โครงการปรับปรุงอาคารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ในการดำเนินการเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ในด้านพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการจัดทำโครงการและแผนที่จะปรับปรุงอาคารที่มีอยู่ให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งโครงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยในเรื่องการจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอีกหลายโครงการด้วย
ตัวอย่างโครงการและแผนการดำเนินงานในช่วงปี 2566-2567
1. จุฬาฯ ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนระบบการใช้พลังงานแบบเดิม เป็นระบบการใช้พลังงานทดแทนที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอน (Zero-carbon Energy System) ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar PV development)
“จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยในเมือง จึงมีข้อจำกัดในด้านพื้นที่ การใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ในฐานะพลังงานทดแทนจึงเหมาะกับบริบทของมหาวิทยาลัยที่สุดในปัจจุบัน”
จุฬาฯได้ลงนามข้อตกลงกับการไฟฟ้านครหลวง (MEA) เพื่อดำเนินโครงการนำร่องติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารต่าง ๆ (Solar Rooftop) ซึ่งมีแผนจะดำเนินการติดตั้งทั้งหมด 65 อาคารทั่วทั้งมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ขณะนี้ได้ติดตั้งและใช้งานแล้วจำนวน 14 อาคาร และคาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จทั้งหมดภายในสิ้นปี 2566 นี้
“หากติดตั้งและใช้งานครบทุกอาคารแล้วจะสามารถทดแทนการใช้ไฟฟ้าในจุฬาฯ ได้ถึง 25% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งมหาวิทยาลัย”
นอกจากนี้ จุฬาฯ จะเน้นให้ความสำคัญกับการออกแบบอาคารสีเขียว โดยจะออกแบบการก่อสร้างอาคารใหม่ให้เหมาะสม เช่น วางผังและทิศทางที่ตั้งของอาคารให้สัมพันธ์กับการรับแดด เน้นการใช้แสงธรรมชาติเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า [ https://www.chula.ac.th/highlight/116277/ ]
2. จุฬาฯ ดำเนินการตรวจอายุการใช้งานและประเมินประสิทธิภาพอุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงานในอาคารส่วนกลาง
เช่น หลอดไฟ และเครื่องปรับอากาศ ทั้งยังมีการปรับปรุงระบบปรับอากาศภายในอาคาร โดยติดตั้งมอนิเตอร์เพื่อตรวจสอบความร้อนภายในระบบ และการใช้ระบบระบายอากาศ ระบบระบายความร้อน ตลอดจนมีการติดตั้งระบบบริหารจัดการพลังงานในอาคารอัจฉริยะ CU BEMs (Building Energy Management) ในอาคารทั่วทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อใช้มอนิเตอร์ ควบคุมและสั่งการการใช้พลังงานในแต่ละอาคารให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ลดการใช้พลังงานโดยไม่จำเป็น โดยสามารถตรวจสอบและจำกัดการใช้พลังงานในแต่ละอาคารผ่านเว็บแอปพลิเคชันและ dashboard ที่รายงานข้อมูลการใช้พลังงานสูงสุด (Peak Load) และจำนวนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งระบบนี้ออกแบบโดยหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด (Smart Grid Reseach Unit- SGRU) ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยโตเกียว และกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน
3. สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล็งเห็นว่าเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน ประเทศ ไทยควรจะมีการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางสำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City Open Platform) ที่สามารถรองรับ การเก็บข้อมูลและบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะได้แบบครบวงจร
ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยเพื่อ พัฒนา ทดสอบ และสาธิตระบบแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการทำงานของเมืองอัจฉริยะ (CU Smart City Platform) ตามวิสัยทัศน์ “SMART 5” โดยในโครงการนี้ จะเน้นที่ระบบการบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ และระบบอื่นๆ ที่เป็นส่วนเสริมการทำงาน ของระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ ทั้งนี้ ทีมวิจัยจะติดตั้งระบบเซนเซอร์ ระบบมิเตอร์ อุปกรณ์ IoT และระบบอัจฉริยะ อื่นๆ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ที่เป็นอยู่ให้รองรับการผลิตและการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะระบบผลิต ไฟฟ้าจากพลังานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ผนวกกับพัฒนาระบบบริหารจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในอาคารให้ เหมาะสม นอกจากระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะแล้ว จะสาธิตการเชื่อมต่อของ CU Smart City Platform กับระบบ จัดการสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ระบบการสัญจรอัจฉริยะ และระบบการรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงข้อมูล ด้านต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อให้เกิดเป็นชุมชนอัจฉริยะภายในพื้นที่จุฬาฯ ด้วย
โดยได้เริ่มการดำเนินงานตามแผนงานที่กำหนดในช่วงปลายปี 2566 โดยผลผลิตของโครงการ (Output) ที่คาดหวังในปี 2567 คือ ได้แพล็ตฟอร์มมหาวิทยาลัยอัจฉริยะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ “SMART 5” คือ ระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ (SMART ENERGY) ระบบตรวจวัดสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (SMART ENVIRONMENT) ระบบรองรับการสัญจรอัจฉริยะ (SMART MOBILITY) ระบบประสานกับความปลอดภัยอัจฉริยะ(SMART SECURITY) ระบบผสานการสื่อสารกับชุมชนอัจฉริยะ (SMART COMMUNITY) ที่มีความพร้อมของการให้บริการของแพล็ตฟอร์มมหาวิทยาลัยอัจฉริยะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จะต้องมีข้อมูลครบถ้วนร้อยละ 100 ของส่วนงานทั้งหมดภายในพื้นที่เขตการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา:
- สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
SDG ที่เกี่ยวข้อง
อื่นๆ
นิสิตกับการบริหารงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับนิสิตในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักของมหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นให้นิสิตมีบทบาทในการดูแลสิทธิและความเป็นอยู่ของตนเอง เพื่อให้เสียงของนิสิตได้รับการรับฟังและสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางที่เกี่ยวข้องกับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจึงเปิดโอกาสให้นิสิตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนิสิตโดยตรง
การพัฒนาพื้นที่ของจุฬาฯ อย่างยั่งยืน ฟื้นฟูสวนหลวง-สามย่าน BLOCK 33 : Residential & Wellness
โครงการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่สวนหลวง-สามย่านสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะและอาคารเขียว โดยใช้แนวความคิดจากการเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียว สร้างความเป็นชีวิต (Life Style) สร้างที่พักอาศัยคุณภาพ (Live Style) จนก่อเกิดพื้นที่เรียนรู้ (Learning Style) มุ่งเน้นการออกแบบก่อสร้างอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
จุฬาฯ วางแนวทางแก้ปัญหาน้ำระยะยาวผ่านงานวิจัยหลากมิติ เสนอกลยุทธ์บริหารจัดการน้ำยั่งยืนเพื่อชาติร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในมิติของการมุ่งแก้ปัญหาประเทศในระดับมหภาคหลายด้าน โดยการบริหารจัดการน้ำเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับการบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทย ที่มุ่งแก้ปัญหาแบบองค์รวมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ โดยใช้องค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการคุณภาพน้ำสร้างให้เกิดมาตรฐาน
การออกแบบอาคารเขียว ตามมาตรฐาน TREES กับการสร้างอาคารใหม่และการปรับปรุงอาคารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน
ภายในพื้นที่ กว่า 1,153 ไร่ ในการดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงาน ส่วนอาคารเรียน และอาคารที่ใช้เพื่อการสนับสนุนด้านการเรียนการสอนในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยไม่ต่ำกว่า 200 อาคาร การใช้อาคารดังกล่าว มีการใช้พลังงานและทรัพยากรในการใช้งานและดูแลรักษาเป็นอย่างมาก เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงให้ความสำคัญและกำหนดแนวทางในการก่อสร้างอาคารใหม่หรือการปรับปรุงอาคารที่มีอยู่ โดยส่งเสริมให้มีการออกแบบอาคารที่ช่วยประหยัดพลังงาน ประหยัดน้ำ และมีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด