การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทยที่ผ่านมาเป็นเวลาเกือบขวบปี ทำให้เราได้เห็นศักยภาพของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับวิกฤติด้านสาธารณสุขระดับโลกได้ดี ทั้งความพร้อมด้านการบริหารจัดการสถานที่ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนการนำทักษะ องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมล้ำสมัย เข้ามาใช้ดูแลพี่น้องประชาชนตามมาตรฐานสากลและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดตามมาตรการที่องค์การอนามัยโลกประกาศ หากแต่การระงับยับยั้งเชื้อไวรัสร้ายนี้เพื่อเยียวยา และกู้สถานการณ์ให้คนบนโลกกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างแข็งแรงยังจำเป็นต้องรอให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้รับการพัฒนาและนำมาใช้จริงได้ในเร็ววัน
ด้วยเหตุนี้ ภาคีเครือข่ายนักวิจัยทั่วโลกจึงได้ผนึกกำลังพยายามเร่งพัฒนาวัคซีนจากแพลตฟอร์มที่แตกต่างหลากหลายไม่ใช่เพื่อช่วงชิงความเป็นที่หนึ่ง หากแต่เพื่อความมั่นคงและสวัสดิภาพของมวลมนุษย์ชาติ ครั้งนี้เราได้เห็นการทำงานอย่างหนักอีกครั้งของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีได้เข้ามามีส่วนร่วมสำคัญในภารกิจระดับโลกเฉกเช่นที่เคย
ศ. นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้อำนวยการโครงการวิจัยวัคซีนโควิด-19 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ ศูนย์ของเราทำงานภายใต้พันธกิจ ‘Discover, develop and deliver safe, effective and affordable vaccines’ ซึ่งก่อนหน้านี้เราทำงานมุ่งเน้นไปที่การป้องกันโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อชนิดอื่น ๆ อยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ เอชไอวี (Human immunodeficiency virus, HIV) โรคไข้เลือดออกชนิด (Dengue) โรคฉี่หนู (Leptospirosis) และภูมิแพ้ไรฝุ่นในบ้าน (House dust mite) และได้เผยแพร่ตีพิมพ์ผลงานวิจัยสู่สาธารณะไปแล้วกว่า 19 ฉบับ โดยศูนย์ของเราทำงานร่วมกับหน่วยงานภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งกับคณะเภสัชศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ เรามีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยภายในประเทศทั้งกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายวิจัยวัคซีนระหว่างประเทศ ได้แก่ Vaccine Research Center (VRC) National Institute of Allergy and Infectious Diseases (NIAID) National Institute of Health (USA); Department of Adjuvant and Antigen Research, U.S., Military HIV Research Program (MHRP) และ Walter Reed Army Institute of Research (WRAIR) ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเกิดการระบาดอย่างหนักของไวรัสโคโรน่าตลอดขวบปีที่ผ่านมา เครือข่ายของเราก็เร่งทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นจนสามารถพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ‘CU-Cov19’ ได้สำเร็จ”
ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ซึ่งร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ได้เผยผลสำเร็จการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA “Chula-Cov19” ในลิงได้ผลดี และกำลังรอหน่วยงานนรัฐไฟเขียวให้ทดลองในมนุษย์ (จิตอาสา) ช่วงปลายปี 2563
“ลิงที่ได้รับวัคซีนทุกตัวมีระดับภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้น โดยลิงกลุ่มที่ได้รับวัคซีนโดสสูงมีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงมาก และเรายังพบอีกว่าลิงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง และไม่มีผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน ผลการทดลองนี้อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีนจึงจะเริ่มสั่งผลิตวัคซีนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทดสอบในมนุษย์ที่เป็นจิตอาสาตามแผนที่วางไว้ประมาณเดือนตุลาคม ถึง ธันวาคม ปี พ.ศ. 2563 นี้ต่อไป เพียงแต่ยังต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ และการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เสียก่อน และคาดว่าจะสามารถเปิดรับสมัครจิตอาสาได้เร็วที่สุดในช่วงกลางเดือนกันยายน” ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม กล่าว
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงคุโณปการของการมีเพื่อนร่วมภาคี เครือข่ายร่วมกันวิจัยพัฒนาวัคซีนอยู่ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ที่ไม่เพียงช่วยย่นย่อระยะเวลาของการวิจัย พัฒนา และต่อยอดองค์ความรู้ แต่ยังปลุกให้คนไทยและมวลมนุษยชาติลุกขึ้นต่อสู้กับไวรัสร้ายนี้อย่างมีความหวัง
ที่มา: ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:
- https://www.bangkokbiznews.com/pr/detail/72128
- https://www.chula.ac.th/news/47758/
- https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E/148822
- https://www.bbc.com/thai/thailand-57592424
- https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2100755
- https://www.genengnews.com/covid-19-candidates/chulalongkorn-university-center-of-excellence-in-vaccine-research-and-development-chula-vrc-national-research-council-of-thailand-nrct-and-bionet-asia/
- https://www.ryt9.com/en/prg/244595
- http://www.chulavrc.org/about.html
อื่นๆ
จุฬาฯ อวดสองนวัตกรรมคืนชีวิตใหม่ให้ปะการังไทย ผสมเทียมสำเร็จครั้งแรกของโลก พร้อมชูเครื่องพิมพ์ 3 มิติสร้างปะการังเทียม
แก้ปัญหาระบบนิเวศใต้ท้องทะเลเสื่อมโทรม ที่ส่งผลกระทบความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ในระบบนิเวศใต้ท้องทะเลทั้งทางตรงและทางอ้อม
ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมและการรับรู้ผลกระทบจากโรคโคโรน่าไวรัส 2019 (โควิด-19): การสำรวจระดับนานาชาติ
การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ทั่วโลกยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีวัคซีนแล้ว แต่ไวรัสก็ยังกลายพันธุ์ได้อยู่ และยังส่งผลกระทบต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก ดังนั้นการหาข้อมูลหรือการเก็บข้อมูลที่จะเก็บประเด็นผลกระทบต่างๆจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลในวงกว้างระดับภูมิภาค จึงเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในภาคีเครือขายของ Association of Pacific Rim Universities (APRU) ในหน่วย Global Health Program ซึ่งมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกทั้งหมด 60 มหาวิทยาลัย จาก 19 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงได้มีการทำโครงการสำรวจข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมและการรับรู้ผลกระทบจากโรคโคโรน่าไวรัส 2019 (โควิด-19) ขึ้น
บางโพลีฟวิ่งแล็บ: โครงการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ผ่านการวางแผนการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนถนนสายไม้บางโพ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการวิจัย Bang Pho Living Lab ได้รับทุนสนับสนุนจาก ศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้ของชุมชนถนนสายไม้ ย่านบางโพให้กลับมาเป็นที่รู้จักและส่งเสริมการสืบทอดภูมิปัญญาของชุมชน ผ่านการสร้างพื้นที่ร่วมทดลองปฏิบัติการจริง โดยนิสิต 266 คน
ฟาร์มโคนมไทยเฮ! จุฬาฯ ตั้งศูนย์วิจัยพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี ยกระดับนมไทยยืนหนึ่งในอาเซียน
ในปี 2563 ประเทศไทย มีกำลังการผลิตน้ํานมดิบจากแม่โคนมในประเทศได้ราว 3,500 ตัน/วัน จากแม่โคทั่วประเทศ ประมาณ 310,000 ตัว โดยแม่โคนมไทยได้รับความนิยมจากประเทศคู่ค้าในสมาชิกอาเซียนและต้องการนำเข้าแม่โคนมจากไทยเพราะสามารถพัฒนาสายพันธุ์ได้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศเขตร้อนชื้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ดี จึงทำให้ไทยสามารถส่งออกแม่โคนมได้ 840 ตัวต่อปี ในขณะที่คู่แข่งทางการค้าที่สำคัญของไทยในภูมิภาคอาเซียนคือออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ส่งออกผลิตภัณฑ์นมเข้ามาจำหน่าย และยังขยายฐานการผลิตเข้ามาแข่งขันตีตลาดของไทย