ดูแลคุณภาพชีวิตนิสิตครบวงจรในวิกฤตโควิด-19 ด้วยนวัตกรรม Pre-vent Protect Cure
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวิกฤติที่ไม่เพียงส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แต่ยังหมายรวมถึงระบบการศึกษาไทยที่สถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องดูแลสวัสดิภาพของนิสิตให้อยู่รอดปลอดภัยในวิกฤติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ใช้แนวคิด “CU shelter-in-place” เพื่อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นดั่งบ้านที่ปลอดภัย (Save zone) ของนิสิตกว่า 37,000 คน ฝ่าวิกฤตนี้ด้วยนวัตกรรมจุฬาฯ ทั้ง ป้องกัน (Prevent) ปกป้อง (Protect) และรักษา (Cure) และออกมาตรการดูแลคุณภาพชีวิตนิสิตจุฬาฯ อย่างครบวงจร ได้แก่
1) ดูแลสุขภาพและสุขภาวะเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี (Health and Well-being Management) โดยนำนวัตกรรมบริการ “Chula Covid-19 Strip Test Service” มาใช้ตรวจคัดกรองนิสิตกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ ผลงานที่พัฒนาจากสตาร์ทอัพจุฬาฯ กลับมาดูแลนิสิต ช่วยลดความตื่นตระหนกและความเสี่ยงจากการเดินทางไปที่โรงพยาบาล และยังได้โครงการ “CU V Care” จัดเตรียมอาคารสถานที่พักพิงกว่า 100 ห้องภายในมหาวิทยาลัยสำหรับกักแยกตัวผู้ที่มีความเสี่ยง, ผู้ที่พักฟื้นจากการติดเชื้อโควิด-19 และผู้ที่เข้าข่ายการสืบค้นโรค (Patient under Investigation หรือ PUI) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ควบคู่การจัดบริการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาโดยหน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิต (Chula Student Wellness) และศูนย์สุขภาวะทางจิต (Center for Psychological Wellness) เยียวยาสภาพจิตใจที่อาจเกิดจากความเครียดโดยไม่มีค่าใช้จ่ายด้วยเช่นกัน
2) สนับสนุนให้นิสิตสามารถเรียนและทำงานจากที่บ้านได้อย่างต่อเนื่องบนแพลตฟอร์มออนไลน์ (Work From Home (WFH), Live & Mobility) โดยแจก SIM Card ของมหาวิทยาลัย และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กแบบแบ่งปันกันเรียน (Sharing Economy) นับร้อยเครื่องจากสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ เพื่อช่วยเหลือนิสิตที่ขาดแคลนอุปกรณ์ใช้เรียนออนไลน์ด้วยอีกทางหนึ่ง
3) สื่อสารในสถานการณ์โควิด-19 (CU COVID-19 Communication) อย่างตรงไปตรงมาและใกล้ชิดกับนิสิตผ่านช่องทางออนไลน์ “จุฬาฯ รู้ สู้ COVID-19” และ Mobile Application “CUNex” ให้บริการด้านข้อมูลข่าวสาร แจ้งเตือนสถานการณ์และข้อควรปฏิบัติตนให้นิสิตรับทราบในภาวะวิกฤตนี้ได้ทันท่วงที และติดต่อแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือต่าง ๆ จากมหาวิทยาลัยได้อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังใส่ใจสวัสดิภาพด้านการเงิน จึงได้ประกาศนโยบาย “10+” และ “10++” ลดค่าเล่าเรียนลงอีกร้อยละ 10 ทุกสาขาวิชา และให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายและทุนทุกประเภทอีกกว่า 5,000 ทุน รวมงบประมาณกว่า 500 ล้านบาท เพื่อเยียวยานิสิตและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 คืนเงินค่าหอพักให้นิสิตที่มีความประสงค์กลับภูมิลำเนาเดิมร้อยละ 50 และจัดหาประกันภัยโควิด-19 ให้กับนิสิตทุกคนอีกกว่า 37,000 กรมธรรม์
ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของการดูแลคุณภาพชีวิตนิสิตครบวงจรด้วยนวัตกรรม Prevent Protect Cure ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดสรรให้กับนิสิตในวิกฤตโควิด-19 ตามแนวคิด CU Shelter-in-place
ที่มา: สำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:
อื่นๆ
แนวทางการปฏิบัติงานที่ยืดหยุ่นของจุฬาฯ : การปรับตัวเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของบุคลากร
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการปรับตัว และปรับรูปแบบในการให้บุคลากรเข้ามาปฏิบัติงาน จากที่ต้องเข้ามาปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของหน่วยงานเท่านั้น เปลี่ยนเป็นลักษณะที่มีความยืดหยุ่นขึ้น
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับการสนับสนุน ดูแล และให้บริการกับกลุ่มบุคคลผู้พิการ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของทุกคน รวมถึงกลุ่มผู้พิการที่ต้องการการสนับสนุนในรูปแบบเฉพาะ เพื่อให้สามารถเรียนรู้และใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างเต็มศักยภาพ
จุฬาฯ กับนโยบายและการลงทุนเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
Net Zero Greenhouse Gas Emissions หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและมีการจัดการอย่างเร่งด่วน ตามมติการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 26 หรือ COP26 เมื่อปี 2021 (พ.ศ. 2564) ที่สนับสนุนเป้าหมายในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันหายนะที่จะเกิดจากสภาวะอากาศสุดโต่ง
การดำเนินการนโยบายด้านความยั่งยืนกับ Outsource ของจุฬาฯ
จากการดำเนินงานตามนโยบายด้านการจัดการขยะและขยะอันตราย และ มาตรการลดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง มหาวิทยาลัยขยายการดำเนินการนโยบายด้านการบริหารจัดการขยะให้ครอบคลุมถึงร้านค้า ซึ่งเป็น Outsource ผู้ให้บริการอาหารโดยระบุในสัญญาร้านค้า ให้ปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ด้านการจัดการขยะ โดยต้องให้ความร่วมมือกับโครงการ Chula Zero Waste ที่มีเป้าหมายในการลดการก่อขยะ ส่งเสริมการแยกขยะนำกลับไปใช้ประโยชน์ และการปลูกฝังจิตสำนึกส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืนภายในมหาวิทยาลัยให้แก่นิสิต คณาจารย์ บุคลากรจุฬาฯ