นผลเชิงประจักษ์ได้ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น เมื่อผลผลิตสัตว์น้ำที่ชาวประมงจับได้ไม่พบเศษซากขยะทะเลติดมา และปริมาณไมโครพลาสติกในท้องทะเลที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของสัตว์ทะเลลดลง ช่วยคืนสมดุลและความหลากหลายทางชีวภาพให้น่านน้ำไทยได้อีกครั้ง โดยผลสำเร็จของโครงการนี้ยังได้ขยายผลต่อเนื่องจากพื้นที่นำร่องในอำเภอสัตหีบไปสู่พื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดชลบุรี อาทิ เมืองพัทยา อำเภออ่างศิลา เป็นต้น และยังเกิดความร่วมมือต่อยอดกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมควบคุมมลพิษ กำหนดแนวทางการดำเนินงานเชิงนโยบายเพื่อจัดการขยะของประเทศ โดยเริ่มขยายผลจากโครงการนำร่องไปยังจังหวัดใกล้เคียงอย่างระยองได้สำเร็จเป็นจังหวัดแรกอีกด้วย
ยกระดับความสำเร็จ “แสมสารโมเดล” สู่เวทีนานาชาติ
มากไปกว่านั้น “แสมสารโมเดล” (Sameasan Model) และองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะพลาสติกยังนำไปสู่การก่อตั้งภาคีเครือข่ายระหว่างประเทศ แบ่งปันและถ่ายทอดองค์ความรู้อนุรักษ์ท้องทะเลควบคู่ไปกับสร้างจิตสำนึกในระดับนานาชาติไปสู่ 2 หน่วยงานสำคัญ ได้แก่ IOC/WESTPA ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินกิจกรรมในภูมิภาคภายใต้กรอบของ UNESCO-IOC และ United Nations Environment Programme (UNEP) และยังเกิดโครงการความร่วมมือทำวิจัยขยะพลาสติกในทะเลน่านน้ำไทยกับประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งศูนย์วิจัยในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่าน Japan International Cooperation Agency (JICA) ผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยภาคีเครือข่ายในประเทศญี่ปุ่น อีก 7 แห่ง ได้แก่ Kyushu University, Tokyo University of Marine Science and Technology, Tokyo University of Agriculture and Technology, Kyoto University, Kumamoto University, Chuo University และ Kagoshima University เพื่อแสวงหาแนวทางลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลคืนความสมดุลให้ทุกชีวิตใต้ท้องทะเลไทยต่อไป
ที่มา:
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:
- http://www.cocc.psu.ac.th/blogs_view.php?lang=th&blog_id=2
- https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG191007210707743
- https://www.dailynews.co.th/education/735558/
- https://www.jst.go.jp/report/2019/191023_e.html
- https://mgronline.com/daily/detail/9620000091465
- https://www.matichon.co.th/publicize/news_1685338
- https://www.naewna.com/local/431305
- https://thesharpener.online/2021/02/%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%AC%E0%B8%B2%E0%B8%AF-%E0%B8%8A%E0%B8%B9-%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%A5-%E0%B9%81/
อื่นๆ
ค่ายวิศวพัฒน์ ส่งต่อองค์ความรู้การจัดการน้ำสู่ชุมชนเพื่อความยั่งยืน
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย 12 ภาควิชา รวมถึง ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสำรวจ และวิศวกรรมแหล่งน้ำ พร้อมด้วยคณาจารย์ผู้ทรงความรู้ ถือเป็นแหล่งบ่มเพาะองค์ความรู้ที่สำคัญทางการชลประทานที่พร้อมถ่ายทอดสู่นิสิต นำไปสู่การฝึกปฏิบัติจริงในการแก้ปัญหาด้านการจัดการน้ำให้กับชุมชนห่างไกล ผ่านค่ายวิศวพัฒน์ ซึ่งเป็นโครงการค่ายวิศวกรรมอาสาพัฒนาชนบทที่พร้อมปลูกฝังความเป็นผู้นำทั้งในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้แก่นิสิตจิตอาสาที่เข้าร่วมค่าย
จาก “ละอ่อนสา-รักษ์ป่า-น่าน” ถึง “ละอ่อนน่านเรียน-รู้-รักษ์ป่า” ใช้ Google Earth Pro เพื่ออนุรักษ์ป่าชุมชน
ด้วยเหตุความเสื่อมโทรมของป่าน่าน ทำให้เกิดโอกาสแห่งร่วมมือระหว่างศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค (CLNR) จุฬาฯ และสถาบันวิจัยปรับปรุงพันธุกรรมสัตวบาล ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดน่าน เพื่อวางแนวทางการปลูกป่าและสร้างความสมดุลในระบบนิเวศของป่าชุมชน “ไหล่น่าน”
พิพิธภัณฑ์ของจุฬาฯ: แหล่งเรียนรู้โลกกว้างที่ทุกคนเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
ภายในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากจะเป็นที่ตั้งของคณะและสถาบันสำคัญที่ทั้งสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้นิสิตผลิตบัณฑิตให้พร้อมออกไปรับใช้สังคมแล้ว จุฬาฯ ยังได้เปิดพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงวิชาการและการอนุรักษ์ให้นิสิต คณาจารย์ และบุคลากร รวมทั้งบุคคลภายนอกที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ตลอดชีวิต
Chula Art Town พัฒนาชุมชนใกล้ไกลด้วยศิลปะ
ศิลปินสตรีทอาร์ต นิสิตเก่าจุฬา และนักเรียนรอบรั้วมหาวิทยาลัย ร่วมถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตของชุมชน รังสรรค์งานศิลปะบนกำแพงอาคารสถานที่ นำขยะจากชุมชนมาสร้างงานศิลปะให้กลับกลายเป็นทัศนียภาพใหม่ที่มีเสน่ห์ชวนมอง จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ใจกลางกรุงที่ดึงดูดเหล่าฮิปสเตอร์สายเช็กอินต้องห้ามพลาด