กรณีศึกษา

เปิดภารกิจฟื้นฟูชายฝั่งมาบตาพุด แนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง บนเนื้อที่ทั้งหมด 12,568 ไร่ แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 5,985 ไร่ เขตพื้นที่ผนวกเพิ่ม 1,685 ไร่ เขตพื้นที่ชุมชนเมืองใหม่ 2,028 ไร่ และเขตพื้นที่บริเวณท่าเรือ 2,870 ไร่ เป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) ของประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพทั้งด้านแรงงาน การคมนาคมขนส่ง และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สามารถพัฒนาต่อยอดสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ และเป็นพื้นที่การลงทุนของอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมการผลิตมากมาย อาทิ อุปกรณ์เครื่องใช้ บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงยังช่วยส่งเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม กลุ่มโรงงานเคมีภัณฑ์ผลิตภัณฑ์เคมีและพลาสติก รวมทั้งสิ้น 64 โรงงาน และยังมีท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นหน่วยงานสนับสนุนการให้บริการทางด้านการคมนาคม และขนสินค้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

ระบบบำบัดน้ำเสียปัจจุบันของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ถูกออกแบบอย่างมีมาตรฐานให้รองรับน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากทั้งเขตอุตสาหกรรมทั่วไปและเขตพื้นที่ธุรกิจอุตสาหกรรม รวมไปถึงน้ำเสียและของเสียจากเรือจากท่าเรืออุตสาหกรรม และอยู่ภายใต้การกำกับของประกาศของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 78/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ทั่วไปในการระบายน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยมีมาตรการบังคับ อาทิ ให้การจัดการน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมทุกโรงงานต้องมีและเปิดใช้ระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นระบบท่อปิด และแยกจากระบบระบายน้ำฝนโดยเด็ดขาด และกำหนดมให้ต้องมีบ่อตรวจคุณภาพน้ำ อย่างน้อย 1 บ่อ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเก็บตัวอย่างน้ำเสียมาวิเคราะห์คุณภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมยังได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติที่ต้นและปลายคลองชากหมากก่อนระบายน้ำออกสู่ทะเล พร้อมส่งข้อมูลคุณภาพน้ำที่เป็นปัจจุบัน (On-line) มายังศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดตลอดเวลา

แม้จะมีระบบบบำบัดน้ำเสียและมาตรการต่าง ๆ ออกมารองรับอย่างเข้มข้นแล้วก็ตาม แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ทะเลชายฝั่ง อาทิ คุณภาพน้ำด้อยมาตรฐาน ปัญหาน้ำเสีย การไหลเวียนของน้ำไม่ดี อาจนำไปสู่กรณีข้อพิพาทระหว่างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดกับชุมชนโดยรอบเกือบ 40 ชุมชนซึ่งมีคนในพื้นที่อาศัยอยู่ราว 70,000 คนได้

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้สนับสนุนทุนวิจัย จึงจัดทำโครงการศึกษาสถานภาพความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่ชายฝั่งมาบตาพุด จังหวัดระยอง (ฤดูแล้ง) ขึ้นเพื่อศึกษาและสำรวจสถานภาพความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมบริเวณชายหาดมาบตาพุด ศึกษาสมุทรศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่ง รวมถึงความหลากหลายของประชาคมปลาให้ได้ข้อมูลทางวิชาการที่สามารถใช้อ้างอิงได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเมื่อทราบข้อมูลที่แท้จริงรวมถึงต้นเหตุแห่งปัญหาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากอะไร หน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้ร่วมกันกำหนดนโยบายและแนวทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งมาบตาพุดได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้โรงงานและนิคมอุตสาหกรรมเองยังได้ใช้ข้อมูลนี้เพื่อประกอบการดำเนินการตามมาตรการบำบัดน้ำเสียหรือของเสียก่อนปล่อยลงสู่ธรรมชาติ รวมถึงใช้ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลทรัพยากรของชุมชนชายฝั่งเพื่อให้ชุมชนได้เข้ามามีร่วมบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งให้ยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เริ่มดำเนินโครงการนี้ตั้งแต่ช่วงฤดูแล้งราวเดือนกรกฎาคม 2560 โดยแบ่งพื้นที่ตามบริเวณที่ได้รับอิทธิพลจากแหล่งกำเนิดมลพิษเป็น 4 พื้นที่ ได้แก่ 1) หาดตากวน เป็นพื้นที่ใกล้ฝั่งที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำทิ้งที่รับน้ำจากนิคมอุตสาหกรรม ชุมชน และการผูกทุ่นเลี้ยงหอยที่มีความหนาแน่นมาก 2) เกาะสะเก็ด เป็นพื้นที่ห่างฝั่งซึ่งมีระบบนิเวศปะการังรอบเกาะสะเก็ด และอาจได้รับอิทธิพลจากน้ำทิ้งจากนิคมอุตสาหกรรม ชุมชน และการผูกทุ่นเลี้ยงหอย 3) หาดสุชาดา และ 4) หาดแสงจันทร์ เป็นบริเวณที่ห่างออกมาจากนิคมอุตสาหกรรมแต่ยังคงได้รับอิทธิพลจากน้ำทิ้งบางส่วนเช่นกัน รวมทั้งการผูกทุ่นเลี้ยงหอยในทะเล การสร้างรีสอร์ทและร้านค้าที่รองรับการท่องเที่ยว โดยศึกษาปัจจัยสิ่งแวดล้อมในน้ำและดินตะกอน รวมทั้งการศึกษาความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสิ่งมีชีวิตบริเวณชายฝั่งควบคู่กัน โดยเมื่อเสร็จสิ้นโครงการวิจัยแล้วได้ดำเนินกิจกรรมถ่ายทอดข้อมูลและความรู้จากงานวิจัยสู่ชุมชนชายฝั่งที่อยู่ในพื้นที่ศึกษา นำผลงานวิจัยไปต่อยอด พัฒนาและจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่งมาบตาพุด โดยได้ระดมความคิดจากที่ประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหาแนวทางจัดการที่เหมาะสมเพื่อเสนอต่อผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายและการจัดการชายฝั่งในพื้นที่และระดับที่สูงขึ้นต่อไป

ที่มา:

สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อื่นๆ

“Chula-Cov19” วัคซีน mRNA สัญชาติไทยขยับเข้าใกล้ความสำเร็จ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมาทำให้เราได้เห็นศักยภาพของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยรับมือกับวิกฤติด้านสาธารณสุขระดับโลก

นวัตกรรมโดรนใต้น้ำจากจุฬาฯ กับภารกิจพิทักษ์ท้องทะเลไทย

วิทยาศาสตร์ของมวลมนุษยชาติเป็นไปด้วยความล่าช้า และทำให้ความจริงของธรรมชาติประการสำคัญยังมิถูกพิสูจน์ทราบตามหลักฐานทางวิชาการ แต่เมื่อเทคโนโลยีเจริญรุดหน้า มนุษย์จึงพัฒนานวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle : UAV) และนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในภารกิจสำรวจทางธรรมชาติเพื่อให้ผู้สำรวจได้รับความสะดวกสบายและเกิดความปลอดภัยขณะปฏิบัติงาน

รื้อถอนแท่นปิโตรเลียมกลางอ่าวไทยอย่างไร ให้ความหลากหลายทางชีวภาพในท้องทะเลไทยยังคงอยู่

เร่งสร้างองค์ความรู้ให้เพียงพอและพร้อมใช้นำมาบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลนอกชายฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะในกระบวนการวางแผนหาแนวทางที่เหมาะสม และตัดสินใจเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับกิจกรรมการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมในอ่าวไทย

การเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนพิการขาขาดทั่วประเทศไทยด้วยนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกส์เอสเพส (sPace)

โครงการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนพิการขาขาดทั่วประเทศไทยด้วยนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกเอสเพส โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว) ผ่านสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) โดยได้นำเอาผลงานวิจัยนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกส์เอสเพส มาผลิตเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้พิการขาขาดจำนวน 300 ราย ได้เข้าถึงเท้าเทียมคุณภาพสูง โดยแจกจ่ายผ่านโรงพยาบาลของรัฐจำนวน 22 แห่ง