กฎและข้อบังคับ

ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง นโยบายการขับเคลื่อนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ พ.ศ. ๒๕๖๖

ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง นโยบายการขับเคลื่อนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ พ.ศ. ๒๕๖๖

โดยที่เป็นการสมควรมีประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง นโยบายการขับเคลื่อนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ พ.ศ. ๒๕๖๖ เพื่อเป็นการยกระดับการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย นิสิต และประชาชน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๗ และมาตรา ๓๒ (๘) แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกอบกับข้อ ๕ ของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภทหรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่ และยานพาหนะเป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ. ๒๕๖๑ จึงออกประกาศไว้ดังนี้

  • ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง นโยบายการขับเคลื่อนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ พ.ศ. ๒๕๖๖”
  • ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
  • ข้อ ๓ ให้ยกเลิกประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง นโยบายคุ้มครองสุขภาพ ผู้ไม่สูบบุหรี่ และจัด “เขตสูบบุหรี่” เป็นการเฉพาะ พ.ศ. ๒๕๖๓
    บรรดาประกาศ และคำสั่งอื่นใดของมหาวิทยาลัย ในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในประกาศนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับประกาศนี้ ให้ใช้ประกาศนี้แทน
  • ข้อ ๔ ในประกาศนี้
    “บุหรี่” หมายความรวมถึง บุหรี่ไฟฟ้า หรือผลิตภัณฑ์ที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ ซึ่งบริโภคโดยวิธีสูบ ดูด ดม อม เคี้ยว กิน เป่า หรือพ่นเข้าไปในปากหรือจมูก ทา หรือโดยวิธีการอื่นใดเพื่อให้ได้ผลเป็นเช่นเดียวกัน
  • ข้อ ๕ วัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ มีดังนี้
    • (๑) เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินการและขับเคลื่อนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ สอดคล้องกับนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ในสถานศึกษาของ กระทรวงศึกษาธิการและนโยบายสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รวมถึงพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ๒๕๖๐ และอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลักดันให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยสุขภาพในรูปแบบของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
    • (๒) เพื่อเสริมสร้างมาตรการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุม ผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ๒๕๖๐ และอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง พร้อมกำหนดนโยบายปฏิเสธการรับทุนอุปถัมภ์หรือการสนับสนุนทุกรูปแบบจากผู้ประกอบกิจการบุหรี่หรือกลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบ
    • (๓) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย นิสิต และประชาชน ในการป้องกันและเฝ้าระวังการสูบบุหรี่ พร้อมปลูกจิตสำนึกและสร้างค่านิยมการไม่สูบบุหรี่ทั้งภายในและภายนอกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • (๔) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการช่วยลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ กระจายองค์ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพ
  • ข้อ ๖ การขับเคลื่อนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ มีดังนี้
    • (๑) ให้สถานที่ทุกแห่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเขตปลอดบุหรี่ โดยห้ามมิให้ สูบบุหรี่ เว้นแต่เป็นการสูบในเขตสูบบุหรี่ที่มหาวิทยาลัยจัดไว้เป็นการเฉพาะ
    • (๒) ให้สนับสนุนการมีส่วนร่วมกับผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย นิสิต และประชาชน ในการเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ และสร้างความร่วมมือกับชุมชน โดยจัดกิจกรรมป้องกันและเฝ้าระวังการสูบบุหรี่ ทั้งภายในและภายนอกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • (๓) ให้สนับสนุนกิจกรรมการช่วยลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ และสอดแทรกเนื้อหาพิษภัยของบุหรี่ในหลักสูตรการเรียนการสอน รวมถึงจัดกิจกรรมนอกหลักสูตรร่วมกับชุมชน
    • (๔) ให้ส่งเสริมการป้องปรามการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ ยาสูบ พ.ศ. ๒๕๖๐ และอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม            
  • ข้อ ๗ ให้อธิการบดีรักษาการตามประกาศนี้

ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการตามประกาศนี้ ให้อธิการบดีเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๖
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์
อธิการบดี

ที่มา

  • ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อื่นๆ

นโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง มีพันธกิจในการพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ สร้างบัณฑิตวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม รวมทั้งสืบสานทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

จุฬาฯ ปลอดบุหรี่

จุฬาฯ จับมือ ก.สาธารณสุข แก้ปัญหาสิงห์อมควัน จัดเขตสูบบุหรี่คุ้มครองนิสิต-บุคลากร นำร่องปรับพฤติกรรมคนไทย