ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง มาตรการลดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๖
Photo by Marc Newberry on Unsplash
ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง มาตรการลดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๖
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง มาตรการลดขยะพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อตอบสนองนโยบายการจัดการขยะและผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทั้งระบบนิเวศบนบกและระบบนิเวศทางทะเล
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๗ และมาตรา ๓๒ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิการบดีโดยคำแนะนำของคณะทำงานการสนับสนุนและขับเคลื่อนงานด้าน Sustainability ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงออกประกาศไว้ดังนี้
- ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง มาตรการลดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๖”
- ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
- ข้อ ๓ ให้ยกเลิกประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง มาตรการลดขยะพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๑
บรรดาประกาศ และคำสั่งอื่นใดของมหาวิทยาลัย ในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในประกาศนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับประกาศนี้ ให้ใช้ประกาศนี้แทน - ข้อ ๔ ในประกาศนี้
“ร้านค้า” หมายความว่า สถานที่จำหน่ายสินค้าและบริการให้แก่ลูกค้าภายในบริเวณพื้นที่เขตการศึกษาของมหาวิทยาลัย ได้แก่ ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ศูนย์หนังสือ ร้านค้าสหกรณ์ ร้านกาแฟ ซุ้มอาหาร/ เครื่องดื่ม รวมถึงร้านค้าในตลาดนัด - ข้อ ๕ ให้ร้านค้ายกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารที่ทำมาจากโฟม กล่องกระดาษ เคลือบพลาสติก และพลาสติก โดยให้ใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารที่ทำมาจากชานอ้อย ซึ่งผลิตจากธรรมชาติ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
- ข้อ ๖ ห้ามร้านค้าใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วที่ทำจากพลาสติกหรือพลาสติกชนิดแตกสลายได้ (Oxo-Degradable Plastic/Degradable Plastic/Environmentally Degradable Plastic) ที่กลายเป็นไมโคร พลาสติกตกค้างในสิ่งแวดล้อม
ให้ร้านค้ายกเลิกการให้ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบให้เปล่าโดยเปลี่ยนเป็นการจำหน่ายถุงพลาสติกที่ทำจากวัตถุดิบรีไซเคิล มีความหนาไม่น้อยกว่า ๓๖ ไมครอน หรือถุงกระดาษ ในราคาไม่เกินใบละ ๒ บาท
ความในวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่กรณีร้านค้าให้ถุงพลาสติกหูหิ้วที่ทำจากวัตถุดิบรีไซเคิลแบบให้เปล่าสำหรับการจำหน่ายอาหารอุ่นร้อนพร้อมทาน เช่น น้ำซุป น้ำก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น - ข้อ ๗ ให้ร้านค้ายกเลิกการใช้แก้วพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งหรือแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ โดยให้ใช้แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพหรือแก้วที่สามารถล้างและนำกลับมาใช้ซ้ำได้ และให้ร้านค้าลดราคาค่าเครื่องดื่มสำหรับลูกค้าที่นำแก้วส่วนตัวมาซื้อเครื่องดื่มที่ร้านค้า
- ข้อ ๘ ภายใต้บังคับข้อ ๗ ในกรณีที่ลูกค้าเลือกรับประทานที่ร้านค้า ให้ร้านค้าใช้ภาชนะที่สามารถล้างและนำกลับมาใช้ซ้ำได้
- ข้อ ๙ ให้ร้านค้าลดการแจกช้อน ส้อม และหลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมถึงเครื่องปรุงบรรจุซองให้แก่ลูกค้า เว้นแต่ได้รับการร้องขอจากลูกค้า
- ข้อ ๑๐ ให้ร้านค้าถือปฏิบัติภายใต้มาตรการตามประกาศนี้โดยเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และร่วมส่งเสริมการจัดการขยะที่ดีอย่างยั่งยืนในมหาวิทยาลัย
ให้ร้านค้าช่วยรณรงค์ สร้างแรงจูงใจ และประชาสัมพันธ์ เพื่อลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมทั้งสนับสนุนให้ลูกค้าปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติกหูหิ้วที่ทำจากวัตถุดิบรีไซเคิลเมื่อซื้อสินค้าน้อยชิ้น - ข้อ ๑๑ ร้านค้าที่ฝ่าฝืนมาตรการตามประกาศนี้ อาจถูกพิจารณาไม่ต่อสัญญาหรือเลิกสัญญา
- ข้อ ๑๒ มหาวิทยาลัยไม่รับพิจารณาข้อร้องเรียน กรณีร้านค้าหรือพนักงานร้านค้าปฏิเสธไม่ให้ถุงพลาสติกหูหิ้วที่ทำจากวัตถุดิบรีไซเคิลแบบให้เปล่าแก่ลูกค้า อันเนื่องมาจากการที่ร้านค้าหรือพนักงานร้านค้าถือปฏิบัติภายใต้มาตรการตามประกาศนี้
- ข้อ ๑๓ ให้อธิการบดีรักษาการตามประกาศนี้
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการตามประกาศนี้ ให้อธิการบดีเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๖
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์
อธิการบดี
ที่มา
- โครงการ Chula Zero Waste
- สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
SDG ที่เกี่ยวข้อง
อื่นๆ
นโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง มีพันธกิจในการพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ สร้างบัณฑิตวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม รวมทั้งสืบสานทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม