คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย 12 ภาควิชา รวมถึง ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสำรวจ และวิศวกรรมแหล่งน้ำ พร้อมด้วยคณาจารย์ผู้ทรงความรู้ ถือเป็นแหล่งบ่มเพาะองค์ความรู้ที่สำคัญทางการชลประทานที่พร้อมถ่ายทอดสู่นิสิตนำไปสู่การฝึกปฏิบัติจริงในการแก้ปัญหาด้านการจัดการน้ำให้กับชุมชนห่างไกล
ผ่านค่ายวิศวพัฒน์ ซึ่งเป็นโครงการค่ายวิศวกรรมอาสาพัฒนาชนบทที่พร้อมปลูกฝังความเป็นผู้นำทั้งในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้แก่นิสิตจิตอาสาที่เข้าร่วมค่าย ด้วยปัญหาความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ของบ้านเชตวัน ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน
https://www.youtube.com/watch?v=0A7ykIFnHtk&t=51s
ซึ่งที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน 264 ครัวเรือน มีจำนวนประชากรรวม 1,067 คน ประกอบอาชีพเกษตรกรรมบนเขาสูงเป็นหลัก ชาวบ้านเพาะปลูกได้เพียงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีราคาต่ำ รายได้น้อย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของสมาชิกในชุมชน พื้นที่บ้านเชตวันแห่งนี้จึงต้องการองค์ความรู้ด้านชลประทานและการจัดการระบบน้ำอย่างยิ่งยวด และได้กลายเป็นสนามฝึกภาคปฏิบัติ living lab ของนิสิตค่ายวิศวพัฒน์อย่างต่อเนื่องถึง 7 รุ่น และมีนิสิตจิตอาสาผ่านโครงการนี้มาแล้วถึง 1,000 คน เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันระหว่างชุมชนกับนิสิต
ค่ายอาสานี้เริ่มต้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2561 ค่ายวิศวพัฒน์เข้าสำรวจพื้นที่ในการจัดทำฝายเพื่อสร้างเป็น แหล่งน้ำร่วมกับชุมชนท้องถิ่นและองค์การบริหารส่วนตำบล เกิดเป็นประชาคมร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำ โดยในปี 2562 เกิดฝายห้วยน้ำเพี้ย และระบบกระจายน้ำครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 200 ไร่ ในปี พ.ศ.2564 เกิดฝายตาน้ำและระบบกระจายน้ำเพื่อบริโภค ในปี พ.ศ.2565 เกิดฝายห้วยต่างฮ้อและระบบกระจายน้ำครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์อีก 200 ไร่ ส่งผลให้ชุมชน 43 ครัวเรือนมีน้ำใช้เพื่ออุปโภคและบริโภคได้ตลอดทั้งปี
เกษตรกรสามารถปลูกไม้ผลอื่น ๆ ที่ขายได้ราคาดี เช่น ทุเรียน โกโก้ อินทผาลัม เป็นต้น และผักสวนครัวเพื่อบริโภค สามารถลดรายจ่ายได้ครัวเรือนละ 35,813 บาทต่อไร่ต่อปี ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างความเชื่อมั่นและเชื่อใจของชุมชนบ้านเชตวันต่อค่ายวิศวพัฒน์
ในปี 2566 นอกจากการสร้างระบบผันน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และฝายชะลอน้ำขนาดเล็กแล้ว ทางชุมชนได้มอบพื้นที่ให้แก่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดสร้าง “บ้านดินทาเนีย ประชารวมใจ” ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ให้กับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่และคณะดูงานจากภายนอก พร้อมส่งต่อแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่สูงที่แห้งแล้งไปสู่ชุมชนอื่น
จนมูลนิธิรากแก้วซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีภารกิจมุ่งส่งเสริม สนับสนุน สร้างกระบวนการ เตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยให้เป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่เข้าใจปัญหาสังคม และมีจิตสำนึกช่วยเหลือสังคม ได้มอบรางวัลชนะเลิศ “2023 Rakkaew Foundation National Exposition : University Sustainability Showcase” พร้อมเงินสนับสนุน จำนวน 100,000 บาท ให้กับโครงการนี้ เพื่อนำไปขยายผลต่อยอดและการันตีความสำเร็จของนิสิตที่ได้รวมกลุ่มกันคิดและลงมือทำโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการจริงของชุมชน จากการนำความรู้จากห้องเรียน ความคิดสร้างสรรค์ และศักยภาพมาพัฒนาเป็นโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาและสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ที่มา
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
SDG ที่เกี่ยวข้อง
อื่นๆ
เทคโนโลยีราไมคอร์ไรซาเพื่อการปลูกและฟื้นฟูป่าอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
จากการสำรวจในปี 2564 พบว่ามีพื้นป่าเพียง 31.59% ของพื้นที่ทั้งหมดในประเทศไทย สาเหตุหลักของการลดลงของผืนป่าเกิดจาก ไฟป่า การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการเกษตรและการลักลอบตัดไม้ นอกจากนี้พื้นป่าที่เหลืออยู่ก็อยู่ในสภาพวิกฤต สภาพอากาศที่แห้งแล้งหรือการลักลอบเผาป่าอย่างผิดกฎหมาย ทำให้เกิดไฟป่า ที่นอกจากจะทำให้ผืนป่าลดลงแล้ว การเกิดไฟป่ายังทำลายสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น
วิชาทันตกรรมชุมชนภาคปฏิบัติ : หลักสูตรใส่ใจสุขภาพปากและฟันเพื่อเด็กไทยวันนี้
แม้ประเทศไทยจะมีอัตราการเกิดของเด็กลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนต่ำกว่า 600,000 คนต่อปี มาตั้งแต่ปี 2562 แต่ทุกวันนี้ยังคงมีประชากรวัยเด็กมากกว่า 7 ล้านคนที่ภาครัฐยังคงต้องดูแลสุขภาวะด้านต่าง ๆ จากการสำรวจสถานการณ์ฟันผุในเด็กไทยพบว่าปัจจุบัน เด็กไทยเริ่มมีฟันผุตั้งแต่อายุ 9 เดือน และยังพบเด็กอายุ 3 ปี มีฟันผุเฉลี่ย 3 ซี่ต่อคน
เกม “Urban Green มหานครสีเขียว” เพื่อการเรียนรู้ความสำคัญของพื้นที่สีเขียวในเมือง
นับตั้งแต่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ประชากรมนุษย์ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในปัจจุบันอาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งคาดว่าแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไป เป็นเหตุให้เกิดการขยายตัวของชุมชนเมือง การขยายตัวของเมืองส่งผลกระทบต่อการใช้ที่ดินและรูปแบบของความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้พื้นที่สีเขียวที่มีตามธรรมชาติที่ลดลง เป็นไปได้ที่จะกล่าวว่าการขยายตัวของเมืองเป็นสาเหตุหลักของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดให้มีหลักสูตรเรียนฟรีออนไลน์ จัดพื้นห้องสมุดให้ใช้ฟรี และ co-working space แก่นิสิต บุคลากร และประชาชนทั่วไป
การศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่ได้มีไว้สำหรับนักศึกษาเท่านั้น เป็นสถานที่สำหรับทุกคน จุฬาลงกรณ์ได้พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนรู้ออนไลน์อย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนแนวคิดของ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” และเพื่อเตรียมความพร้อมให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่โดยไม่ต้องไปเรียนในมหาวิทยาลัย