กรณีศึกษา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมาตรฐานคุณภาพน้ำและแนวทางการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

การส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมและน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรน้ำให้มีคุณภาพที่ดี เป็นการปกป้องสุขภาพที่ดีให้กับมนุษย์ รวมไปถึงเป็นการปกป้องระบบนิเวศของพืชและสัตว์ที่ต้องอาศัยน้ำเพื่อการดำรงชีวิต ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน และช่วยส่งเสริมสังคมโลกให้บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย

โดยในปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการจัดการสิ่งแวดล้อมและดูแลการจัดการน้ำภายในมหาวิทยาลัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีน้ำที่มีความสะอาด ปลอดภัย และมีคุณภาพสำหรับใช้ในการอุปโภคและบริโภค รวมทั้งเป็นการช่วยลดและป้องกันปัญหามลพิษทางน้ำที่จะเกิดขึ้นจากการใช้น้ำของมหาวิทยาลัยด้วย ดังนี้

ระบบบำบัดน้ำเสียอาคาร

สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการติดตั้งระบบบ่อบำบัดน้ำเสียของอาคารในเขตพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป และโรงอาหารที่อยู่ในเขตพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบบครบวงจร โดยระบบบำบัดน้ำเสียประกอบด้วย บ่อรวบรวมน้ำเสีย บ่อดักไขมัน บ่อบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศ บ่อบำบัดน้ำเสียแบบเติมอากาศ บ่อตกตะกอน และอื่นๆ เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการช่วยลดและป้องกันปัญหามลพิษทางน้ำที่จะเกิดขึ้นจากการใช้น้ำของมหาวิทยาลัยด้วย

นอกจากการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียอาคารให้ครอบคลุมแล้ว สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังมีการจัดทำและถ่ายทอดแนวปฏิบัติการจัดการระบบบำบัดน้ำเสียอาคาร เพื่อควบคุมค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งให้ผ่านเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ให้เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลอาคารทั้งหมด ให้ได้สามารถดำเนินการเป็นขั้นตอน และสามารถตรวจสอบระบบบำบัดเพื่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในเบื้องต้น โดยกำหนดเป็นมาตรการการจัดการระบบบำบัดน้ำเสียอาคาร ดังนี้

“ระบบบำบัดน้ำเสียอาคาร” หมายถึง บ่อบำบัดน้ำเสียของอาคารในเขตพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป และโรงอาหารที่อยู่ในเขตพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยระบบบำบัดน้ำเสียประกอบด้วย บ่อรวบรวมน้ำเสีย บ่อดักไขมัน บ่อบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศ บ่อบำบัดน้ำเสียแบบเติมอากาศ บ่อตกตะกอน และอื่นๆ เกี่ยวข้อง

  1. ให้เจ้าหน้าที่ควบคุม ดูแลระบบบำบัดน้ำเสียแต่ละอาคารให้คุณภาพน้ำทิ้งที่ปล่อยออกจากอาคารผ่านตามค่ามาตรฐาน โดยปฏิบัติตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอาคารบางประเภทและบางขนาด พ.ศ. 2548 [ https://www.pcd.go.th/laws/4403 ]
  2. ให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลแต่ละอาคารทำการบันทึกการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย ตามแบบใน ทส. 1 และ ทส. 2 และรวบรวมส่งสำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประจำทุกเดือน
  3. อาคารที่เป็นระบบบำบัดน้ำเสียแบบเติมอากาศ ให้ทำการวัดค่า ความเป็นกรด-ด่าง (pH) ค่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO) และ ค่าปริมาณตะกอนที่ 30 นาที (SV30) ในบ่อเติมอากาศ อย่างสม่ำเสมอ และบันทึกค่าไว้
  4. ระบบบำบัดน้ำเสียของโรงอาหาร ให้ติดตั้งบ่อดักไขมัน และทำการเก็บไขมันที่ลอยบนบ่อดักไขมันออกทุกวันที่มีกิจกรรม
  5. ให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลแต่ละอาคารตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ เครื่องจักรที่ใช้กับระบบบำบัดน้ำเสียอย่างสม่ำเสมอ เช่น ฝาบ่อ เครื่องสูบน้ำเสีย เครื่องเติมอากาศ เครื่องสูบตะกอน หากพบว่าอุปกรณ์ เครื่องจักรชำรุด ต้องดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมโดยทันที เพื่อให้ใช้การได้โดยเร็วที่สุด

ระบบการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ

ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศปอส.) ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำหนดแนวทางและระบบการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายรวมทั้งจัดทำและถ่ายทอดแนวปฏิบัติ และกระบวนการการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ ให้นิสิต อาจารย์ นักวิจัย และเจ้าหน้าที่ที่มีการใช้ห้องทดลองปฏิบัติการและเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อป้องกันโอกาสการเกิดปัญหามลพิษทางน้ำจากการปนเปื้อนของสารเคมีและของเสียอันตรายจากการทดลองในห้องปฏิบัติการออกมากับระบบน้ำทิ้งของมหาวิทยาลัย ไปยังระบบน้ำใช้และแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

โครงการรีไซเคิลน้ำ

[ http://www.green.chula.ac.th/index.php/water/water-recycling-project/ ]

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเผชิญกับต้นทุนน้ำที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อรักษาพื้นที่สีเขียวของมหาวิทยาลัยซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่าสองตารางกิโลเมตร

จุดมุ่งหมายของโครงการนี้ คือ

  • 1) การลดการใช้น้ำและค่าใช้จ่ายภายในมหาวิทยาลัย
  • 2) การส่งเสริมการใช้น้ำรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิผล และลดการปล่อยน้ำเสียออกสู่ชุมชนโดยรอบ

มหาวิทยาลัยได้สร้างบ่อน้ำเทียมตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อรวบรวมน้ำฝนและกรองน้ำเสียจากอาคารโดยรอบ เพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืนในระยะยาว ได้มีการส่งเสริมคณาจารย์ นิสิต และบุคลากรของมหาวิทยาลัยในเรื่องการอนุรักษ์น้ำและงดทิ้งขยะในบ่อน้ำ

แผนระยะสั้นและระยะยาวดำเนินการพร้อมกัน ดังนี้

  • แผนการดำเนินการระยะสั้น
    • 1) มอบหมายให้บุคลากรดูแลระบบกรองน้ำในบ่อและบำรุงรักษาตามความจำเป็น
    • 2) รถปั๊มน้ำรวบรวมน้ำเสียที่ผ่านการกรองแล้วจากบ่อน้ำเทียมไปใช้รดน้ำพืชพรรณต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย
  • แผนการดำเนินการระยะยาว
    • 1) สร้างบ่อน้ำเพิ่มเติมตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความจุน้ำของมหาวิทยาลัยและปรับปรุงความสะดวกในการใช้งาน
    • 2) สำรวจแนวทางการใช้ปริมาณน้ำที่จะมีสูงในช่วงฤดูฝนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา:

  • สำนักบริหารระบบกายภาพ  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อื่นๆ

งานบริการที่พักนิสิต อำนวยความสะดวกเพื่อการเรียนรู้ คู่การสร้างพลเมืองที่ดี

หนึ่งในงานบริการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สร้างหอพักสำหรับนิสิต เพื่อเป็นที่พักอาศัยอำนวยความสะดวกสบายเพื่อไม่ต้องเดินทางไกลสำหรับนิสิตผู้ที่มีความจำเป็นเพื่อเป็นที่พักอาศัย ตามวิสัยทัศน์ “เพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และผาสุก”

สุขภาพดีถ้วนหน้า จุฬาฯ จัดให้

จุฬาฯ จัดพื้นที่ออกกำลังกายเพื่อให้กับนิสิต บุคลากรและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงพื้นที่ออกกำลังกายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามนโยบายของจุฬาฯ ที่มุ่งสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพประชาชน แก้ปัญหากิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ

การสนับสนุนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องการปฏิบัติงานที่ยืดหยุ่นของบุคลากร

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้คลี่คลายลงและลดระดับความรุนแรงของโรคจนกลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แต่จากการเกิดสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของทางภาครัฐ ดำเนินการปรับตัวและปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติงานของบุคลากรจากรูปแบบเดิมที่กำหนดให้บุคลากรต้องเข้ามาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของหน่วยงานภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเท่านั้น สู่ลักษณะของการปฏิบัติงานที่มีความยืดหยุ่น รองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่

จุดบริการน้ำดื่มที่สะอาด ปลอดภัย และฟรีทั่วทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำหรับทุก ๆ คน

ปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดให้มีจุดบริการน้ำดื่มฟรีกว่า 130 จุด ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อบริการให้กับนิสิตและบุคลากร ตลอดจนบุคคลภายนอกที่เข้ามาติดต่อ เยี่ยมชม หรือใช้บริการหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไปที่เข้ามาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย โดยจุดบริการน้ำดื่มนอกจากฟรีแล้ว แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยมีการดูแลความสะอาด ปลอดภัย และมีการดูแลบำรุงรักษาตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ