กรณีศึกษา

ค่ายวิศวพัฒน์ ส่งต่อองค์ความรู้การจัดการน้ำสู่ชุมชนเพื่อความยั่งยืน

“ค่ายวิศวพัฒน์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแกนนำการส่งต่อและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดการน้ำ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรให้กับชุมชนบ้านเชตวัน จังหวัดน่าน ผลจากการสร้างฝายและบริหารจัดการน้ำร่วมกันระหว่างค่ายวิศวพัฒน์ ชุมชนและหน่วยงานราชการในพื้นที่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ทำให้เกษตรกร 43 ครัวเรือนสามารถมีน้ำใช้ประโยชน์กว่า 400 ไร่ ตลอดปี สามารถปลูกไม้ผลที่มีราคาแพงทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ สามารถลดรายจ่ายได้ครัวเรือนละ 35,813 บาทต่อไร่ต่อปี ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ทำให้ชุมชนเกิดความศรัทธาและให้ความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ และมอบที่ดินของชุมชนเพื่อสร้างศูนย์เรียนรู้ ในปี 2566 พร้อมขยายผลส่งต่อองค์ความรู้ด้านการจัดการระบบน้ำต่อไป”

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย 12 ภาควิชา รวมถึง ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสำรวจ และวิศวกรรมแหล่งน้ำ พร้อมด้วยคณาจารย์ผู้ทรงความรู้ ถือเป็นแหล่งบ่มเพาะองค์ความรู้ที่สำคัญทางการชลประทานที่พร้อมถ่ายทอดสู่นิสิต นำไปสู่การฝึกปฏิบัติจริงในการแก้ปัญหาด้านการจัดการน้ำให้กับชุมชนห่างไกล ผ่านค่ายวิศวพัฒน์ ซึ่งเป็นโครงการค่ายวิศวกรรมอาสาพัฒนาชนบทที่พร้อมปลูกฝังความเป็นผู้นำทั้งในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้แก่นิสิตจิตอาสาที่เข้าร่วมค่าย ด้วยปัญหาความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ของบ้านเชตวัน ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ซึ่งที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน 264 ครัวเรือน มีจำนวนประชากรรวม 1,067 คน ประกอบอาชีพเกษตรกรรมบนเขาสูงเป็นหลัก ชาวบ้านเพาะปลูกได้เพียงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีราคาต่ำ รายได้น้อย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของสมาชิกในชุมชน พื้นที่บ้านเชตวันแห่งนี้จึงต้องการองค์ความรู้ด้านชลประทานและการจัดการระบบน้ำอย่างยิ่งยวด และได้กลายเป็นสนามฝึกภาคปฏิบัติ living lab ของนิสิตค่ายวิศวพัฒน์อย่างต่อเนื่องถึง 7 รุ่น และมีนิสิตจิตอาสาผ่านโครงการนี้มาแล้วถึง 1,000 คน เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันระหว่างชุมชนกับนิสิต

ค่ายอาสานี้เริ่มต้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2561 ค่ายวิศวพัฒน์เข้าสำรวจพื้นที่ในการจัดทำฝายเพื่อสร้างเป็นแหล่งน้ำ ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นและองค์การบริหารส่วนตำบล เกิดเป็นประชาคมร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำ โดยในปี 2562 เกิดฝายห้วยน้ำเพี้ย และระบบกระจายน้ำครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 200 ไร่  ในปี พ.ศ.2564 เกิดฝายตาน้ำ และระบบกระจายน้ำเพื่อบริโภค ในปี พ.ศ.2565 เกิดฝายห้วยต่างฮ้อ และระบบกระจายน้ำครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์อีก 200 ไร่ ส่งผลให้ชุมชน 43 ครัวเรือนมีน้ำใช้เพื่ออุปโภคและบริโภคได้ตลอดทั้งปี เกษตรกรสามารถปลูกไม้ผลอื่น ๆ ที่ขายได้ราคาดี เช่น ทุเรียน  โกโก้ อินทผาลัม เป็นต้น และผักสวนครัวเพื่อบริโภค สามารถลดรายจ่ายได้ครัวเรือนละ 35,813 บาทต่อไร่ต่อปี ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างความเชื่อมั่นและเชื่อใจของชุมชนบ้านเชตวันต่อค่ายวิศวพัฒน์ และในปี 2566 นอกจากการสร้างระบบผันน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และฝายชะลอน้ำขนาดเล็กแล้ว ทางชุมชนได้มอบพื้นที่ให้แก่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดสร้าง “บ้านดินทาเนีย ประชารวมใจ” ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ให้กับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่และคณะดูงานจากภายนอก พร้อมส่งต่อแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่สูงที่แห้งแล้งไปสู่ชุมชนอื่น

ที่มา :

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อื่นๆ

ภารกิจฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม “บ้านก้อแซนด์บ๊อกซ์” เพิ่มประสิทธิภาพ การฟื้นฟูป่าไม้วงศ์ยางในประเทศไทย

การฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมโดยได้กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) วางเป้าหมายที่จะรักษาผืนป่าของไทยให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งประเทศ

Chula Art Town พัฒนาชุมชนใกล้ไกลด้วยศิลปะ

ศิลปินสตรีทอาร์ต นิสิตเก่าจุฬา และนักเรียนรอบรั้วมหาวิทยาลัย ร่วมถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตของชุมชน รังสรรค์งานศิลปะบนกำแพงอาคารสถานที่ นำขยะจากชุมชนมาสร้างงานศิลปะให้กลับกลายเป็นทัศนียภาพใหม่ที่มีเสน่ห์ชวนมอง จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ใจกลางกรุงที่ดึงดูดเหล่าฮิปสเตอร์สายเช็กอินต้องห้ามพลาด

วิชาทันตกรรมชุมชนภาคปฏิบัติ : หลักสูตรใส่ใจสุขภาพปากและฟันเพื่อเด็กไทยวันนี้

แม้ประเทศไทยจะมีอัตราการเกิดของเด็กลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนต่ำกว่า 600,000 คนต่อปี มาตั้งแต่ปี 2562 แต่ทุกวันนี้ยังคงมีประชากรวัยเด็กมากกว่า 7 ล้านคนที่ภาครัฐยังคงต้องดูแลสุขภาวะด้านต่าง ๆ จากการสำรวจสถานการณ์ฟันผุในเด็กไทยพบว่าปัจจุบัน เด็กไทยเริ่มมีฟันผุตั้งแต่อายุ 9 เดือน และยังพบเด็กอายุ 3 ปี มีฟันผุเฉลี่ย 3 ซี่ต่อคน

จุฬาฯ ต้าน COVID-19 ด้วยกลยุทธ์หลายมิติ; การวินิจฉัย การรักษา และการฉีดวัคซีน

ในช่วงวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สนับสนุนงานวิจัย การบริการ และนวัตกรรมมากมายแก่สังคมเพื่อฟื้นคืนสถานการณ์ที่ตึงเครียด ซึ่งรวมถึงวิธีการวินิจฉัย แพลตฟอร์มออนไลน์ด้านการดูแลผู้ป่วย (วอร์ดเสมือน) และงานด้านศูนย์บริการวัคซีน