กรณีศึกษา

CU-ORGANIC CIRCLE:

โครงการ Organic Circle: นวัตกรรมการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ครบวงจร

การปลูกผักออแกนนิกนั้น ปัญหาที่สำคัญสุดคือทุกอย่างต้องเป็นอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นแปลงผัก น้ำที่ใช้รด และส่วนที่สำคัญอันหนึ่งคือปุ๋ยที่ต้องอินทรีย์ ยิ่งถ้าทำแปลงผักอินทรีย์ใหญ่เพื่อการส่งตลาด ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพดี ก็ต้องมีจำนวนมากพอ แต่ทำอย่างไรที่จะมีปุ๋ยอินทรีย์มากพอเพียงกับความต้องการ

ปัญหานี้ เกษตรกรที่บ้านใหม่สามัคคี หมู่ 9 ตำบลเมืองจัง อ.ภูเพียง จังหวัดน่าน ได้รับการแก้ไขแล้วด้วยการเลี้ยงแกะเนื้อ และเป็นการเลี้ยงแกะแบบอินทรีย์ ซึ่งเป็นตัวต่อสำคัญในการทำเกษตรอินทรีย์ที่ทำได้ครบวงจร

ด้วยความช่วยเหลือและคำแนะนำจากนักวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการ “Organic Circle: นวัตกรรมการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ครบวงจร” เกษตรกรกลุ่มแรกที่เข้ามาร่วมในโครงการนี้จำนวน 25 คน พบว่าพวกเขาจะมีรายได้จากการขายผักอินทรีย์ แต่ยังมีรายได้เพิ่มจากการขายแกะเนื้อที่เลี้ยงแบบอินทรีย์ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดและมีราคาสูง

“เกษตรกรจะได้รับการอบรมในการเลี้ยงแกะที่แทบจะไม่ต้องมีต้นทุนในการหาอาหาร เกษตรกรสามารถหาหญ้าหรือพืชอาหารสัตว์ในท้องถิ่นมาเลี้ยงแกะได้ โดยที่ไม่ต้องใช้เงินไปซื้อ ทำให้มีการใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์” ผศ. น.สพ.ดร. วินัย แก้วละมุล (Winai Kaewlamun) สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ อธิบาย

“เมื่อได้มูลแกะก็จะนำมาทำปุ๋ยหมักและนำไปใช้ในการบำรุงดินเพื่อการปลูกพืชผักต่าง ๆ ทำให้มีการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรในฟาร์มอย่างคุ้มค่า ลดต้นทุนการผลิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

น่านเป็นเมืองต้นน้ำแต่คนน่านแทบไม่ได้ใช้น้ำ เพราะน้ำไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาไปหมด การที่ชาวบ้านประกอบอาชีพปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ เพราะเขาไม่มีทางเลือก แต่การปลูกข้าวโพดมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการทำลายหน้าดิน และพื้นที่ป่าจำนวนมาก ฉะนั้น การปลูกผักอินทรีย์ควบคู่กับการเลี้ยงแกะเนื้ออินทรีย์ เป็นอีกอาชีพทางเลือกของเกษตรกรที่จะไปทดแทนการปลูกข้าวโพดบนพื้นที่สูง ลาดชัน เป็นการคืนพื้นที่ป่าหรือลดการทำลายหน้าดินจากการทำไร่ข้าวโพด และสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกรได้

นายขวัญประชา วังสนิท เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการนี้ กล่าวว่า เขารู้สึกตื่นเต้นกับโครงการนี้มาก เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่มีสถาบันวิชาการแบบจุฬา ร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน นำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ในพื้นที่

“มีสมาชิกของวิสาหกิจนำร่องจำนวน 25 คนเข้าร่วม ซึ่งมีชาวบ้านรอดูผลลัพธ์จากโครงการอยู่” นายขวัญประชาเล่าอย่างกระตือรือร้น

เกษตรกรได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำตลาดล่วงหน้า หรือเรื่องระบบอินทรีย์ ซึ่งเกษตรจำนวนหนึ่งไม่เชื่อว่าเรื่องนี้สามารถทำได้จริง รวมทั้งเรื่องที่นวัตกรรมสามารถลดการใช้แรงงานชาวบ้านลง ดังนั้นเกษตรกรชุดนำร่องก็จะแสดงให้คนอื่นๆ เชื่อได้ว่าสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้ “เป็นไปได้” และไม่ยากเกินไป

เช่นเดียวกันกับการเลี้ยงแกะ แม้จะเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็ไม่ยาก เพราะเจ้าหน้าที่ศูนย์ร่วมดูแลใกล้ชิด

“อาหารแกะในหน้าแล้งจะเป็นหญ้าและข้าวโพดหมัก โดย มีแปลงปลูกหญ้าและข้าวโพดอยู่ภายในศูนย์ฯ และมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ คอยให้อาหาร โดยมีการอบรมให้คำแนะนำก่อนเกษตรกรจะนำแกะไปเลี้ยง” นายขวัญประชาเล่า แม้จะมีปัญหาสุขภาพแกะบ้าง แต่มีนิสิตของจุฬาฯ และอาจารย์วินัยมาช่วยดูแล

เกษตรกรผู้สนใจจะได้รับแกะไปดูแล 3 ตัว โดยมีเงื่อนไขว่าภายใน 1 ปี 6 เดือน ต้องคืนลูกแกะมาที่ศูนย์ 3 ตัว เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนไปให้เกษตรกรรายใหม่ที่สนใจ

นายด้าย แสงดวงแก้ว อายุ 53 ปีทำไร่ข้าวโพดมายี่สิบปี แม้จะมีรายได้พอประมาณ แต่สารเคมีพิษที่ใช้ปีละ 100 กว่าลิตรทำให้ต้องมีค่าใข้จ่ายในการรักษาภรรยาครั้งละหลายหมื่นจากปัญหาสัมผัสสารเคมีพิษ นอกจากนั้นก็ยังติดหนี้สินจากการทำไร่ข้าวโพดเมื่อตัดสินใจเลิกทำไร่ข้าวโพด นายด้ายก็มาเป็นหนึ่งในอาสาสมัครทดลองเลี้ยงแกะกับสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ แม้เพื่อนบ้านจะเตือนว่า เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด เพราะจะไม่มีตลาดสำหรับเนื้อแกะ แต่เมื่อนายด้ายทดลองเอาเนื้อแกะไปอบโอ่งให้ชาวบ้านกิน การกินแกะก็กลายเป็นเรื่องความอร่อย

“แต่ก่อนมีวัวเลี้ยงกันเต็มทุ่ง แต่ตอนนี้เหลือแค่ 7 ตัว ชาวบ้านจะเอาเนื้อที่ไหนกิน” นายด้ายกล่าวด้วยความเขื่อมั่นว่าเลี้ยงแกะเนื้อมีตลาดแน่นอน ถ้าเมื่อไหร่ตลาดโต ชาวบ้านจะได้เลิกทำไร่ข้าวโพด

ก่อนหน้านี้การทำไร่ข้าวโพดเป็นทางรอดทางเดียวของเกษตรกรแม้ต้องรับพิษจากสารเคมีและเป็นหนี้สินจากการซื้อสารเหล่านี้มาใช้และติดกับดักในวงจรอุบาทว์นี้ แต่เมื่อไม่ถึงปีที่ผ่านมา

หลังจากที่นายด้ายได้เริ่มเลี้ยงแกะพร้อมทำเกษตรอินทรีย์เขาพบว่าหนี้สินที่มีอยู่ค่อยๆ ลดลง ครอบครัวมีพลานามัยที่ดีขึ้น

“การเลี้ยงแกะใข้พื้นที่น้อย และอาหารที่เป็นหญ้าก็ใช้ไม่มาก” แม้เพิ่งจะเริ่มทดลองเลี้ยงแกะและทำเกษตรอินทรีย์ไม่นาน นายด้ายก็เห็นอนาคตที่สดใสในการเลี้ยงแกะถึงขนาดว่าจะปรับพื้นที่ 17 ไร่ของตนเองให้เป็นฟาร์มแกะ ที่แกะสามารถเดินไปมาได้

“ผมได้แกะตัวเมียมา 3 ตัว ถ้าผมมี 30 ตัว ผมก็จะได้ลูก 60 ตัว ขายได้ตัวละ สองพันบาท ปีนึ่งก็จะได้เงินหลายบาทอยู่” นายด้ายยังปลูกข้าวโพดก็จริง แต่ปลูกเพื่อเป็นอาหารแกะ และสัตว์อื่นๆ โดยไม่ใช้สารเคมีมานานแล้ว

ด้านการทำผักเกษตรอินทรีย์นั้น ปัญหาใหญ่คือการทำการตลาด แต่ด้วยความช่วยเหลือจากโครงการ ขณะนี้มีกลุ่มนี้มีการทำตลาดล่วงหน้าเกี่ยวกับการขายผัก ซึ่งทำให้เกิดเงินหมุนเวียนเข้ามาในกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ประมาณเดือนละ 4,000-5,000 บาท
อย่างไรก็ตามโครงการนี้ ได้ใช้นวัตกรรมในกระบวนการผลิตเกษตรอินทรีย์นั้นตั้งแต่จุดเริ่มต้น คือการเตรียมพื้นที่เกษตรที่เปลี่ยนจากพื้นที่การใช้สารเคมี มาเป็นพื้นที่ที่ปลอดสารเคมีอย่างแท้จริง

ผศ. น.สพ.ดร. วินัยได้อธิบายว่า ก่อนการเริ่มต้นของการผลิต ทีมงานนวัตกรรมต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมจุลินทรีย์ย่อยสลายสารเคมีตกค้างในดินของเกษตรกรที่เข้าร่วม เพื่อลดการปนเปื้อนจากสารเคมีตกค้าง ซึ่งจุลินทรีย์นี้นอกจากจะย่อยสลายสารตกค้างแล้วยังช่วยปลดปล่อยธาตุอาหารที่อยู่ในดินให้อยู่ในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ได้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังนำเทคโนโลยีชีวภาพจุลินทรีย์การควบคุมโรคพืชและจุลินทรีย์ช่วยในการปรับปรุงดินมาใช้ในการปรับปรุงดินและควบคุมโรคพืชแทนการใช้สารเคมีในการกำจัดเชื้อก่อโรคในพืช รวมทั้งได้มีการจัดการน้ำด้วยเทคโนโลยีเซนเซอร์ ทำให้ลดการใช้แรงงานคน และมีการลดการใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดเชื้อก่อโรคในพืชผัก โดยการใช้วิธีการควบคุมทางชีวภาพแทน (Biological Control)ที่ศูนย์นี้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่จัดสรรให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตร ซึ่งเปิดโอกาสให้เกษตรกร บุคคลทั่วไป และนักเรียน เข้ามาเรียนรู้ได้ ในการดำเนินงานของโครงการที่ทั้งเด็กนักเรียน เกษตรกรและบุคคลทั่วไปที่เห็นตัวอย่าง เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี เกิดเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

“เราอยากให้เขาเห็นถึงวิถีในการเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิมที่ทำตามๆ กันมา มาเป็นเกษตรแบบสมาร์ท คือ มีการวางแผน มีการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทาง” ผศ. น.สพ.ดร. วินัยอธิบาย

นอกจากนั้น ยังเกิดเครือข่ายในการทำงานร่วมกันระหว่างคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และระหว่างมหาวิทยาลัยและชุมชน และระหว่างหน่วยงาน นำไปสู่การบูรณาการในด้านความเชี่ยวชาญต่าง ๆ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและพัฒนาการเกษตรครบวงจร
“ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับโครงการนี้” ผศ. น.สพ.ดร. วินัย เน้น “ก็คือการที่เป็นโครงการความร่วมมือ ที่ไม่ใช่จุฬาฯ อย่างเดียว แต่เป็นความร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กับ ท้องถิ่นในการที่จะเดินร่วมกัน ภายใต้ความร่วมมือตรงนี้มันก็จะนำไปสู่ความยั่งยืน” ผศ. น.สพ.ดร. วินัยกล่าว

“เพราะมันไม่ใช่การให้ที่หยิบยื่นโดยที่เจ้าตัวไม่ได้รับ แต่มันเป็นการทำร่วมกัน เป็นจิ๊กซอว์ที่จะเติมเต็ม” ผศ. น.สพ.ดร.วินัยอธิบายต่อ เริ่มมีเกษตรกรเอาแกะไปเลี้ยงขยายผล ก็จะเกิดเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น แม้ว่ามันจะยังไม่เยอะมาก

“แต่มันเพิ่งเริ่มต้นและเราเชื่อว่ามันจะเกิดการขยายผลในวันข้างหน้า” เขากล่าว

โครงการนี้ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่าง

  1. สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  3. คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  4. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
  5. ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
  6. วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักปลอดสารพิษบ้านใหม่สามัคคี ม.9 ตำบลเมืองจัง
  7. คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้ประสานงาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. วินัย แก้วละมุล
อีเมล winai.k@chula.ac.th
โทร 0811300327

ที่มา:

สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

อื่นๆ

พิพิธภัณฑ์ของจุฬาฯ: แหล่งเรียนรู้โลกกว้างที่ทุกคนเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต

ภายในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากจะเป็นที่ตั้งของคณะและสถาบันสำคัญที่ทั้งสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้นิสิตผลิตบัณฑิตให้พร้อมออกไปรับใช้สังคมแล้ว จุฬาฯ ยังได้เปิดพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงวิชาการและการอนุรักษ์ให้นิสิต คณาจารย์ และบุคลากร รวมทั้งบุคคลภายนอกที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ตลอดชีวิต

ค่ายวิศวพัฒน์ ส่งต่อองค์ความรู้การจัดการน้ำสู่ชุมชนเพื่อความยั่งยืน

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย 12 ภาควิชา รวมถึง ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสำรวจ และวิศวกรรมแหล่งน้ำ พร้อมด้วยคณาจารย์ผู้ทรงความรู้ ถือเป็นแหล่งบ่มเพาะองค์ความรู้ที่สำคัญทางการชลประทานที่พร้อมถ่ายทอดสู่นิสิต นำไปสู่การฝึกปฏิบัติจริงในการแก้ปัญหาด้านการจัดการน้ำให้กับชุมชนห่างไกล ผ่านค่ายวิศวพัฒน์ ซึ่งเป็นโครงการค่ายวิศวกรรมอาสาพัฒนาชนบทที่พร้อมปลูกฝังความเป็นผู้นำทั้งในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้แก่นิสิตจิตอาสาที่เข้าร่วมค่าย

เทคโนโลยีราไมคอร์ไรซาเพื่อการปลูกและฟื้นฟูป่าอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน

จากการสำรวจในปี 2564 พบว่ามีพื้นป่าเพียง 31.59% ของพื้นที่ทั้งหมดในประเทศไทย สาเหตุหลักของการลดลงของผืนป่าเกิดจาก ไฟป่า การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการเกษตรและการลักลอบตัดไม้ นอกจากนี้พื้นป่าที่เหลืออยู่ก็อยู่ในสภาพวิกฤต สภาพอากาศที่แห้งแล้งหรือการลักลอบเผาป่าอย่างผิดกฎหมาย ทำให้เกิดไฟป่า ที่นอกจากจะทำให้ผืนป่าลดลงแล้ว การเกิดไฟป่ายังทำลายสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดให้มีหลักสูตรเรียนฟรีออนไลน์ จัดพื้นห้องสมุดให้ใช้ฟรี และ co-working space แก่นิสิต บุคลากร และประชาชนทั่วไป

การศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่ได้มีไว้สำหรับนักศึกษาเท่านั้น เป็นสถานที่สำหรับทุกคน จุฬาลงกรณ์ได้พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนรู้ออนไลน์อย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนแนวคิดของ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” และเพื่อเตรียมความพร้อมให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่โดยไม่ต้องไปเรียนในมหาวิทยาลัย