เทคโนโลยีราไมคอร์ไรซาเพื่อการปลูกและฟื้นฟูป่าอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย
Photo by Brian Garrity on Unsplash
จากการสำรวจในปี 2564 พบว่ามีพื้นป่าเพียง 31.59% ของพื้นที่ทั้งหมดในประเทศไทย สาเหตุหลักของการลดลงของผืนป่าเกิดจาก ไฟป่า การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการเกษตรและการลักลอบตัดไม้ นอกจากนี้พื้นป่าที่เหลืออยู่ก็ตกอยู่ในวิกฤติ สภาพอากาศที่แห้งแล้งหรือการลักลอบเผาป่าอย่างผิดกฎหมาย ทำให้เกิดไฟป่าที่นอกจากจะทำให้ผืนป่าลดลงแล้ว การเกิดไฟป่ายังทำลายสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การอนุรักษ์ป่าไม้ในประเทศไทยต้องต่อสู้กับความเชื่อที่ว่า การเผาป่าจะทำให้เกิดเห็ดที่ชาวบ้านสามารถนำไปสร้างรายได้ จึงทำให้มีการแอบเผาป่าอย่างผิดกฎหมายเพื่อนำเห็ดไปขาย การฟื้นฟูผืนป่าที่เสียหายจากการโดนเผานั้นยากกว่าการฟื้นฟูป่าไม้ที่เกิดจากสาเหตุอื่น เนื่องจากจุลินทรีย์ สารอาหาร และความชื้นในดินถูกทำลายไปด้วย
ผืนป่าที่ได้รับความเสียหายต้องได้รับการฟื้นฟู ขั้นตอนแรกที่สำคัญที่จะทำให้การฟื้นฟูผืนป่าสำเร็จนั้น คือการซ่อมแซมดิน นักวิจัยจากภาควิชาพฤกษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทดลองนำ Mycorrhiza และจุลินทรีย์ในท้องถิ่นหลายชนิดมาผสมกับดินและพืชพื้นเมืองในพื้นที่ กลยุทธ์นี้ช่วยปลูกป่าต้นน้ำน่านและสระบุรี จำนวน 3,000 ไร่ นอกจากนี้โครงการยังให้ความรู้และส่งเสริมการส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ป่าชุมชนผ่านการบรรยาย การฝึกภาคปฏิบัติ การใช้เทคโนโลยี Mycorrhiza นอกจากจะช่วยในการฟื้นฟูป่าชุมชนได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังได้ผลพลอยได้เป็นเห็ดที่สามารถใช้เป็นอาหารและเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน
โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โครงการ Mycorrhiza ฟื้นฟูผืนป่าได้รับการขยายพื้นที่ไปยังป่าชุมชนถึง 10 แห่งภายในประเทศและอีก 1 แห่งใน สปป.ลาว โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรไม่แสวงผลกำไรสัญชาติฮ่องกง “Mushroom Initiative Limited” มูลนิธิอานันทมหิดล และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สามารถฟื้นฟูป่าชุมชนให้อยู่ในสภาพเหมาะสมได้สำเร็จตามแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้ร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมและศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้เทคโนโลยี Mycorrhiza ฟื้นฟูผืนป่า ซึ่งสามารถช่วยลดเวลาที่จะใช้ในการปลูกป่าลงจาก 40 ปี เป็น 30 ปี
ปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินโครงการ “การใช้ราไมคอร์ไรซาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูป่าไม้ประจำถิ่นในประเทศไทย” มุ่งฟื้นฟูป่าชุมชนที่เสื่อมโทรม เนื่องด้วยราไมคอร์ไรซามีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัย (mutualism) กับต้นไม้พืชอาศัย โดยต้นไม้จะแบ่งอาหารที่ได้จากการสังเคราะห์ด้วยแสงให้กับรา ในขณะที่ราที่อาศัยอยู่ที่รากพืชนี้จะคอยดูดซึมน้ำและแร่ธาตุให้กับต้นไม้ รวมถึงเป็นส่วนสำคัญในวัฏจักรการหมุนเวียนธาตุอาหารในระบบนิเวศป่า อีกทั้งเส้นใยราไมคอร์ไรซาใต้ดินยังเชื่อมต่อต้นไม้ที่เป็นพืชอาศัยเอาไว้เป็นจำนวนมาก สามารถเกิดการส่งอาหารและสารต่าง ๆ ระหว่างกัน ก่อเกิดเป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “Wood Wide Web” ดังนั้นในการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยเฉพาะอย่างยิ่งจุลินทรีย์ดินที่ดีอย่างไมคอร์ไรซานี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการฟื้นฟูป่า โดยการดำเนินการที่ผ่านมาของโครงการนี้ได้ฟื้นฟูป่าชุมชนใน 2 รูปแบบ ดังต่อไปนี้
1. ใส่หัวเชื้อราไมคอร์ไรซาในป่าชุมชนอย่างต่อเนื่อง จาก “โครงการบูรณาการของการใช้เห็ดเผาะเพื่อฟื้นฟูป่าและลด PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาป่าในบริเวณพื้นที่รอยต่ออุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูน” (Integrative project of using of Astraeus odoratus to restore forests and reduce PM 2.5 caused by forest floor burning in the area of Mae Ping National Park boundary Lamphun Province) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับชมรมผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลและอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ในปีพ.ศ. 2564 โดยใส่หัวเชื้อเส้นใยเห็ดเผาะในป่าชุมชนที่เสื่อมโทรมในพื้นที่ตำบลก้อทุ่งและแม่ลาน ซึ่งป่าชุมชนทั้ง 2 แห่งเป็นป่าเต็งรัง ยังมีต้นไม้ใหญ่อยู่ แต่เมื่อเกิดไฟป่าเป็นประจำทุกปี ป่าเสื่อมโทรมลง ระบบนิเวศถูกทำลาย ความอุดสมบูรณ์ของดินหายไป ทำให้ไม่เกิดเห็ดป่าในพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นเวลานาน โครงการจึงได้นำหัวเชื้อเห็ดเผาะไปใส่ใกล้กับพืชอาศัยอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือนจนมีดอกเห็ดเผาะหนังเกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าชุมชนที่เริ่มกลับมา และเป็นตัวอย่างของการจัดการป่าชุมชนให้กับชาวบ้านในพื้นที่
2. ฟื้นฟูป่าด้วยการปลูกกล้าไม้พื้นถิ่นตามระบบนิเวศป่าดั้งเดิมร่วมกับการใช้หัวเชื้อราไมคอร์ไรซา จาก “โครงการฟื้นฟูป่าพื้นถิ่นด้วยราไมคอร์ไรซา” เป็นโครงการที่ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิฟื้นฟูป่าพื้นถิ่น ชุมชนในพื้นที่ กรมป่าไม้ และหน่วยงานเอกชน เช่น บริษัท ติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ให้การสนับสนุนในกิจกรรมสร้างป่าให้ชุมชนที่บ้านถ้ำน้ำพุ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งมีพื้นที่ป่าชุมชนเสื่อมโทรมจำนวน 3 ไร่ โดยพื้นที่ป่าชุมชนดังกล่าวถือเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างป่าต้นน้ำอย่างเขตป่าสงวนป่าทับกวาง-มวกเหล็ก และแม่น้ำป่าสัก แต่จากการใช้ประโยชน์จากป่าตั้งแต่อดีต ทั้งการตัดไม้และการเปิดพื้นที่เพื่อเส้นทางคมนาคมทำให้พื้นที่ป่าชุมชนบางส่วนไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้
โดยโครงการเริ่มดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีพ.ศ. 2565 จนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่การปรับพื้นที่และการบำรุงดิน การย้ายปลูกกล้าไม้อย่างประณีต โดยใช้ไม้พื้นถิ่นจำนวน 24 ชนิด เช่น ประดู่ป่า มะค่าโมง โมกหลวง รวมถึงพืชอาศัยของเห็ดไมคอร์ไรซา ได้แก่ พลวง เต็งและรัง เป็นต้น พร้อมกับการใส่หัวเชื้อเห็ดเผาะ การดูแล ให้น้ำ กำจัดวัชพืชหลังการย้ายปลูกโดยจ้างชาวบ้านในชุมชน พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการดูแลรักษาป่าชุมชน
ทำให้กล้าไม้ที่ย้ายปลูกมีอัตราการรอดสูงถึง 100% และในปี 2566 ที่ผ่านมา จึงได้ปลูกไม้พืชล่าง โดยเฉพาะสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ถึง 6 ชนิด ตามความต้องการของชุมชน เช่น ฟ้าทะลายโจร กระเจียว ขมิ้นชัน เป็นต้น นอกจากกล้าไม้และพืชพื้นล่างจะเจริญเติบโตได้ดีแล้ว ยังพบว่ามีกล้าไม้พื้นถิ่นบางชนิดเกิดขึ้นเองในพื้นที่ รวมถึงมีเห็ดป่าเกิดขึ้น ยิ่งตอกย้ำว่าระบบนิเวศป่าชุมชนดังกล่าวเริ่มเกิดการฟื้นฟู
นอกจากนี้ ยังได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้ลงพื้นที่จริงมากว่า 20 ปี นำมาถ่ายทอดให้กับทั้งนิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านรายวิชาการปลูกป่าพื้นถิ่นของไทย Thai Native Reforestation (2305160) ครูและนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ หลายจังหวัด ผ่านโครงการ “ปลูกไม้พื้นถิ่นในโรงเรียน” ร่วมกับมูลนิธิฟื้นฟูป่าพื้นถิ่น โดยนิสิตทุกคณะของมหาวิทยาลัยสามารถลงทะเบียนเรียนได้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 มีนิสิตที่ผ่านการเรียนมาแล้ว 11 รุ่น จำนวนประมาณ 460 คน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูผืนป่าโดยใช้เทคโนโลยี Mycorrhiza ความพยายามเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวที่เสียหาย ลดการลักลอบเผาป่าที่ผิดกฎหมาย และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างชาวบ้านกับป่า เทคโนโลยีนี้สามารถไปปรับใช้ในการฟื้นฟูผืนป่าที่ถูกทำลายทั่วโลก นอกจากนี้ การถ่ายทอดความรู้ด้าน Mycorrhiza เพื่อการปลูกป่ายังสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งรวมถึงนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ที่มา
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
SDG ที่เกี่ยวข้อง
อื่นๆ
จุฬาฯ สร้างระบบส่งเสริมสุขภาพช่องปากให้กลุ่มเปราะบางชายขอบด้วยระบบ Digital Health Platform
องค์การสหประชาชาติประกาศให้โรคทางช่องปากเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประชากรโลก สถานการณ์โรคฟันผุที่ยังไม่ได้รักษา ในชุดฟันแท้เป็นโรคที่มีพบมากที่สุดในโลก ร้อยละ 35 ของประชากรโลก ในขณะที่โรคปริทันต์อักเสบระดับรุนแรงที่จะนำไปสู่การสูญเสียฟันนั้นยังมีอีกร้อยละ 11 ของประชากรโลก และอัตราการเกิดมะเร็งช่องปากยังเพิ่มขึ้นอย่างคงที่
ร่วมมือกับ NGOs เพื่อขับเคลื่อน SDGs ผ่านกิจกรรมการอาสาสมัครของนิสิต
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับเป้าหมาย SDGs ทั้งหมด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมมือกับหลายองค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร(NGOs) โดยนิสิตมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเป้าหมาย SDGs ในด้านต่างๆ โดยเข้าร่วมในโครงการอาสาสมัครต่างๆ
เปิดภารกิจเครือข่ายมหาวิทยาลัยผู้พิทักษ์ผืนป่าชุ่มน้ำลุ่มน้ำโขง
ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสรรพชีวิต ที่เชื่อมโยงกันทั้งพืช สัตว์ และจุลินทรีย์หลากชนิด และยังมีคุณค่ากับมนุษย์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ โดยพื้นที่ชุ่มน้ำยังจัดเป็นนิเวศบริการ ที่ส่งมอบนานาประโยชน์จากธรรมชาติสู่มนุษย์หลากหลายด้าน
Park @ Siam พื้นที่สีเขียวของจุฬาฯ ใจกลางเมืองเพื่อชุมชน
“Park @ Siam” พื้นที่สีเขียวใจกลางย่านการค้าสยามสแควร์ เป็นสวนสาธารณะแห่งเดียวในย่านการค้าที่มีชื่อเสียง ภายใต้การดูแลและบริหารจัดการโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU)