กรณีศึกษา

Chula Art Town พัฒนาชุมชนใกล้ไกลด้วยศิลปะ

จากความสำเร็จของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้พลิกฟื้นชุมชนเก่าแก่รอบมหาวิทยาลัยย่าน “สวนหลวง-สามย่าน-สยามสแควร์” กลับมาคึกคักมีชีวิตชีวาด้วยสีสันแห่งงานศิลปะกราฟิตี้ในโครงการ Chula Art Town โดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ (FAA) ที่ดึงศิลปินสตรีทอาร์ตชั้นนำร่วมกับนิสิตเก่าจุฬาและนักเรียนรอบรั้วมหาวิทยาลัยนับร้อยชีวิตมาร่วมถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้ รังสรรค์งานศิลปะบนกำแพงอาคารสถานที่นับสิบจุด แปลงมุมอับ นำขยะจากชุมชนมาสร้างงานศิลปะให้กลับกลายเป็นทัศนียภาพใหม่ที่มีเสน่ห์ชวนมอง จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ใจกลางกรุงที่ดึงดูดเหล่าฮิปสเตอร์สายเช็กอินต้องห้ามพลาด ทำให้บทบาทผู้พัฒนาชุมชนด้วยศิลปะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฉายแววเด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2563 ซึ่งโครงการเหล่านี้ได้ช่วยพัฒนาสังคม สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้สู่ชุมชนนับล้านบาทต่อปี อาทิ 1) ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างและรถตุ๊กตุ๊กในพื้นที่มากกว่า 50 คน เพื่อเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่นนำเที่ยว ณ แกลเลอรีอเนกประสงค์ของคณะ (ART4C) ที่ตั้งอยู่ในชุมชน 2) สร้างห้องเรียนกลางแจ้งเยียวยาผู้ป่วยเด็กอาการดาวน์ซินโดรมโดยใช้กำแพงแสดงผลงานศิลปะ และใช้อักษรเบรลล์ที่ออกแบบพิเศษเพื่อให้ผู้บกพร่องทางสายตาสามารถเข้าถึงงานศิลปะได้ 3) พัฒนาความร่วมมือระหว่างสถาบันศิลปะและวัฒนธรรมกับเขตปทุมวันและชุมชนบ้านครัว สู่การจัดทำแผนที่เพื่อเที่ยวชมงานศิลปะและวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะร่วมสมัย วิถีชีวิตชุมชน และอาหารที่หลากหลายทางวัฒนธรรมผ่านโปรแกรมที่จัดขึ้นจนได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างสรรค์ศิลปะท้องถิ่น (Pathumwan Art Routes; PARs) ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่เพื่อนบ้านโดยรอบจะตอบรับการพัฒนาชุมชนด้วยศิลปะของมหาวิทยาลัย ทำให้งานศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ Chula Art Town ยังได้พัฒนาเทคนิคการเสพศิลป์เชื่อมโยงโลก offline เข้าสู่โลกดิจิทัล โดยนำ QR Code เข้ามาใช้เพื่อระบุตำแหน่งบนแผนที่เสมือนจริงพร้อมจัดทำวีดิทัศน์บอกเล่าแรงบันดาลใจของศิลปินในแต่ละจุดผ่าน Smart Phone เพียงสแกน QR Code บนสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ  เพื่อเพิ่มอรรถรสให้ผู้รับชม แม้ในยามวิกฤตจนต้องปิดเมือง แต่การเสพศิลป์ในแบบฉบับ Chula Art Town ยังคงดำเนินต่อไปบน Digital Platform ที่ เปิดให้ผู้รับชมทั่วทุกมุมโลกท่องเที่ยวได้เสมือนจริงบน “Google Art & Culture” ด้วยเทคนิค Augmented Reality (AR)  โดยเป็น 1 ใน 5 นิทรรศการสำคัญที่ผ่านการคัดเลือกแล้วให้จัดแสดง กลายเป็นการแสดงผลงานศิลปะไร้พรมแดนและขีดจำกัด โดยมีผู้ชมในโลกออนไลน์แล้วกว่า 3,700 ครั้ง เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมขับเคลื่อนสังคมด้วยศิลปะสร้างแรงบันดาลใจและเยียวยาผู้คนในสังคมควบคู่กัน

ที่มา:    คณะศิลปกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

อื่นๆ

จุฬาฯ สร้างระบบส่งเสริมสุขภาพช่องปากให้กลุ่มเปราะบางชายขอบด้วยระบบ Digital Health Platform

องค์การสหประชาชาติประกาศให้โรคทางช่องปากเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประชากรโลก สถานการณ์โรคฟันผุที่ยังไม่ได้รักษา ในชุดฟันแท้เป็นโรคที่มีพบมากที่สุดในโลก ร้อยละ 35 ของประชากรโลก ในขณะที่โรคปริทันต์อักเสบระดับรุนแรงที่จะนำไปสู่การสูญเสียฟันนั้นยังมีอีกร้อยละ 11 ของประชากรโลก และอัตราการเกิดมะเร็งช่องปากยังเพิ่มขึ้นอย่างคงที่

เทคโนโลยีราไมคอร์ไรซาเพื่อการปลูกและฟื้นฟูป่าอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ตามรายงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร้อยละ 31-33 ของประเทศไทยเป็นพื้นที่สีเขียว ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและปกป้องผืนป่าโดยกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) วางเป้าหมายในการขยายพื้นที่ป่าให้เป็นร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั่วประเทศ

โครงการและกิจกรรมเพื่อสังคมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการดำเนินกิจกรรมและโครงการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยครอบคลุมประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้อพยพ และผู้ลี้ภัย ภายในชุมชนต่าง ๆ

จุฬาฯ หนุนใช้นวัตกรรมกู้วิกฤตประมงไทย ผุดวิธีแก้ประมงผิดกฎหมาย ช่วยชาติปลดล็อคใบเหลือง IUU

ต่อยอดผลสำเร็จงานวิจัยการจัดการและถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาประมงแบบ IUU แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ในกิจการประมงไทย