กรณีศึกษา

ประเทศไทยประกาศความสำเร็จซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตจากขยะเปียกชุมชนครั้งแรกของโลก

กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ UN Thailand พร้อมด้วยพันธมิตรภาคีเครือข่ายภาคเอกชนโดย KBANK ซึ่งสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยและประชาคมมุ่งสู่ “สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์”  ประกาศความสำเร็จการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 จังหวัดนำร่องเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ภายหลังสามารถจูงใจให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการแยกขยะและจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนที่สามารถแปลงกลับมาเป็นเงินทุนให้กับหมู่บ้านและชุมชนในราคาตันละ 260 บาท โดยเฟสแรกสามารถซื้อ-ขายและส่งมอบได้ 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่าได้กว่า 800,000 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ชุมชนจะได้รับจากการขายคาร์บอนเครดิตในการดำเนินโครงการกลับคืนสู่ประชาชนและครัวเรือนที่เป็นเจ้าของคาร์บอนเครดิต เพื่อใช้เป็นทุนดำเนินโครงการพัฒนาตามความเห็นชอบของประชาคมในพื้นที่ต่อไป

โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนนี้กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่องรวมเวลาได้ 10 ปีแล้ว  โดยได้กำหนดขอบเขตของสภาพปัญหาและผลกระทบในทุกมิติ กำหนดและวาง Roadmap นำไปสู่แนวทางแก้ปัญหา และได้พัฒนารูปแบบถังขยะเปียกระบบเปิดต่อยอดสู่ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” และที่มากไปกว่านั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศาสตราจารย์ ดร.ชนาธิป ผาริโน จากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ยังได้จับมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กำหนดแนวนโยบายและการรับรองระเบียบวิธีการวิจัย (Methodology) ในการบริหารจัดการขยะของถังขยะเปียกลดโลกร้อน และส่งให้ อบก. รับรองคิดเป็นค่าคาร์บอนเครดิตร่วมกับหน่วยงานภายนอก นับเป็นครั้งแรกของโลกอีกเช่นกันที่สามารถสร้างมาตรวัดคาร์บอนเครดิตจากขยะเปียกชุมชนเป็นฐานให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับครัวเรือนผ่านกลไกของรัฐและภาคประชาสังคมแบบบูรณาการแล้ว ยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมได้อีกด้วย

โดยเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 กระทรวงมหาดไทย และ UN Thailand ได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์มุ่งสร้างความยั่งยืนให้ชุมชน และได้กำหนดเป็นนโยบายให้ผู้ว่าราชการทั้ง 76 จังหวัด นายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ กำนันทั้ง 7,255 ตำบล ได้นำไปปฏิบัติและร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนี้ให้สำเร็จ ผลปรากฏว่าเมื่อครบ 1 ปี พบว่ามีจังหวัดนำร่อง 4 จังหวัด คือ จังหวัดลำพูน สมุทรสงคราม เลย และจังหวัดอำนาจเจริญ สามารถประกาศความสำเร็จได้ก่อน พร้อมขยายผลสู่อีก 22 จังหวัด ในปี 2566 รวมเป็น 26 จังหวัด โดยคาดว่าจะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ประเทศไทยจัดเก็บได้จากขยะเปียกนี้มากกว่า 2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

คุณกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวชื่นชมความคิดริเริ่มต่าง ๆ อาทิ โครงการคัดแยกขยะที่เป็น “ตัวเร่ง SDGs” ช่วยให้ประเทศพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนตามวาระของชาติเรื่อง Bio – Circular – Green Economy : BCG (การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว) โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตครั้งแรกนี้คือหมุดหมายสำคัญจากการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไปปฏิบัติในระดับท้องถิ่นแบบทั้งองคาพยพ ทั้งภาครัฐ-สังคม 14 ล้านครัวเรือน ผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด กระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารธนาคาร และหน่วยงานสหประชาชาติ (United Nations) “สิ่งสำคัญ คือ การส่งเสริมประเทศให้มีต้นแบบตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตที่โปร่งใสเป็นรูปธรรมด้วยการสนับสนุนอย่างจริงจังขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกตลอดมา”.

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจทีได้เป็นส่วนหนึ่งของประกาศความสำเร็จนี้ของประเทศไทยที่สามารถซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตจากขยะเปียกชุมชนครั้งแรกของโลก และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้แข็งแรงได้ง่าย ๆ จากการมุ่งสร้างจิตสำนึกรักษ์โลกและเปลี่ยนพฤติกรรมแยกขยะของครัวเรือนและชุมชนทั่วประเทศ

การร่วมประชุมติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย และผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย

การเข้าร่วมพิธีซื้อขายคาร์บอนเครดิต
ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566
การเข้าร่วมพิธีซื้อขายคาร์บอนเครดิต
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567
การเข้าร่วมประชุมขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของสมาคมแม่บ้านมหาดไทย วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566
การเข้าร่วมประชุมแม่บ้านมหาดไทยสัญจร ครั้งที่ 4 วันที่ 28 มีนาคม 2567 ณ จังหวัดบุรีรัมย์
การเข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ“ความสำเร็จการคัดแยกขยะและการ ขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะรีไซเคิลชุมชน”ในงานหุ้นส่วนการ พัฒนาระหว่างสหประชาชาติประจำประเทศไทยและกระทรวง มหาดไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย
การเข้าร่วมงานประกาศความสำเร็จสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567

ที่มา

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

อื่นๆ

การสนับสนุนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องการปฏิบัติงานที่ยืดหยุ่นของบุคลากร

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้คลี่คลายลงและลดระดับความรุนแรงของโรคจนกลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แต่จากการเกิดสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของทางภาครัฐ ดำเนินการปรับตัวและปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติงานของบุคลากรจากรูปแบบเดิมที่กำหนดให้บุคลากรต้องเข้ามาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของหน่วยงานภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเท่านั้น สู่ลักษณะของการปฏิบัติงานที่มีความยืดหยุ่น รองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่

สุขภาพดีถ้วนหน้า จุฬาฯ จัดให้

จุฬาฯ จัดพื้นที่ออกกำลังกายเพื่อให้กับนิสิต บุคลากรและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงพื้นที่ออกกำลังกายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามนโยบายของจุฬาฯ ที่มุ่งสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพประชาชน แก้ปัญหากิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ

หอพักบุคลากร สวัสดิการที่เอื้อต่อการพัฒนางานของคนจุฬาฯ

ในปี พ.ศ. 2563 จุฬาฯ มีบุคลากรทั้งสิ้น 8,178 คน นโยบายการจัดสวัสดิการและบุคลากรสัมพันธ์จึงเป็นสิ่งที่จุฬาฯ ใส่ใจและดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการจัดหาที่พักอาศัยภายในหรือบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยในรูปแบบหอพัก เพื่อให้บุคลากรผูกพันและมีความสุขในการทำงาน เอื้อให้สามารถพัฒนางานอย่างมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยได้อย่างเต็มที่

นโยบายและการดำเนินการส่งเสริมพื้นที่เพื่อการเดินเท้าภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาฯ เป็นสถานศึกษาที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ในย่านใจกลางเมืองกรุงเทพฯ จึงทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นจุดเชื่อมต่อและผ่านทางไปยังจุดอื่น ๆ ได้ง่าย เพราะฉะนั้นจึงทำให้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยไม่ได้มีเพียงนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังมีผู้คนทั่วไปจำนวนมากที่เดินทางสัญจรไปมาผ่านพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ทั้งด้วยยานพาหนะ และการเดินเท้า อีกด้วย