ประเทศไทยประกาศความสำเร็จซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตจากขยะเปียกชุมชนครั้งแรกของโลก
Photo by Giorgio Trovato on Unsplash
กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ UN Thailand พร้อมด้วยพันธมิตรภาคีเครือข่ายภาคเอกชนโดย KBANK ซึ่งสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยและประชาคมมุ่งสู่ “สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์” ประกาศความสำเร็จการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 จังหวัดนำร่องเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ภายหลังสามารถจูงใจให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการแยกขยะและจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนที่สามารถแปลงกลับมาเป็นเงินทุนให้กับหมู่บ้านและชุมชนในราคาตันละ 260 บาท โดยเฟสแรกสามารถซื้อ-ขายและส่งมอบได้ 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่าได้กว่า 800,000 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ชุมชนจะได้รับจากการขายคาร์บอนเครดิตในการดำเนินโครงการกลับคืนสู่ประชาชนและครัวเรือนที่เป็นเจ้าของคาร์บอนเครดิต เพื่อใช้เป็นทุนดำเนินโครงการพัฒนาตามความเห็นชอบของประชาคมในพื้นที่ต่อไป
โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนนี้กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่องรวมเวลาได้ 10 ปีแล้ว โดยได้กำหนดขอบเขตของสภาพปัญหาและผลกระทบในทุกมิติ กำหนดและวาง Roadmap นำไปสู่แนวทางแก้ปัญหา และได้พัฒนารูปแบบถังขยะเปียกระบบเปิดต่อยอดสู่ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” และที่มากไปกว่านั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศาสตราจารย์ ดร.ชนาธิป ผาริโน จากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ยังได้จับมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กำหนดแนวนโยบายและการรับรองระเบียบวิธีการวิจัย (Methodology) ในการบริหารจัดการขยะของถังขยะเปียกลดโลกร้อน และส่งให้ อบก. รับรองคิดเป็นค่าคาร์บอนเครดิตร่วมกับหน่วยงานภายนอก นับเป็นครั้งแรกของโลกอีกเช่นกันที่สามารถสร้างมาตรวัดคาร์บอนเครดิตจากขยะเปียกชุมชนเป็นฐานให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับครัวเรือนผ่านกลไกของรัฐและภาคประชาสังคมแบบบูรณาการแล้ว ยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมได้อีกด้วย
โดยเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 กระทรวงมหาดไทย และ UN Thailand ได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์มุ่งสร้างความยั่งยืนให้ชุมชน และได้กำหนดเป็นนโยบายให้ผู้ว่าราชการทั้ง 76 จังหวัด นายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ กำนันทั้ง 7,255 ตำบล ได้นำไปปฏิบัติและร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนี้ให้สำเร็จ ผลปรากฏว่าเมื่อครบ 1 ปี พบว่ามีจังหวัดนำร่อง 4 จังหวัด คือ จังหวัดลำพูน สมุทรสงคราม เลย และจังหวัดอำนาจเจริญ สามารถประกาศความสำเร็จได้ก่อน พร้อมขยายผลสู่อีก 22 จังหวัด ในปี 2566 รวมเป็น 26 จังหวัด โดยคาดว่าจะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ประเทศไทยจัดเก็บได้จากขยะเปียกนี้มากกว่า 2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
คุณกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวชื่นชมความคิดริเริ่มต่าง ๆ อาทิ โครงการคัดแยกขยะที่เป็น “ตัวเร่ง SDGs” ช่วยให้ประเทศพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนตามวาระของชาติเรื่อง Bio – Circular – Green Economy : BCG (การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว) โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตครั้งแรกนี้คือหมุดหมายสำคัญจากการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไปปฏิบัติในระดับท้องถิ่นแบบทั้งองคาพยพ ทั้งภาครัฐ-สังคม 14 ล้านครัวเรือน ผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด กระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารธนาคาร และหน่วยงานสหประชาชาติ (United Nations) “สิ่งสำคัญ คือ การส่งเสริมประเทศให้มีต้นแบบตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตที่โปร่งใสเป็นรูปธรรมด้วยการสนับสนุนอย่างจริงจังขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกตลอดมา”.
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจทีได้เป็นส่วนหนึ่งของประกาศความสำเร็จนี้ของประเทศไทยที่สามารถซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตจากขยะเปียกชุมชนครั้งแรกของโลก และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้แข็งแรงได้ง่าย ๆ จากการมุ่งสร้างจิตสำนึกรักษ์โลกและเปลี่ยนพฤติกรรมแยกขยะของครัวเรือนและชุมชนทั่วประเทศ
การร่วมประชุมติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย และผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย
ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567
ที่มา
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:
SDG ที่เกี่ยวข้อง
อื่นๆ
เปิดเคล็ดลับความสำเร็จ จุฬาฯ สมาร์ทซิตี้ ชวนดูคาระวาน Smart Mobility
จุฬาฯ ขับเคลื่อนโครงการ “จุฬาฯ สมาร์ทซิตี้” (Chula Smart City) ผ่าน “SMART 4” นำนวัตกรรมอัจฉริยะ 4 มิติ ได้แก่ Smart Living, Smart Energy, Smart Environment และ Smart Mobility รองรับไลฟ์สไตล์ใหม่ให้ประชาคมจุฬาฯ กว่า 50,000 คน ที่ใช้ชีวิตบนพื้นที่กว่า 1.5 พันไร่ ใจกลางกรุงเทพฯ พร้อมสร้างคุณค่าต่อยอดให้ชุมชนและสังคม ชูจุดเด่นยานยนต์หลากรูปแบบตอบโจทย์ SMART MOBILITY
ศูนย์บริการสุขภาพจุฬาฯ ปลุกวัยรุ่นใส่ใจเซ็กส์วัยเรียน ชวนปรึกษา คลินิกสูตินรีเวช แก้ปัญหาเพศสัมพันธ์
ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิด Safety Love – Safety Sex Clinic ให้คำปรึกษาด้านสูตินรีเวชและเพศสัมพันธ์แก่นิสิตและบุคลากรจุฬาฯ หวังแก้ปัญหาสุขภาวะทางเพศ (Sexual Well-being)
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับการสนับสนุน ดูแล และให้บริการกับกลุ่มบุคคลผู้พิการ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของทุกคน รวมถึงกลุ่มผู้พิการที่ต้องการการสนับสนุนในรูปแบบเฉพาะ เพื่อให้สามารถเรียนรู้และใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างเต็มศักยภาพ
จุดบริการน้ำดื่มที่สะอาด ปลอดภัย และฟรีทั่วทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำหรับทุก ๆ คน
ปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดให้มีจุดบริการน้ำดื่มฟรีกว่า 130 จุด ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อบริการให้กับนิสิตและบุคลากร ตลอดจนบุคคลภายนอกที่เข้ามาติดต่อ เยี่ยมชม หรือใช้บริการหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไปที่เข้ามาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย โดยจุดบริการน้ำดื่มนอกจากฟรีแล้ว แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยมีการดูแลความสะอาด ปลอดภัย และมีการดูแลบำรุงรักษาตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ