กรณีศึกษา

จุฬาฯ ปลุกการท่องเที่ยวเมืองน่านสีเขียว

“น่าน” มีวิสัยทัศน์ประจำจังหวัด คือ “เมืองแห่งความสุข เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ธรรมชาติสมบูรณ์ เกษตรกรรมอุดมสมบูรณ์ ชุมชนแน่นแฟ้น และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” น่านได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดการพัฒนาการและเติบโตด้านการท่องเที่ยวอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยใช้ 5 กลยุทธ์ 1) ค้นหาพัฒนาและฟื้นฟูทรัพยากรการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน 2) บริหารจัดการภาครัฐและท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 3) พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านการท่องเที่ยว 4) บริหารจัดการเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ท่องเที่ยวที่หนาแน่น 5) ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวให้มีความเป็นสากลและยั่งยืน

ผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวในจังหวัดน่าน ทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม ธรรมชาติ และความเป็นเอกลักษณ์ของชาวน่าน ส่งผลให้การท่องเที่ยวในจังหวัดน่านเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสร้างรายได้ 3,000 ล้านบาทต่อปีให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดน่าน โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว (Center of Tourism Research and Development) มหาวิทยาเชียงใหม่ เปิดเผยสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาจังหวัดน่านสูงสุด อยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 มีปริมาณมากกว่า หนึ่งแสนราย ซึ่งเป็นสถิติที่สูงสุดในประวัติการณ์

อย่างไรก็ตาม ในด้านการสร้างสมดุลและความยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน ยังคงมีปัญหาและผลกระทบทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ

1) ชุมชนเมือง พบขยะในหลุมฝังกลบของเทศบาลเมืองน่านมีปริมาณมาก ขาดการลดปริมาณขยะจากต้นทาง โดยเฉพาะการขยายตัวจากภาคการท่องเที่ยวส่งผลต่อการจัดการขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมถึงขยะจากภาคการท่องเที่ยวครัวเรือน

2) ชุมชนเกษตร พบการใช้สารเคมีทางการเกษตรปริมาณมากเพื่อผลิตและส่งออกให้ตอบสนองภาคอุตสาหกรรม แต่ยังไม่สามารถผลิตเพื่อการบริโภคภายในจังหวัดได้เพียงพอและปลอดภัย

3) ขาดการใช้ทรัพยากรและกระบวนการผลิตสินค้าในท้องถิ่นแบบหมุนเวียน เน้นการนำเข้าจากภายนอกจังหวัดเป็นหลัก

4) ขาดความเชื่อมโยงระหว่างตลาดการท่องเที่ยวสีเขียวกับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของจังหวัด

จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาของสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเรื่องการท่องเที่ยวในจังหวัดน่าน ว่าจะทำให้เกิดความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างสมดุล รักษาจังหวัดน่าน และทำให้เกิดความกลางทางคาร์บอนได้อย่างไร โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ทำให้เกิดโครงการ “เที่ยวกรีน กินคลีน เสพศิลป์เมืองน่าน” เพื่อส่งเสริม ความสามารถของจังหวัดน่านในการจัดการการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนด้วยด้วยโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy) ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) โดยบูรณาการองค์ความรู้ทั้งวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สังคมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมโดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานในโครงการการวิจัยนี้ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นภายใต้องค์ประกอบการท่องเที่ยวสีเขียวใน 3 มิติ ได้แก่

  1. เที่ยวกรีน คือ การท่องเที่ยวไร้ขยะ (Zero Waste Tourism) นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตจากวัสดุหมุนเวียนหรือใช้ซ้ำในท้องถิ่น และขยะที่เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยวสามารถนำมาบริหารจัดการเพื่อใช้ประโยชน์เกิดมูลค่า
  2. กินคลีน คือการบริโภคอาหาร จากแหล่งผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ด้วยระบบการรับรองมาตรฐานแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System: PGS) โดยแปลงแหล่งผลิตสินค้าอินทรีย์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสีเขียวที่เชื่อมโยงทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าด้วยกันผ่านเส้นทางการท่องเที่ยว
  3. เสพศิลป์ คือ การเสพอัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของเมืองน่าน สร้างมูลค่าให้สามารถสัมผัสเข้าถึงได้ นำมาสู่การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นและวัสดุหมุนเวียนมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์ได้ในหลายทาง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบ “วิถีชีวิตคนเมืองน่าน”

สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมได้ริเริ่มโครงการวิจัย 5 โครงการ ได้แก่ 1) ไม้ไผ่ช่วยโลก: วัสดุในท้องถิ่นเพื่อทดแทนพลาสติก 2) ขยะไม่น่ารังเกียจ – เปลี่ยนขยะ; การจัดการขยะอย่างยั่งยืนในเขตเทศบาลเมืองน่าน 3) นวัตกรรมการแปรรูปขยะอินทรีย์ที่เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อใช้ในชุมชน 4) การพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบมีส่วนร่วม 5) การแปลงทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เปลี่ยนเทคโนโลยีเส้นใยไม้ไผ่เป็นผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์แฟชั่นที่ยั่งยืน รวมทุกองค์ประกอบเพื่อสร้างและพัฒนาแผนที่เส้นทางการท่องเที่ยวสีเขียวเพื่อแสดงเส้นทางท่องเที่ยวสีเขียวในพื้นที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อน “ความต้องการเชิงนิเวศและอุปทานสีเขียว” (Eco Demand and Green Supply)  เพื่อเพิ่มการเติบโตการท่องเที่ยวที่สมดุลและยั่งยืนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามกลยุทธ์ของ จังหวัดน่าน

[ https://husechula.wordpress.com/2022/10/04/toward-carbon-neutral-tourism/ ]

ที่มา:

  • สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

อื่นๆ

วิชาทันตกรรมชุมชนภาคปฏิบัติ : หลักสูตรใส่ใจสุขภาพปากและฟันเพื่อเด็กไทยวันนี้

แม้ประเทศไทยจะมีอัตราการเกิดของเด็กลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนต่ำกว่า 600,000 คนต่อปี มาตั้งแต่ปี 2562 แต่ทุกวันนี้ยังคงมีประชากรวัยเด็กมากกว่า 7 ล้านคนที่ภาครัฐยังคงต้องดูแลสุขภาวะด้านต่าง ๆ จากการสำรวจสถานการณ์ฟันผุในเด็กไทยพบว่าปัจจุบัน เด็กไทยเริ่มมีฟันผุตั้งแต่อายุ 9 เดือน และยังพบเด็กอายุ 3 ปี มีฟันผุเฉลี่ย 3 ซี่ต่อคน

Park @ Siam พื้นที่สีเขียวของจุฬาฯ ใจกลางเมืองเพื่อชุมชน

“Park @ Siam” พื้นที่สีเขียวใจกลางย่านการค้าสยามสแควร์ เป็นสวนสาธารณะแห่งเดียวในย่านการค้าที่มีชื่อเสียง ภายใต้การดูแลและบริหารจัดการโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU)

จุฬาฯ หวังเพิ่มประชากรเต่าทะเล หนุนตั้งเครือข่ายคุ้มครองแหล่งวางไข่ในอ่าวไทย

จำนวนเต่าทะเลในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 แม้รัฐบาลจะประกาศใช้กฎหมาย กำหนดเขตหวงห้าม ประกาศขึ้นทะเบียนเต่าทะเลในบัญชีรายชื่อของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งพันธุ์พืชป่าและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และพยายามสำรวจและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งอาศัยของเต่าทะเล เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการอนุรักษ์เต่าทะเลก็ตาม แต่จำนวนของเต่าทะเลในประเทศไทยยังคงลดลงจนใกล้ถึงจุดวิกฤต จากจำนวนมากกว่า 2,500 รังต่อปี เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเหลือเพียงปีละ 300-400 รังต่อปี เท่านั้น