ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง นโยบายด้านการบริหารจัดการขยะ พ.ศ. ๒๕๖๖
Photo by Nareeta Martin on Unsplash
ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง นโยบายด้านการบริหารจัดการขยะ พ.ศ. ๒๕๖๖
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง นโยบายด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตราย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการใช้ทรัพยากรและการจัดการขยะให้เกิดความยั่งยืน รวมถึงยกระดับการจัดการขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste Management) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๗ และมาตรา ๓๒ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิการบดีโดยคำแนะนำของคณะทำงานการสนับสนุนและขับเคลื่อนงานด้าน Sustainability ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงออกประกาศไว้ดังนี้
- ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง นโยบายด้านการบริหารจัดการขยะ พ.ศ. ๒๕๖๖”
- ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
- ข้อ ๓ ให้ยกเลิกประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง นโยบายด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตราย พ.ศ. ๒๕๖๕
บรรดาประกาศ และคำสั่งอื่นใดของมหาวิทยาลัย ในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในประกาศนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับประกาศนี้ ให้ใช้ประกาศนี้แทน - ข้อ ๔ ให้มหาวิทยาลัยและส่วนงานมีการบริหารจัดการและพัฒนาระบบการจัดการขยะครอบคลุมตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทาง โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งประกอบด้วย ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย นิสิต และผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการในบริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการดำเนินการในลักษณะบูรณาการและเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
- ข้อ ๕ ให้มหาวิทยาลัยและส่วนงานลดปริมาณการเกิดขยะและคัดแยกขยะตามหลักการ ๓Rs ประกอบไปด้วยการลดการใช้ทรัพยากรและลดการเกิดขยะ (Reduce) การใช้ซ้ำและใช้ให้คุ้มค่า (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โดยกำหนดเป้าหมายการลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยให้มีปริมาณสัดส่วนขยะที่นำไปใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๘ และไม่น้อยกว่าร้อยละ ๙๐ ภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๓
- ข้อ ๖ ให้มหาวิทยาลัยและส่วนงานสนับสนุนให้ประชาคมจุฬาฯ และผู้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยหรือส่วนงานที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนทั้งทางบกและทางทะเล ผ่านการลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastic) โดยเลือกใช้วัสดุ วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวทางที่มหาวิทยาลัยกำหนด
- ข้อ ๗ ให้มหาวิทยาลัยและส่วนงานจัดให้มีการคัดแยกขยะ และมีการวัดปริมาณขยะทุกประเภทก่อนส่งไปกำจัดหรือนำไปใช้ประโยชน์ โดยจำแนกประเภทขยะภายในมหาวิทยาลัยออกเป็น ๕ ประเภท ดังนี้
- (๑) ประเภทที่ ๑ ขยะอาหาร แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ
- (ก) ส่วนที่ ๑ ขยะอาหารจากผู้ประกอบการร้านอาหารซึ่งเป็นเศษผักและเปลือกผลไม้ ในส่วนนี้นำเข้าเครื่องแปลงขยะชีวมวลเพื่อเปลี่ยนเป็นสารชีวภาพปรับปรุงดิน
- (ข) ส่วนที่ ๒ ขยะอาหารจากผู้ใช้บริการในโรงอาหารเป็นเศษอาหารปรุงสุกเหลือจากการรับประทาน เกษตรกรมารับนำไปใช้ประโยชน์
- (๒) ประเภทที่ ๒ ขยะรีไซเคิล หมายถึง วัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ได้แก่ ขยะรีไซเคิลที่มีผู้รับซื้อ เพื่อนำไปรีไซเคิล ขยะรีไซเคิลที่มีมูลค่าต่ำไม่มีผู้รับซื้อแต่มีผู้ที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อ
- (๓) ประเภทที่ ๓ ขยะเชื้อเพลิง หมายถึง ขยะประเภทบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ได้แก่ ถุงพลาสติก แก้วกระดาษ ชามกระดาษ กล่องพลาสติก หลอด ช้อนพลาสติก ตะเกียบไม้ ถุงขนม ซองพลาสติก กระดาษเคลือบพลาสติก และพลาสติกประเภทอื่น ๆ ที่แห้ง สะอาดหรือปนเปื้อนขยะอาหารเพียงเล็กน้อย มีค่าความร้อนสูงจะถูกรวบรวมเพื่อส่งเป็นเชื้อเพลิงทดแทนใช้ในโรงงานปูนซีเมนต์
- (๔) ประเภทที่ ๔ ขยะอันตราย หมายถึง ขยะที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนสารอันตราย วัสดุมีพิษ วัสดุกัดกร่อน และวัสดุไวไฟ เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งขยะประเภทนี้จะถูกส่งไปจัดการอย่างปลอดภัยตามมาตรฐานและความปลอดภัยสากล
- (๕) ประเภทที่ ๕ ขยะประเภทอื่น ๆ ที่นอกจาก ขยะอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะเชื้อเพลิง และขยะอันตราย
- (๑) ประเภทที่ ๑ ขยะอาหาร แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ
- ข้อ ๘ ให้มหาวิทยาลัยและส่วนงานส่งเสริมโครงการ/กิจกรรมที่ช่วยรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการลด คัดแยก และนำขยะมาใช้ประโยชน์ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรการจัดการขยะอย่างยั่งยืนและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
- ข้อ ๙ ให้มหาวิทยาลัยและส่วนงานส่งเสริมการสอน การวิจัยและนวัตกรรมอย่างมีส่วนร่วมกันของประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อการจัดการขยะในมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน
- ข้อ ๑๐ ให้มหาวิทยาลัยและส่วนงานดำเนินการพัฒนาให้ประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นต้นแบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืน และขยายผลไปยังชุมชน สังคม และประเทศชาติ
- ข้อ ๑๑ ให้มหาวิทยาลัยและส่วนงานก าหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่วัดผลได้ ติดตาม ประเมิน และรายงานผลการปฏิบัติงานอันจะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง
- ข้อ ๑๒ ให้อธิการบดีรักษาการตามประกาศนี้
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการตามประกาศนี้ ให้อธิการบดีเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๖
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์
อธิการบดี
ที่มา
- โครงการ Chula Zero Waste
- สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
SDG ที่เกี่ยวข้อง
อื่นๆ