กรณีศึกษา

จุฬาฯ ปลุกท่องเที่ยวน่านโตสมดุลและยั่งยืน ชู “เที่ยวกรีน กินคลีน เสพศิลป์เมืองน่าน”

“น่าน” มีวิสัยทัศน์ประจำจังหวัด คือ “เมืองแห่งความสุข เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ธรรมชาติสมบูรณ์ การเกษตรมั่งคั่ง ชุมชนเข้มแข็ง ท่องเที่ยวยั่งยืน” จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนเพื่อให้เป็นเมืองที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน โดยใช้ 5 กลยุทธ์สำคัญขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย ได้แก่  1) ค้นหาพัฒนาและฟื้นฟูทรัพยากรการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน 2) บริหารจัดการภาครัฐและท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 3) พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านการท่องเที่ยว 4) บริหารจัดการเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ท่องเที่ยวที่หนาแน่น 5) ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวให้มีความเป็นสากลและยั่งยืน

ผลจากการดำเนินกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวจังหวัดน่าน โดยใช้ศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติ และการแสดงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของพื้นเมืองเป็นฐานนั้นส่งผลให้การท่องเที่ยวจังหวัดน่านเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนสร้างรายได้ให้อุตสาหรรมการท่องเที่ยวจังหวัดน่าน คิดเป็นมูลค่าราว 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว (Center of Tourism Research and Development) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้เปิดเผยสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวยังจังหวัดน่านสูงสุดอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 มีปริมาณมากกว่า 1 แสนราย ซึ่งเป็นสถิติที่สูงมากเป็นประวัติการณ์

แต่ในมิติด้านการสร้างความสมดุลและยั่งยืนให้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดน่านยังพบปัญหาและผลกระทบที่ตามมาทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ

1) ชุมชนเมือง พบขยะในหลุมฝังกลบของเทศบาลเมืองน่านมีปริมาณมาก ขาดการลดปริมาณขยะจากต้นทาง โดยเฉพาะการขยายตัวจากภาคการท่องเที่ยวส่งผลต่อการจัดการขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมถึงขยะจากภาคการท่องเที่ยวครัวเรือน

2) ชุมชนเกษตร พบการใช้สารเคมีทางการเกษตรปริมาณมากเพื่อผลิตและส่งออกให้ตอบสนองภาคอุตสาหกรรม แต่ยังไม่สามารถผลิตเพื่อการบริโภคภายในจังหวัดได้เพียงพอและปลอดภัย

3) ขาดการใช้ทรัพยากรและกระบวนการผลิตสินค้าในท้องถิ่นแบบหมุนเวียน เน้นการนำเข้าจากภายนอกจังหวัดเป็นหลัก

4) ขาดความเชื่อมโยงระหว่างตลาดการท่องเที่ยวสีเขียวกับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของจังหวัด

ด้วยเหตุนี้ ภารกิจการสร้างความสมดุลและความยั่งยืนให้กับจังหวัดน่านของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จึงเกิดขึ้นและยังได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ริเริ่มโครงการ “เที่ยวกรีน กินคลีน เสพศิลป์เมืองน่าน” เพื่อมุ่งยกระดับการสร้างศักยภาพจังหวัดน่านให้สามารถบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy) ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) โดยบูรณาการองค์ความรู้ทั้งวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สังคมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมโดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานในโครงการการวิจัยนี้ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นภายใต้องค์ประกอบการท่องเที่ยวสีเขียวใน 3 มิติ ได้แก่

1.เที่ยวกรีน คือ การท่องเที่ยวไร้ขยะ (Zero Waste Tourism) นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตจากวัสดุหมุนเวียนหรือใช้ซ้ำในท้องถิ่น และขยะที่เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยวสามารถนำมาบริหารจัดการเพื่อใช้ประโยชน์เกิดมูลค่า

2.กินคลีน คือการบริโภคอาหาร จากแหล่งผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ด้วยระบบการรับรองมาตรฐานแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System: PGS) โดยแปลงแหล่งผลิตสินค้าอินทรีย์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสีเขียวที่เชื่อมโยงทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าด้วยกันผ่านเส้นทางการท่องเที่ยว

3.เสพศิลป์ คือ การเสพอัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของเมืองน่าน สร้างมูลค่าให้สามารถสัมผัสเข้าถึงได้ นำมาสู่การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นและวัสดุหมุนเวียนมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์ได้ในหลายทาง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบ “วิถีชีวิตคนเมืองน่าน”

สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จัดทำโครงการวิจัยขึ้น 5 โครงการ ได้แก่ 1) ไม้ไผ่รักษ์โลก: วัสดุท้องถิ่นทดแทนพลาสติก 2)ขยะไม่แขยง-แปลงร่างได้ บริหารจัดการขยะในเขตเทศบาลเมืองน่านอย่างยั่งยืน 3)นวัตกรรมการแปรรูปขยะอินทรีย์ จากกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อใช้ในชุมชน 4)พัฒนาต้นแบบธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม 5) แปลงทุนวัฒนธรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์สู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์จากนวัตกรรมใยไผ่อย่างยั่งยืน นำมาสอดประสานพัฒนาขึ้นเป็นแผนที่เส้นทางการท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism Route  Map) เพื่อสื่อสารรูปแบบการท่องเที่ยวสีเขียวในพื้นที่การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้เกิด “อุปสงค์รักษ์โลกและอุปทานสีเขียว” (Eco Demand and Green Supply) เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดน่านต่อไป

ที่มา:

สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG201016163050624

อื่นๆ

ค่ายวิศวพัฒน์ ส่งต่อองค์ความรู้การจัดการน้ำสู่ชุมชนเพื่อความยั่งยืน

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย 12 ภาควิชา รวมถึง ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสำรวจ และวิศวกรรมแหล่งน้ำ พร้อมด้วยคณาจารย์ผู้ทรงความรู้ ถือเป็นแหล่งบ่มเพาะองค์ความรู้ที่สำคัญทางการชลประทานที่พร้อมถ่ายทอดสู่นิสิต นำไปสู่การฝึกปฏิบัติจริงในการแก้ปัญหาด้านการจัดการน้ำให้กับชุมชนห่างไกล ผ่านค่ายวิศวพัฒน์ ซึ่งเป็นโครงการค่ายวิศวกรรมอาสาพัฒนาชนบทที่พร้อมปลูกฝังความเป็นผู้นำทั้งในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้แก่นิสิตจิตอาสาที่เข้าร่วมค่าย

พิพิธภัณฑ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: แหล่งเรียนรู้โลกกว้างที่ทุกคนเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต

ภายในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากจะเป็นที่ตั้งของคณะและสถาบันสำคัญที่ทั้งสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้นิสิตผลิตบัณฑิตให้พร้อมออกไปรับใช้สังคมแล้ว จุฬาฯ ยังได้เปิดพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงวิชาการและการอนุรักษ์ให้นิสิต คณาจารย์ และบุคลากร รวมทั้งบุคคลภายนอกที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) ศึกษาหาความรู้เสริมเพิ่มเติมทักษะต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ได้อย่างเพลิดเพลินตามอัธยาศัยในแบบสรรสาระ (Edutainment) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

เทคโนโลยีราไมคอร์ไรซาเพื่อการปลูกและฟื้นฟูป่าอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การอนุรักษ์ป่าไม้ในประเทศไทยต้องต่อสู้กับความเชื่อที่ว่า การเผาป่าจะทำให้เกิดเห็ดที่ชาวบ้านสามารถนำไปสร้างรายได้ จึงทำให้มีการแอบเผาป่าอย่างผิดกฎหมายเพื่อนำเห็ดไปขาย  การฟื้นฟูผืนป่าที่เสียหายจากการโดนเผานั้นยากกว่าการฟื้นฟูป่าไม้ที่เกิดจากสาเหตุอื่น เนื่องจากจุลินทรีย์ สารอาหาร และความชื้นในดินถูกทำลายไปด้วย

ร่วมมือกับ NGOs เพื่อขับเคลื่อน SDGs ผ่านกิจกรรมการอาสาสมัครของนิสิต

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับเป้าหมาย SDGs ทั้งหมด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมมือกับหลายองค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร(NGOs) โดยนิสิตมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเป้าหมาย SDGs ในด้านต่างๆ โดยเข้าร่วมในโครงการอาสาสมัครต่างๆ