กรณีศึกษา

การจัดภูมิทัศน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยพันธุ์ไม้พื้นเมืองท้องถิ่น ทนแล้ง แข็งแรง และช่วยประหยัดน้ำ

ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อม ภูมิทัศน์ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างเสริมความยั่งยืนในเรื่องของการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยจึงตระหนักถึงความเหมาะสมในการเลือกพันธุ์ไม้พื้นเมืองท้องถิ่นที่จะนำมาปลูกเพิ่มเติมจากต้นไม้ที่มีอยู่แล้วดั้งเดิมภายในพื้นที่หรือในการปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่ โดยเลือกปลูกพันธุ์ไม้พื้นเมืองท้องถิ่น สลับกับพันธุ์ไม้อื่น ๆ ที่ปลูกอยู่ด้วย เนื่องจากพันธุ์ไม้พื้นเมืองท้องถิ่นจะทนทานต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศที่ค่อนข้างแล้ง ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาด เนื่องจากพันธุ์ไม้เหล่านี้ทนแล้งได้ค่อนข้างดี ต้องการน้ำชลประทานที่น้อย จึงเป็นการช่วยลดและประหยัดการใช้น้ำประปาของมหาวิทยาลัยที่ต้องนำไปรดน้ำต้นไม้ได้ อีกทั้งพันธุ์ไม้พื้นเมืองท้องถิ่นยังง่ายต่อการดูแลรักษาและช่วยรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม เช่น

การจัดภูมิทัศน์บริเวณอาคารธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ในบริเวณด้านหน้าอาคารปลูกต้นมะขาม และต้นประดู่ ส่วนบริเวณด้านหลังปลูกเป็นต้นไทร

[ https://www.cuartculture.chula.ac.th/about/departments/chula-dharma-center/ ]

การจัดภูมิทัศน์บริเวณอาคารเรือนไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในบริเวณด้านข้างและด้านหลังมีการปลูกต้นหมากสลับกับต้นไม้ชนิดอื่น ๆ ด้วย

[ https://www.cuartculture.chula.ac.th/services/reun-thai/ ]

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังกำหนดให้ฝ่ายงานที่รับผิดชอบงานด้านภูมิทัศน์ดำเนินการนำน้ำทิ้งหรือน้ำเสียจากการอุปโภคบริโภคที่ผ่านการบำบัดเรียบร้อยแล้ว นำมาใช้ประโยชน์ในการรดน้ำต้นไม้ภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นการช่วยประหยัดน้ำ [ http://www.green.chula.ac.th/index.php/water/water-recycling-project/ ] เช่น สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ดำเนินการนำน้ำเสียจากการใช้น้ำของผู้ที่อาศัยภายในอาคาร CU TERRACE และ CU i HOUSE กลับมาผ่านกระบวนการบำบัดน้ำเสีย และนำมาใช้ประโยชน์ในการรดน้ำต้นไม้ภายในสวนอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ซึ่งช่วยประหยัดการใช้น้ำใหม่ได้ถึงปีละ 55 ล้านลิตร [ https://pmcu.co.th/samyan-smart-city/ ]

ปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ได้ดำเนินการจัดนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์พืชมีชีวิต หรือ Living Plant Museum ซึ่งเป็นนิทรรศการถาวรในอาคารเรือนกระจก (Glass house) นอกจากจะเป็นสถานที่รวบรวมพรรณไม้สำคัญทางด้านพฤกษศาสตร์แล้ว ยังเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพืชสาขาต่าง ๆ กับประชาชนที่มีประสบการณ์และใกล้ชิดธรรมชาติในแต่ละท้องที่ มีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายและส่งต่อองค์ความรู้ และความเข้าใจไปยังคนรุ่นใหม่หัวใจรักษ์โลก เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

พิพิธภัณฑ์พืชมีชีวิตแห่งนี้ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เราใช้จัดการเรียนการสอนให้กับนิสิตจุฬาฯ การวิจัยพืชในระบบควบคุมอุณหภูมิ (evaporative cooling system) และจัดแสดงนิทรรศการถาวรนําเสนอข้อมูลความหลากหลายและวิวัฒนาการของพืชในรูปแบบที่พืชยังมีชีวิต มีพรรณไม้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ตํ่ากว่า 200 ชนิด ภายในอาคารเรือนกระจก พื้นที่ 464 ตารางเมตร จัดแสดง 6 รูปแบบ ประกอบด้วย นิทรรศการความหลากหลายของพืชในป่าดิบชื้นหรือป่าฝนเขตร้อน นิทรรศการพืชทนแล้ง นิทรรศการพืชน้ำ นิทรรศการพืชกลุ่มเทอริโดไฟต์ นิทรรศการกลุ่มพืชเมล็ดเปลือย และนิทรรศการวิวัฒนาการของพืชดอก โดยเรามุ่งหวังตั้งใจให้ องค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมเกิดขึ้นที่นี่เพื่อตอบโจทย์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม [ https://www.chula.ac.th/en/news/144729/ ]

ที่มา:

  • สำนักงานจัดการทรัพย์สิน  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อื่นๆ

การจัดซื้อของจุฬาฯ กับเรื่องของความอย่างยั่งยืน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีการใช้วัสดุสำนักงานและวัสดุสิ้นเปลืองจำนวนมาก การจัดหาวัสดุดังกล่าว ดำเนินการภายใต้นโยบายการให้ความสำคัญต่อความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายสำคัญด้านมหาวิทยาลัยสีเขียวที่มีการรณรงค์และสร้างความตระหนักให้เห็นความสำคัญมาโดยตลอด ทั้งในประชาคมชาวจุฬาฯ ชุมชนโดยรอบ พื้นที่ต่อเนื่องและสาธารณะ

จุดบริการน้ำดื่มที่สะอาด ปลอดภัย และฟรีทั่วทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำหรับทุก ๆ คน

ปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดให้มีจุดบริการน้ำดื่มฟรีกว่า 130 จุด ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อบริการให้กับนิสิตและบุคลากร ตลอดจนบุคคลภายนอกที่เข้ามาติดต่อ เยี่ยมชม หรือใช้บริการหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไปที่เข้ามาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย โดยจุดบริการน้ำดื่มนอกจากฟรีแล้ว แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยมีการดูแลความสะอาด ปลอดภัย และมีการดูแลบำรุงรักษาตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ

ความร่วมมือกับชุมชนเพื่อรักษาและเสริมสร้างระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์

ช่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้กับท้องถิ่น เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้ร่วมกับชุมชนช่วยกันรักษาและเพิ่มพูนระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ โดยเฉพาะระบบนิเวศในภาวะเสี่ยงอันเนื่องมาจากการพัฒนาเมืองในเขตภาคกลางของประเทศไทย

ศูนย์บริการสุขภาพจุฬาฯ ปลุกวัยรุ่นใส่ใจเซ็กส์วัยเรียน ชวนปรึกษา คลินิกสูตินรีเวช แก้ปัญหาเพศสัมพันธ์

ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิด Safety Love – Safety Sex Clinic ให้คำปรึกษาด้านสูตินรีเวชและเพศสัมพันธ์แก่นิสิตและบุคลากรจุฬาฯ หวังแก้ปัญหาสุขภาวะทางเพศ (Sexual Well-being)