กรณีศึกษา

โครงการปทุมวัน Zero Waste: เครือข่ายการจัดการขยะในกรุงเทพมหานคร ช่วยลดขยะเศษอาหารมากกว่า 2,000 ตัน

เขตปทุมวัน ใจกลางกรุงเทพมหานคร ที่มีจำนวนประชากรต่ำที่สุดเป็นอันดับ 3 เพียง 40,844 คน แต่ในปี 2565 กลับสร้างปริมาณขยะมูลฝอยถึง 75,549 ตัน/ปี หรือ 207 ตัน/วัน เท่ากับว่าประชากร 1 คน สร้างขยะมูลฝอยมากถึงวันละ 5 กิโลกรัม พุ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของกรุงเทพมหานคร ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของคนกรุงเทพมหานคร สร้างขยะเพียง 1.5 กิโลกรัมต่อวันเท่านั้น สาเหตุที่ทำให้ประชากรในเขตปทุมวันต้องแบกรับขยะเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากในเขตนี้มีสถานศึกษาขนาดใหญ่ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีจำนวนบุคคลากรและนิสิตมากกว่าจำนวนประชากรในทะเบียนบ้าน อีกทั้งมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่รองรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์มีผู้ใช้บริการสูงถึง 150,000 คนต่อวัน และยังมีพนักงานที่เข้ามาทำงานในสำนักงานต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ในแต่ละวัน เขตปทุมวันมีผู้คนจำนวนมหาศาลแวะเวียนเข้ามาใช้ประโยชน์และพร้อมสร้างขยะทิ้งเอาไว้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดการเพื่อลดจำนวนขยะที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในเขตนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะอินทรีย์ที่มีมากถึงร้อยละ 50 และเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของแก๊สมีเทน หนึ่งในแก๊สเรือนกระจกที่สำคัญ ต้นตอของภาวะโลกรวน

ภายในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วยไปนิสิต 38,000 คน และ บุคลากร 3,040 คน จำนวนอาคารมีมากถึง 217 อาคาร ทำให้เป็นแหล่งกำเนิดขยะแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งในเขตปทุมวัน แต่การดำเนินโครงการ การจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัย Chula Zero Waste ที่ดำเนินมาเป็น 7 ปี ซึ่งเป็นการจัดการตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยอาศัยหลักสำคัญคือ “การจัดการขยะอย่างยั่งยืน (Waste Hierarchy)” ผ่านนโยบายและปรับสิ่งแวดล้อมโดยรอบเพื่อสนับสนุนให้เกิดการลดและแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เช่น มาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แคมเปญ การสื่อสาร การติดตั้งตู้กดน้ำ จุดแยกขยะที่เป็นระบบเดียวกันทั้งมหาวิทยาลัย พัฒนาการเก็บขนและกำจัดขยะแต่ละประเภทแยกกัน เพราะแต่ละประเภทจะมีปลายทางที่เหมาะสมแตกต่างกัน เช่น เศษอาหารที่ยังไม่ปรุงสุกนำไปเข้าเครื่องแปลงเป็นสารปรับปรุงดินภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนอาหารที่เหลือจากการกินจะมีเกษตรกรมารับไปเป็นอาหารสัตว์ ขยะที่ขายได้จะถูกแยกมาขาย เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ขยะพลาสติกอื่น ๆ ที่มีสัดส่วนที่เยอะมากและเป็นปัญหาเนื่องจากไม่สามารถกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้จะนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนในการผลิตปูนซีเมนต์ ส่วนขยะอันตราย (แบตตารี่ หลอดไฟ เป็นต้น) หน้ากากอนามัย จะถูกรวบรวมและส่งกำจัดอย่างเหมาะสมเช่นกัน กระบวนการต่าง ๆ เป้าหมายลดปริมาณขยะที่จะถูกส่งไปหลุมฝังกลบให้เหลือน้อยที่สุด จากกระบวนการทำงานภายใต้หลักการ Waste Hierarchy ทำให้ที่ผ่านมาเราสามารถลดขยะและเปลี่ยนขยะให้เป็นประโยชน์ได้มากถึง 55.26% (ปี 2022)

จากการพัฒนาการทำงานของโครงการภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถเปิดให้เป็นแหล่งข้อมูล (ให้คำปรึกษา) แหล่งเรียนรู้สำหรับองค์กรต่าง ๆ ที่สนใจ โดยระหว่าง ม.ค. – ต.ค. 66 มีหน่วยงานเข้ามา 21 หน่วยงาน สำหรับการผลักดันในภาพที่ใหญ่ขึ้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการจัดการขยะของกรุงเทพฯ ในการนำข้อเสนอนโยบายให้กับผู้ว่าฯ กทม. ร่วมกับภาคีสิ่งแวดล้อม จนเกิดเป็นโครงการ “ไม่เทรวม” ซึ่งเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนแยกทิ้งเศษอาหารออกจากขยะทั่วไปเพื่อให้เขตจัดเก็บไปจัดการต่อ (ทำปุ๋ย) อีกทั้งได้ทำงานร่วมกับเขตปทุมวัน ในการจัดระบบการจัดเก็บขยะเพื่อให้สอดคล้องกับการเข้าไปผลักดันให้แหล่งกำเนิดในเขตปทุมวัน จำนวนมากกว่า 48 แห่ง มีระบบการลดและแยกขยะตั้งแต่ต้นทางภายในแหล่งกำเนิด ร่วมกับภาคีสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ผ่านโครงการ “BKK Zero Waste:ต่อยอดโครงการไม่เทรวม” นอกจากนี้การทำงานที่มุ่งมั่นและจริงจังของจุฬาฯ ยังส่งแรงกระตุ้นให้ภาคเอกชนอีกหลายที่เข้ามาร่วมมือในการผลักดันให้เกิดโครงการ “ปทุมวัน Zero Waste” โดยที่นอกจากภาคเอกชนมีระบบการจัดการขยะภายในแหล่งกำเนิดของตัวเอง ยังออกไปช่วยชุมชนรอบ ๆ ให้เกิดการจัดการขยะที่ดีขึ้นอีกด้วย ทำให้ใน 7 เดือนที่ผ่านมาประสิทธิภาพในการลดและแยกขยะภายในเขตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะขยะเศษอาหารที่แยกออกมาและจัดการอย่างเหมาะสมมีจำนวน 2,148 ตัน ซึ่งถ้าหากขยะเศษอาหารเหล่านี้ปะปนกับขยะอื่น จะสามารถก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงประมาณ 5,456 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวทำให้ผู้คนที่เข้ามาใช้ชีวิตในเขตปทุมวันเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะ ให้หันมาแยกขยะก่อนทิ้ง และพร้อมนำติดตัวไปปฏิบัติเมื่อกลับไปพักอาศัยในพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขยายผลลัพธ์ของโครงการออกไปอย่างอัตโนมัติ

ที่มา

  • โครงการ Chula Zero Waste
  • สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

อื่นๆ

โรงเรียนสาธิตการเลี้ยงสุกร

หากจะพยายามอธิบายความหมายของคำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือคำว่าความมั่นคงทางอาหารให้กับชาวบ้านที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ก็อาจจะไม่สามารถจะเข้าใจได้เลยว่ามีความสำคัญอย่างไร จนกระทั่งได้รับมอบลูกหมูให้หนึ่งคู่

ความร่วมมือจุฬาฯ กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยของข้าราชการตำรวจ (Affordable Housing for Police Officers)

สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของข้าราชการตำรวจ อันเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อชุมชน

CU Innovations for Society ภารกิจกู้วิกฤติโควิด-19 เพื่อคนไทย

“นวัตกรรมจุฬาฯ” รับใช้ชาติกู้สถานการณ์โควิด-19 ดูแลคนไทยครบทุกมิติทั้งป้องกัน (Prevent) ปกป้อง (Protect) และรักษา (Cure) ช่วยแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ทั้งยังสามารถต่อยอดขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย

เข้าใจชุมชนคนรักช้าง สู่สถาปัตยกรรมเพื่อช้าง Elephant World จังหวัดสุรินทร์

ความตั้งใจให้พื้นที่เป็นศูนย์อนุรักษ์ช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นแหล่งศึกษาข้อมูลทางวิชาการ ผลักดันให้โลกของช้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกี่ยวกับช้างแบบครบวงจร