กรณีศึกษา

หลักสูตร “Quick MBA from Home” แพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบบูรณาการ

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ไม่เพียงสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังส่งผลต่อระบบการศึกษา เมื่อการเรียนการสอนมิอาจจัดขึ้นได้ตามปกติเป็นเหตุให้สถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องออกแบบหลักสูตรใหม่ให้ยังสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ได้ต่อไปอย่างไม่หยุดชะงัก โดยเฉพาะในห้วงวิกฤตการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนทำให้หลายทฤษฎีหลากองค์ความรู้ทางการตลาดที่เคยใช้ได้สัมฤทธิ์ผลมีอันต้องกลายเป็นอดีตไป

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn Business School) จึงพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสพัฒนาหลักสูตรใหม่ “Quick MBA from Home” ให้เป็นหลักสูตร Free Elective Course ในรูปแบบ Voluntary System เพื่อบริการสังคมไม่แสวงผลกำไร โดยทำงานแข่งกับเวลาในภาวะวิกฤตเพียง 7 วัน ระดมคณาจารย์จุฬาฯ และผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการตลาดชั้นแนวหน้าทั้งไทยเทศร่วมกันพัฒนาหลักสูตรแบบ AGILE เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนบริหารธุรกิจสู่การสร้างคอนเทนต์ที่สดใหม่ทันต่อเหตุการณ์เรียนแบบผสมผสานผ่าน Online Open Source Platform ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ Zoom, Google, Facebook Page และ Facebook Close Group

“Quick MBA from Home” เริ่มเปิดสอนตั้งแต่ 24 เม.ย.-30 ส.ค. 2020 มีทั้งสิ้น 14 Episode สอนโดยคณาจารย์ภายในจุฬาฯ และได้รับเกียรติจากคณาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 4 แห่ง ได้แก่ Oxford University, Harvard University, Cambridge University และ Stanford University ผสานพลังกันกับนิสิตเก่าจุฬาฯ ที่ประสบความสำเร็จเป็นผู้บริหารระดับ CEO และผู้บริหารระดับอาวุโส (Upper-C Level) จากบริษัทชั้นแนวหน้าของประเทศไทย จึงได้รับความสนใจจากผู้เรียนที่มาลงทะเบียนเรียนล่วงหน้ากว่า 4,500 คน และมียอดผู้ร่วมรับชมทั่วโลกรวมกว่า 450,000 ครั้ง กลายเป็นจุดเด่นของหลักสูตรที่บูรณาการองค์ความรู้ไว้บน Online Platform ที่ผู้เรียนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนได้จากทุกที่ ทลายข้อจำกัดของการเรียนรู้ในห้องเรียนปกติ และเป็นต้นแบบการจัดการเรียนการสอนในภาวะวิกฤติที่สามารถลดขั้นตอนและต้นทุนการพัฒนาหลักสูตร โดยนำเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนมาประยุกต์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้ให้ผู้เรียนจากทั่วทุกมุมโลกนับแสนราย

หลักสูตร Quick MBA from home สร้างคุณค่าของการเรียนการสอนท่ามกลางวิกฤติไว้ในหลายมิติ ทั้งมิติการพัฒนาหลักสูตรใหม่ที่กระชับระยะเวลาจัดทำเหลือเพียง 7 วัน และยังใช้ต้นทุนการดำเนินการที่ต่ำ อีกทั้งการนำฟรีแพลตฟอร์มที่ใคร ๆ เข้าถึงได้มาใช้ยังเป็นต้นแบบให้กับการพัฒนาหลักสูตรอื่น ๆ ได้พัฒนาไปในแนวทางเดียวกันนี้ได้ต่อไป นอกจากนี้ยังสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งในหลายระดับ ทั้งกระชับความสัมพันธ์กับนิสิตเก่า เครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยระดับโลก และยังเกิดเครือข่ายของผู้เรียนนับพันที่พัฒนาขึ้นเป็น Online Business Community ทั้งหมดนี้คือผลพลอยได้อันทรงคุณค่าที่สะท้อนกลับมาเสริมความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวงกว้างอีกด้วย

ที่มา:    คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

อื่นๆ

“มายคอร์สวิลล์” ดิจิทัลแฟลตฟอร์มใหม่ เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทย

จุฬาฯ นำนวัตกรรมเยียวยาสังคมเพื่อให้การเรียนรู้ของคนไทยไม่สะดุดหยุดชะงัก แม้อยู่ในสภาวะคับขันจากมาตรการล็อกดาวน์เมืองยาวนานจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

วิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล: เปิดตัวหลักสูตรรูปแบบใหม่ มุ่งเน้นปฏิบัติงานจริง

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดหลักสูตรใหม่ “สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล (CEDT)” ในปีการศึกษา 2566 ที่เปิดรับนิสิตมากถึง 300 คนต่อปี เพื่อผลิตบัณฑิตมาเติมเต็มในตลาดแรงงานที่ยังคงขาดแคลนบุคลากรด้านดิจิทัลเป็นจำนวนมาก อีกทั้งหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตร Higher education sandbox ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน และเพิ่มทักษะในการลงมือปฏิบัติงานจริงแก่นิสิตจากการฝึกงานทุกปีตลอดการศึกษา

“ผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ให้ก้าวทันอนาคต” โครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย

กว่าทศวรรษที่ผ่านมา สถาบันอุดมศึกษาตระหนักถึง “การทำงานวิถีใหม่ในอนาคต” ที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ฉับไว และพลิกผันไปสู่สิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนของสังคมดิจิทัล ล่าสุดในปี 2564 – 2565 ภาคการศึกษา รวมทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ดำเนินการต่อเนื่องใน “โครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษา ไทย” อย่างเป็นรูปธรรม

จุฬาฯ กับรายวิชา SDGs 101

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการ ของสหประชาชาติ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อสังคม ทั้งในระบบชุมชน ประเทศ และโลก  ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้จึงได้ดำเนินการจัดทำสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ เรื่อง SDGs 101 : 17 เป้าหมายเปลี่ยนโลกสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน