กรณีศึกษา

หลากหลายกิจกรรมการศึกษาเพื่อสร้างความยั่งยืนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จัดสู่ชุมชนและสังคม

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันการศึกษา มุ่งเน้นใช้องค์ความรู้ที่มีหลากหลายศาสตร์ในการพัฒนาชุมชนและสังคมให้ดีขึ้น การดำเนินการด้านหนึ่งของมหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรมด้านการศึกษาให้กับสังคมในวงกว้างทั้งกับกลุ่มศิษย์เก่า ประชาชนทั่วไป ผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่น ผู้พลัดถิ่นเพื่อให้ส่งเสริมให้คนทุกกลุ่มมีความรู้ในการดูแลตนเอง และสามารถเป็นกำลังคนที่มาช่วยในการพัฒนาชุมชนและสังคมต่อไปได้ รวมทั้งเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วย

ตัวอย่างโครงการและการดำเนินงานในช่วงปี 2566-2567

โครงการอบรมครูฝึกอบรม เพื่อการให้บริการสังคมอย่างมีส่วนร่วมในโลกไร้พรมแดน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสำนักบริหารวิรัชกิจและเครือข่ายนานาชาติ ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา ศูนย์การศึกษาทั่วไป และคณะศิลปกรรมศาสตร์ ร่วมกับ สถาบัน INEB, Civic Engagement 4.0 – Dignity, Justice, Sustainability ได้จัดโครงการอบรมครูเพื่อการให้บริการสังคมอย่างมีส่วนร่วมในโลกไร้พรมแดน โดยมีครูชาวเมียนมาที่ทำงานในศูนย์การเรียนรู้ของผู้อพยพในแม่สอด ประเทศไทย จำนวน 18 คน เข้าร่วมการอบรมในระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม และ 23-25 สิงหาคม 2567 ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสในการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนแนวทางการสอนและการจัดกิจกรรมในห้องเรียนรูปแบบใหม่ อันช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจ ความซาบซึ้งระหว่างชาติและระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งยังเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและสร้างกิจกรรมระหว่างประเทศและหลายภาคส่วน เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในเอเชีย

[ http://www.sustainability.chula.ac.th/report/3511/ ]
[ http://www.sustainability.chula.ac.th/report/3728/ ]

โครงการการจัดการองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการสืบพันธุ์สัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มศักยภาพกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงในพื้นที่จังหวัดน่าน

อ.สพ.ญ.ดร.ศราวณี ขันมณี จากสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการ พร้อมทีมนักวิจัย โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดทำโครงการการจัดการองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการสืบพันธุ์สัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มศักยภาพกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงในพื้นที่จังหวัดน่าน ให้เกษตรกรสามารถเข้าใจและเข้าถึงเทคโนโลยีพร้อมใช้ ในการผสมเทียมในแพะ-แกะ เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ ตามความต้องการ ข้อจำกัดด้านต้นทุน ทรัพยากรของชุมชน และบริบทของพื้นที่ที่แตกต่างกัน โดยโครงการนี้ได้รับการคัดเลือกเป็น “ตัวอย่างผลงาน KM มิติการใช้ประโยชน์เชิงชุมชน สังคม” ในมิติด้านการเกษตร จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และเป็นตัวอย่างผลงาน KM มิติการใช้ประโยชน์เชิงชุมชน สังคม ของงาน “NRCT OPEN HOUSE 2024”

[ https://www.cusar.chula.ac.th/post-bc/2767-2/ ]

โครงการวิศวกรรมอาสาพัฒนาชนบท (ค่ายวิศวพัฒน์)

โดยความร่วมมือของคณาจารย์และนิสิตจาก 12 ภาควิชา รวมถึง ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสำรวจ และวิศวกรรมแหล่งน้ำ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินงานเพื่อสร้างการเรียนรู้ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่ชุมชน ถือเป็นแหล่งบ่มเพาะองค์ความรู้ที่สำคัญทางการชลประทานที่พร้อมถ่ายทอดสู่นิสิตนำไปสู่การฝึกปฏิบัติจริง ในการแก้ปัญหาด้านการจัดการน้ำให้กับชุมชนห่างไกล ผ่านค่ายวิศวพัฒน์ ซึ่งเป็นโครงการค่ายวิศวกรรมอาสาพัฒนาชนบท ที่ปลูกฝังความเป็นผู้นำทั้งในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้แก่นิสิตจิตอาสาที่เข้าร่วมค่าย ด้วยปัญหาความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ของบ้านเชตวัน ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน 264 ครัวเรือน มีจำนวนประชากรรวม 1,067 คน ประกอบอาชีพเกษตรกรรมบนเขาสูง จากการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีราคาต่ำเป็นหลัก โดยในปี 2566 โครงการนี้ได้สร้างระบบผันน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และฝายชะลอน้ำขนาดเล็กให้แก่ชุมชน ทางชุมชนจึงได้มอบพื้นที่ให้แก่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดสร้าง “บ้านดินทาเนีย ประชารวมใจ” ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ให้กับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่และคณะดูงานจากภายนอก พร้อมส่งต่อแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่สูงที่แห้งแล้งไปสู่ชุมชนอื่น ทั้งนี้โครงการนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ “2023 Rakkaew Foundation National Exposition : University Sustainability Showcase” จากมูลนิธิรากแก้ว ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีภารกิจมุ่งส่งเสริม สนับสนุน สร้างกระบวนการ เตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยให้เป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่เข้าใจปัญหาสังคม และมีจิตสำนึกช่วยเหลือสังคม 

[ http://www.sustainability.chula.ac.th/th/report/3497/ ]

โครงการ Chula Engineering สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่รองรับการ Re-skill และ Up-skill ให้กับนิสิต บุคลากรทางการศึกษา และผู้สนใจทั่วไป รวมถึงนิสิตเก่า ตามแนวทาง Lifelong Learning ที่ปัจจุบันมี 8 หลักสูตรจากทั้งหมด 20 หลักสูตร ที่เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับ SDGs ได้แก่

  1. การจัดการสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมขององค์กร
  2. Social Tools for Developing Sustainable Corporate
  3. วิทยาศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  4. การปรับตัวภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  5. ปลูกธุรกิจ ปั้นอนาคต ยานยนต์ไฟฟ้า
  6. แพลตฟอร์มความรู้ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน
  7. การออกแบบกระบวนการและการพัฒนาที่ยั่งยืน
  8. กลยุทธ์การจัดทำฟาร์มคาร์บอน

[ https://www.eng.chula.ac.th/th/academics/lifelong-learning-program ]

ที่มา:

  • สำนักบริหารวิรัชกิจและเครือข่ายนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อื่นๆ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดให้มีหลักสูตรเรียนฟรีออนไลน์ จัดพื้นห้องสมุดให้ใช้ฟรี และ co-working space แก่นิสิต บุคลากร และประชาชนทั่วไป

การศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่ได้มีไว้สำหรับนักศึกษาเท่านั้น เป็นสถานที่สำหรับทุกคน จุฬาลงกรณ์ได้พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนรู้ออนไลน์อย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนแนวคิดของ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” และเพื่อเตรียมความพร้อมให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่โดยไม่ต้องไปเรียนในมหาวิทยาลัย

Chula Art Town พัฒนาชุมชนใกล้ไกลด้วยศิลปะ

ศิลปินสตรีทอาร์ต นิสิตเก่าจุฬา และนักเรียนรอบรั้วมหาวิทยาลัย ร่วมถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตของชุมชน รังสรรค์งานศิลปะบนกำแพงอาคารสถานที่ นำขยะจากชุมชนมาสร้างงานศิลปะให้กลับกลายเป็นทัศนียภาพใหม่ที่มีเสน่ห์ชวนมอง จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ใจกลางกรุงที่ดึงดูดเหล่าฮิปสเตอร์สายเช็กอินต้องห้ามพลาด

จุฬาฯ ผนึกกำลังชุมชน ติวน้อง “ละอ่อนสารักษ์ป่าน่าน” ใช้ Google Earth Pro กู้ป่าชุมชนเสื่อมโทรม

สถานการณ์ป่าน่านเสื่อมโทรมเป็นปฐมเหตุให้ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง และสถานีวิจัยคัดเลือกและบำรุงพันธุ์สัตว์ ตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ต้องผนึกกำลังกันดำเนินกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเพื่อวางแนวทางการพลิกฟื้นผืนป่าสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศป่าชุมชน “ไหล่น่าน”

เกม “Urban Green มหานครสีเขียว” เพื่อการเรียนรู้ความสำคัญของพื้นที่สีเขียวในเมือง

นับตั้งแต่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ประชากรมนุษย์ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในปัจจุบันอาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งคาดว่าแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไป เป็นเหตุให้เกิดการขยายตัวของชุมชนเมือง การขยายตัวของเมืองส่งผลกระทบต่อการใช้ที่ดินและรูปแบบของความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้พื้นที่สีเขียวที่มีตามธรรมชาติที่ลดลง เป็นไปได้ที่จะกล่าวว่าการขยายตัวของเมืองเป็นสาเหตุหลักของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต