กรณีศึกษา

CU-PIG FARMING:

โรงเรียนสาธิตการเลี้ยงสุกร

หากจะพยายามอธิบายความหมายของคำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือคำว่าความมั่นคงทางอาหารให้กับชาวบ้านที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน อย่าง เสาวลักษณ์ กันชน อายุ 61 ปี ก็อาจจะไม่สามารถจะเข้าใจได้เลยว่ามีความสำคัญอย่างไรกับชุมชนของเธอ แต่เมื่อ เสาวลักษณ์ แต่การได้รับมอบลูกหมูให้หนึ่งคู่ หลังจากการอบรมที่ศูนย์สาธิตการเลี้ยงสุกรแบบผสมผสานเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้เสาวลักษณ์เข้าใจเป็นรูปธรรมว่าหนึ่งในการพัฒนาที่ยั่งยืนคือทำให้ชีวิตที่ยากจนข้นแค้นของเกษตรกรต่างจังหวัดอย่างเธอสามารถพึ่งพาตัวเองได้

เสาวลักษณ์ ประกอบอาชีพทำนาข้าวแบบนาเช่า ได้เข้าอบรมที่ศูนย์นี้เพื่อเลี้ยงหมูเป็นอาชีพเสริม เนื่องจากอยากได้รายได้เพิ่มจากการเช่าทำนาที่ไม่สามารถมีรายได้เพียงพอในการเลี้ยงตนเองและครอบครัว

หลังการอบรม ทางศูนย์ฯ ให้ลูกหมูมา 2 ตัวคือตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมีย 1 ตัว ตอนนี้ขายตัวผู้ไปแล้ว ขายตัวผู้เอาเงินไว้เป็นทุนให้แม่พันธุ์ตัวเมีย ที่ต้องใช้เวลาในการเลี้ยงหมู 8 เดือนถึงจะได้ลูกหมู เป็นการทดลองเลี้ยงคอกแรก เสาวลักษณ์เป็น หนึ่งใน ผู้เข้าอบรมจำนวน 70 คน ที่ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาคที่จัดโครงการโรงเรียนสาธิตการเลี้ยงสุกร ภายใต้ศูนย์สาธิตการเลี้ยงสุกรแบบผสมผสานรุ่นที่ หนึ่ง นี้ มีบริการวิชาการ โดยให้น้ำเชื้อสุกรเพื่อการผสมเทียมให้กับเกษตรกรเมืองน่านโดยไม่เก็บเงิน และมองความเป็นไปได้ที่จะขยายผลต่อยอดจากงานเดิมด้วยการจัดทำ “ศูนย์สาธิตการเลี้ยงสุกรแบบผสมผสาน”

ชูศิลป์ สารรัตนะ ประธานมูลนิธิฮักเมืองน่านกล่าวว่า “โครงการนี้เป็นโครงการที่ผมได้เห็นและได้ร่วมโครงการกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในรุ่นที่ผ่านมาแล้ว เป็นโครงการที่มีประโยชน์สำหรับพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามเจตนารมณ์ของทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมูลนิธิฮักเมืองน่านที่ต้องการจะช่วยส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรแนวใหม่ เรื่องการเลี้ยงหมู”

แม้ในอดีต เกษตรกรหลายท่านมีความชำนาญและเคยเลี้ยงหมูมาแล้ว แต่การเลี้ยงหมูของเกษตรกรเองที่เคยเลี้ยงกันมา อาจจะยังไม่ถูกวิธีเท่าที่ควร เนื่องจากมีหลักวิชาการที่ต้องนำเข้ามาเสริมความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดูแลสุขภาพหมู การคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ การนำวัสดุเกษตรในท้องถิ่นมาผลิตเป็นอาหาร ซึ่งเกษตรกรยังขาดความรู้ในเรื่องเหล่านี้ แต่โครงการนี้ทางจุฬาฯ ได้นำวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ในการอบรมในหลักสูตร “ที่ดีใจที่สุดคือ มีน้องๆ เยาวชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาร่วมโครงการด้วย”

“มูลนิธิฮักเมืองน่าน” เป็นหน่วยงานในพื้นที่ที่มาทำงานในลักษณะพันธมิตรกับศูนย์นี้ ทั้งนี้โดยที่เกษตรกรผ่านทางเครือข่ายของมูลนิธิเองที่มาอบรมกับศูนย์ฯ แล้วก็เมื่ออบรมเสร็จ ทางศูนย์ ก็มอบลูกหมูโดยผ่านทางมูลนิธิให้กับเกษตรกร

“ที่นี่เป็นเหมือนกับ Learning Center อยู่ที่น่าน ในลักษณะของการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ จัดบริการวิชาการให้กับเกษตรกรและนักเรียนที่มีความสนใจอยากจะประกอบอาชีพเลี้ยงสุกร” นางนันทรัตน์ ปราบนอก ผู้อำนายการด้านบริหาร และรักษาการหัวหน้ากลุ่มงานจัดการพื้นที่สระบุรี ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค กล่าว

โดยปกติแล้วก่อนหน้านั้น ศูนย์เครือข่ายจะมีกระบวนการในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิธีการจับสัด วิธีการผสมเทียม แต่เมื่อมีศูนย์สาธิตการเลี้ยงสุกรขึ้นมา จึงเห็นว่า

 “เกษตรกรเหล่านั้นถ้ามาเรียนรู้กับศูนย์เครือข่ายแล้ว จะทำยังไงให้เขามีความเป็นไปได้ที่จะไปประกอบอาชีพจริง” นาง นันทรัตน์ กล่าว

เพราะว่าถ้ามาเรียนกับเราจบแล้ว  “ก็ต้องไปมีต้นทุนในการที่จะจัดซื้อจัดหาลูกหมูมาเพื่อที่จะทดลองเลี้ยง” ซึ่ง “เกษตรกรหรือนักเรียน มีข้อจำกัดด้านทุนทรัพย์” มองว่ามันก็ยังเป็นไปได้ยากที่เขาจะไปเริ่มได้จริงๆ ประกอบกับที่ศูนย์ฯ มีปศุสัตว์ที่เลี้ยงเองอยู่ คือ สุกร แล้วเราก็มีแผนการจัดการผสมพันธุ์สุกร คือ เพื่อสร้างแม่พันธุ์ทดแทนอยู่แล้ว  ดังนั้น เราจึงมีความคิดที่ว่า “ใช้น้ำเชื้อสุกรที่ศูนย์ฯ มีอยู่ มาผสมเทียมให้กับสุกรแม่พันธุ์” แล้วก็เกิดลูกสุกร “เราก็สามารถที่จะเอาลูกสุกร” เป็นวัสดุให้กับผู้ที่ผ่านการอบรมจากศูนย์ฯ นำไปใช้ในการที่จะเลี้ยงจริงๆ

สุดท้ายแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์ของโครงการก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในเรื่องการเลี้ยง รวมทั้งการขจัดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม ให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคง มีความรู้ที่จะนำไปพัฒนาและต่อยอดขยายผลไปในชุมชนต่อไป

ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค ได้ดำเนินการผลิตน้ำเชื้อสุกรจากห้องปฏิบัติการควบคู่กับจัดการฝึกอบรมความรู้และทักษะการผสมเทียมสุกรให้แก่เกษตรกรรายย่อยมาโดยตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เพื่อให้เกษตรกรเกิดการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารตามแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดน่าน จากผลสำเร็จของการดำเนินงานดังกล่าว ศูนย์เครือข่ายฯ จึงได้จัดทำโครงการโรงเรียนสาธิตการเลี้ยงสุกรภายใต้ศูนย์สาธิตการเลี้ยงสุกรแบบผสมผสานขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกร นักเรียน ผู้สนใจในอาชีพการเลี้ยงสุกร โดยเฉพาะเยาวชนผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ได้มีการเรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสุกร รวมถึงการลงมือปฏิบัติการเลี้ยงสุกรในพื้นที่จริง

จากความคิด คราวนี้เป็นภาคปฏิบัติจริง  ในการที่จะเอาลูกหมูให้กับเกษตรกรและนักเรียนที่ผ่านการอบรมแล้ว “ซึ่งเราก็โชคดี คือได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิฮักเมืองน่าน” ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็งอยู่ในพื้นที่ ศูนย์ฯ ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปประสานเพื่อที่จะให้ข้อมูลว่าเรากำลังจะทำอะไรอยู่ และเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับมูลนิธิฮักเมืองน่านที่เขาทำอยู่ในจังหวัด  “เกษตรกรแต่ละคนจะได้ลูกหมู 1 คู่ เป็นลูกหมูตัวผู้แล้วก็ตัวเมีย” เขาต้องไปฝึกเลี้ยงเองก่อน ตามที่ได้มาเรียนรู้จากเรา  “เมื่อลูกหมูโตขึ้นก็จะกลายเป็นหมูขุน ซึ่งเขาสามารถที่จะผสมเทียมเพื่อที่จะสร้างลูกหมูทดแทนขึ้นมาได้ ในขณะเดียวกันก็จำหน่ายหมูขุนได้ด้วย”

เงื่อนไขของโครงการ จะระบุจำนวนลูกสุกรที่จะมอบให้เกษตรกรที่ผ่านอบรม นำไปฝึกเลี้ยงเพื่อสร้างอาชีพ เมื่อเลี้ยงจนกระทั่งมีลูกสุกรเกิดขึ้น เกษตรกรต้องส่งคืนลูกสุกรให้กับโครงการ นำไปเตรียมมอบให้เกษตรกรรายอื่นๆ ที่ผ่านการอบรมแล้ว ได้ยืมลูกสุกรไปเลี้ยงต่อ  ดังนั้นจะมีลูกสุกรทดแทนพอเพียงต่อเนื่อง สำหรับเกษตรกรหรือนักเรียน ที่จะเข้าอบรมในรุ่นถัดๆไป เพื่อให้โครงการนี้มีความยั่งยืนต่อไปได้

สำหรับเสาวลักษณ์นั้น แม้บางขั้นตอนการเลี้ยงหมูก็เข้าใจ บางขั้นตอนก็ไม่เข้าใจ แต่ “ทำให้เรามีรายได้เข้ามาเหมือนเราฝากเงินในธนาคาร เวลาเลี้ยงหมูมันก็สนุก เวลาไปให้อาหาร ไปช่วยกันล้างคอกหมู ได้ทำกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อนบ้าน”

ในการจัดหาพื้นที่เลี้ยงนั้น ใช้วิธีเลี้ยงร่วมกันกับเพื่อนบ้าน เลือกบ้านที่มีแหล่งน้ำเพื่อความสะดวก เพราะต้องใช้น้ำล้างคอก อาบน้ำให้หมู มีบ่อบาดาล ทำให้สะดวกในการเลี้ยง “อยากเข้าอบรมอีกครั้งเพื่อฟื้นฟูความรู้ในการเลี้ยง” เมื่อหมูมีปัญหา เช่น ท้องร่วง เป็นแผล จะโทรปรึกษาคุณหมอที่เป็นประจำทางศูนย์ฯ และปศุสัตว์จังหวัดในตัวเมือง

 เสาวลักษณ์รู้สึก “ประทับใจเจ้าหน้าที่ที่ไม่ทอดทิ้งเลยนะ มาดูแล ช่วยแก้ปัญหาอยู่ตลอด หากมีอะไรก็โทรหาเจ้าหน้าที่ได้ตลอด เจ้าหน้าที่ทุกคนก็ใจดีมากนะ เป็นกันเอง” 

โครงการโรงเรียนสาธิตการเลี้ยงสุกรภายใต้ศูนย์สาธิตการเลี้ยงสุกรแบบผสมผสาน มีหลักสูตรการเลี้ยงสุกรเบื้องต้น หลักสูตรการตรวจสภาพความเป็นสัด การผสมเทียมและการผลิตอาหารสุกร หลักสูตรการรีดน้ำเชื้อสุกรเพื่อการผสมเทียม ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมอบรมต้องเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จำนวน 86 ชั่วโมง

ที่มา:

ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

อื่นๆ

การส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงแพะและผลิตภัณฑ์จากน้ำนมแพะ ในอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี

ในพื้นที่ในเขตมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรีนั้น ผู้ที่ผ่านไปมาอาจจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของภาพข้างทางใหม่ๆ แทนที่จะได้เห็นโคนมในโรงเลี้ยง หรือในไร่ แต่กลับจะเป็นฝูงแพะแทน เนื่องจากเกษตรกรแถบนี้ได้เริ่มเปลี่ยนแนวของอาชีพจากการเลี้ยงโคนมมาทำการเลี้ยงแพะนมมากขึ้น ด้วยเหตุผล คือ ขาดผู้รับช่วง ต้นทุนการเลี้ยงแพะนมต่ำกว่าโคนม ใช้พื้นที่น้อยกว่า และการดูแลที่ไม่ยุ่งยาก

เกม “Urban Green มหานครสีเขียว” เพื่อการเรียนรู้ความสำคัญของพื้นที่สีเขียวในเมือง

นับตั้งแต่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ประชากรมนุษย์ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในปัจจุบันอาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งคาดว่าแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไป เป็นเหตุให้เกิดการขยายตัวของชุมชนเมือง การขยายตัวของเมืองส่งผลกระทบต่อการใช้ที่ดินและรูปแบบของความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้พื้นที่สีเขียวที่มีตามธรรมชาติที่ลดลง เป็นไปได้ที่จะกล่าวว่าการขยายตัวของเมืองเป็นสาเหตุหลักของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต

การพัฒนาเครือข่ายชุมชนเกษตรด้วยระบบเกษตรแบบยั่งยืน

จุฬาฯ จัดทำโครงการ “การพัฒนาเครือข่ายชุมชนเกษตรด้วยระบบเกษตรแบบยั่งยืน” โครงการนี้ส่งเสริมการสร้างทักษะและความรู้ด้านระบบการผลิตและแนวทางการตลาดที่จะผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายกลุ่มเกษตรกร

จุฬาฯ หนุนใช้นวัตกรรมกู้วิกฤตประมงไทย ผุดวิธีแก้ประมงผิดกฎหมาย ช่วยชาติปลดล็อคใบเหลือง IUU

ต่อยอดผลสำเร็จงานวิจัยการจัดการและถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาประมงแบบ IUU แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ในกิจการประมงไทย