กรณีศึกษา

การออกแบบอาคารเขียว ตามมาตรฐาน TREES กับการสร้างอาคารใหม่และการปรับปรุงอาคารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน

ภายในพื้นที่ กว่า 1,153 ไร่ ในการดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงาน ส่วนอาคารเรียน และอาคารที่ใช้เพื่อการสนับสนุนด้านการเรียนการสอนในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยไม่ต่ำกว่า 200 อาคาร การใช้อาคารดังกล่าว มีการใช้พลังงานและทรัพยากรในการใช้งานและดูแลรักษาเป็นอย่างมาก เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงให้ความสำคัญและกำหนดแนวทางในการก่อสร้างอาคารใหม่หรือการปรับปรุงอาคารที่มีอยู่ โดยส่งเสริมให้มีการออกแบบอาคารที่ช่วยประหยัดพลังงาน ประหยัดน้ำ และมีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้ยึดแนวคิดการออกแบบอาคารเพื่อส่งเสริมให้เป็นอาคารเขียว (Green Building) ดังนี้

ด้านการออกแบบ ก่อสร้าง และปรับปรุงอาคาร

การออกแบบ ก่อสร้าง และปรับปรุงอาคารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเน้นส่งเสริมให้มีการออกแบบอาคารที่ช่วยประหยัดพลังงาน ประหยัดน้ำ และมีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัย จึงมีนโยบายและจัดทำ “คู่มือการออกแบบอาคารและสถานที่ เขตการศึกษา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย” กำหนดให้การก่อสร้างอาคารใหม่ การบริหารจัดการ และการซ่อมแซมปรับปรุงอาคาร ส่วนประกอบของอาคาร รวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในทุกอาคาร สถาปนิกผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงาน รวมถึงหน่วยงานเจ้าของอาคารต้องวางแผนและดำเนินการให้ได้ตามมาตรฐานพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร และกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร [ https://asa.or.th/laws-and-regulations/cba/ ] และยังต้องคำนึงถึงการดำเนินการให้ได้ตามมาตรฐานด้านการอนุรักษ์พลังงานและความยั่งยืน หรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พระราชบัญญัติการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน [ https://asa.or.th/laws-and-regulations/ ] เกณฑ์สำหรับการเตรียมความพร้อมการก่อสร้างและอาคารปรับปรุงใหม่ (TREES-PRE NC) โดยสถาบันอาคารเขียวไทย (Thai Green Building Institute) [ https://tgbi.or.th/ ]

อาคารจามจุรี 9
อาคารจามจุรี 10

นอกจากนี้ ในด้านการออกแบบและปรับปรุงอาคารต่าง ๆ ยังให้ความสำคัญถึงการออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานของกลุ่ม universal design ในทุกพื้นที่ โดยมหาวิทยาลัยได้ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคารที่กำหนดให้มีทางลาดหรือลิฟต์ให้กับคนพิการ รวมทั้งการมีห้องน้ำคนพิการ ระบบการนำทางในพื้นที่ภายนอกอาคารที่ได้มาตรฐาน ซึ่งทำให้การใช้งานในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมิตรกับผู้ใช้งานในทุกสถานภาพ

ด้านการประหยัดพลังงาน และทรัพยากร

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำหนดแนวทางการออกแบบอาคารเพื่อการประหยัดพลังงาน เช่น การออกแบบตัวอาคารให้มีความโปร่งเพื่อให้อาคารได้รับความเย็นจากลมธรรมชาติ และสามารถระบายถ่ายเทอากาศได้ดี การปรับปรุงระบบปรับอากาศให้มีความทันสมัย ประหยัดการใช้พลังงาน การเลือกใช้วัสดุที่เป็นส่วนประกอบของอาคารหรือซ่อมแซม เช่น กระจกภายนอกอาคาร ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันความร้อนเข้าสู่อาคาร (Low E) รวมทั้งการเลือกใช้วัสดุอาคารที่เป็นวัสดุที่เกิดจากการผลิตจากวัสดุที่มีการนำมาใช้ใหม่ (Recycling material construction product) และการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารต่าง ๆ​ (Solar Rooftop)  เช่น อาคารจามจุรี 9 อาคารมหาธีรราชานุสรณ์ (หอสมุดกลาง) อาคารสมเด็จย่า 93 ซึ่งแนวทางดังกล่าวช่วยให้ เกิดการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในอาคารที่มีการปรับเปลี่ยนหรือซ่อมแซมเหล่านั้น อย่างมีนัยสำคัญ

ด้านการประหยัดทรัพยากรน้ำ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำหนดแนวทางการออกแบบอาคารเพื่อการช่วยประหยัดน้ำและการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การกำหนดให้เลือกใช้สุขภัณฑ์และอุปกรณ์ระบบท่อ ก๊อกน้ำ ต้องได้มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) โดยคำนึงถึงการประหยัดน้ำ ความแข็งแรงทนทาน และดูแลรักษาง่าย  นอกจากนี้ ยังมีการนำน้ำเสียจากการใช้น้ำของผู้ที่อาศัยภายในอาคาร CU TERRACE และ CU i HOUSE กลับมาผ่านกระบวนการบำบัดน้ำเสีย และนำมาใช้ประโยชน์ในการรดน้ำต้นไม้ภายในสวนอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ซึ่งช่วยประหยัดการใช้น้ำใหม่ได้ถึงปีละ 55 ล้านลิตร และในส่วนของการจัดการเรื่องพื้นที่สีเขียว มหาวิทยาลัยมีการเลือกปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่เหมาะสมต่อภูมิอากาศและต้องการน้ำน้อย เพื่อให้ง่ายต่อการดูแล มีความแข็งแรงทนต่อสภาพอากาศ และลดการใช้น้ำสลับกับพันธุ์ไม้อื่น ๆ ที่ปลูกอยู่ด้วย [ https://pmcu.co.th/samyan-smart-city/ ]

และในปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสำนักบริหารระบบกายภาพ ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) ได้เตรียมแผนพัฒนามหาวิทยาลัยยั่งยืน เพื่อนำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปสู่มหาวิทยาลัยต้นแบบของประเทศไทยที่บูรณาการการพัฒนาอย่างยั่งยืน การพัฒนาผังแม่บทและการออกแบบอาคารตามเกณฑ์ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) นับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความยั่งยืนในวงการก่อสร้างและสถาปัตยกรรมในมหาวิทยาลัยไทย [ https://www.chula.ac.th/en/news/184662/ ]

โดย LEED [ https://www.usgbc.org/leed ] เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกในการประเมินและรับรองอาคารที่มีการออกแบบและก่อสร้างอย่างยั่งยืน โดยเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงานและน้ำ การลดของเสียและมลพิษ การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการออกแบบที่ช่วยประหยัดพลังงาน การออกแบบตามเกณฑ์ LEED ไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาคมจุฬาฯ และเป็นก้าวสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม [ https://www.arch.arch.chula.ac.th/leadership-in-energy-and-environmental-design-leed-and-well-building-standard/ ]

ที่มา:

  • สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC)

อื่นๆ

แนวทางการปฏิบัติงานที่ยืดหยุ่นของจุฬาฯ : การปรับตัวเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของบุคลากร

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการปรับตัว และปรับรูปแบบในการให้บุคลากรเข้ามาปฏิบัติงาน จากที่ต้องเข้ามาปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของหน่วยงานเท่านั้น เปลี่ยนเป็นลักษณะที่มีความยืดหยุ่นขึ้น

จุฬาฯ ผลักดัน Future Literacy

Future literacy เป็นสาขาสหวิทยาการที่รวมแนวคิดจากอนาคต การมองการณ์ไกล การวางแผนเชิงกลยุทธ์ การวางแผนสถานการณ์ และการคิดเชิงออกแบบ องค์กรต้องมีผู้ความสามารถนี้เพื่อคาดการณ์และเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง และสร้างอนาคตในลักษณะเชิงรุก Future literacy เป็นทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21

บริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สนับสนุนการสร้างนวัตกร นวัตกรรม ผู้ประกอบการ และธุรกิจ ในประชาคมจุฬาฯ มุ่งสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมให้มีความสมบูรณ์

จุดบริการน้ำดื่มที่สะอาด ปลอดภัย และฟรีทั่วทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำหรับทุก ๆ คน

ปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดให้มีจุดบริการน้ำดื่มฟรีกว่า 130 จุด ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อบริการให้กับนิสิตและบุคลากร ตลอดจนบุคคลภายนอกที่เข้ามาติดต่อ เยี่ยมชม หรือใช้บริการหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไปที่เข้ามาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย โดยจุดบริการน้ำดื่มนอกจากฟรีแล้ว แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยมีการดูแลความสะอาด ปลอดภัย และมีการดูแลบำรุงรักษาตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ