จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง มีพันธกิจในการพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ สร้างบัณฑิต วิจัย การให้บริการวิชาการแก่สังคม รวมทั้งสืบสานทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มุ่งสู่ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 เป้าหมาย ผ่าน 4 บทบาทหลักคือ นโยบายและแนวทางปฏิบัติภายในมหาวิทยาลัย (Policy and Operation) วิจัยและนวัตกรรม (Research and Innovation) การเรียนการสอน (Teaching and Learning) และการเชื่อมโยงและสร้างความผูกพันกับสังคม (Outreach and Social Engagement) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสู่เป้าหมายดังกล่าว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดนโยบายด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning Policy) ดังนี้
1. วิสัยทัศน์ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตของนิสิต บุคลากร ศิษย์เก่า และประชาชนทั่วไป และมีองค์ความรู้สำคัญสำหรับพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศที่มั่นคงภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียนอย่างเต็มที่ บนพื้นฐานของความหลากหลาย (Diversity) ความเท่าเทียม (Equality) และความเสมอภาค (Equity) ไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทาง ศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
2. นิยามของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
การเรียนรู้ตลอดชีวิตในบริบทของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครอบคลุมมิติการจัดการศึกษา การฝึกอบรม และการพัฒนาชีวิตและการทำงานของบุคคล ในสามด้าน คือ
- (1) การเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลา และตลอดชีวิต (Lifelong Learning)
- (2) การเรียนรู้สาระความรู้หรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับทุกเรื่องของชีวิตจากทุกระบบและทุกช่องทาง (Life-Wide Learning)
- (3) การเรียนรู้เชิงลึกจากประสบการณ์ ความหลากหลายในวิถีชีวิต ความคิด วิถีวัฒนธรรมและ ภูมิปัญญา (Life-Deep Learning)
3. ยุทธศาสตร์การเรียนรู้ตลอดชีวิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- (1) กำหนดนโยบายและแผนการพัฒนามหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- (2) สร้างเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับทุกภาคส่วน
- (3) ส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยทั้งระบบของมหาวิทยาลัย
- (4) สร้างระบบและกระบวนการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยให้เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้เรียน
- (5)สร้างระบบและกลไกการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนการดำเนินการในด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- (6) สร้างระบบการตัดสินใจของมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- (7) พัฒนาระบบการบริการและการสนับสนุนผู้เรียนด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ประกาศ ณ วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2564
(ศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์)
อธิการบดี
ที่มา : สำนักบริหารวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อื่นๆ
นโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง มีพันธกิจในการพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ สร้างบัณฑิตวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม รวมทั้งสืบสานทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม