วิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล: เปิดตัวหลักสูตรรูปแบบใหม่ มุ่งเน้นปฏิบัติงานจริง
Photo by Andras Vas on Unsplash
“คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดหลักสูตรใหม่ “สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล (CEDT)” ในปีการศึกษา 2566 ที่เปิดรับนิสิตมากถึง 300 คนต่อปี เพื่อผลิตบัณฑิตมาเติมเต็มในตลาดแรงงานที่ยังคงขาดแคลนบุคลากรด้านดิจิทัลเป็นจำนวนมาก อีกทั้งหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตร Higher education sandbox ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน และเพิ่มทักษะในการลงมือปฏิบัติงานจริงแก่นิสิตจากการฝึกงานทุกปีตลอดการศึกษา โดยปัจจุบันมีบริษัทภาคเอกชนลงนามให้ความร่วมมือแล้วถึง 30 บริษัท เนื่องด้วยความทันสมัยของหลักสูตร ผนวกกับการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ ทำให้ในปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านมี มีนักเรียนสมัครมากกว่า 2,600 คน และผู้ผ่านการคัดเลือกมีคะแนนอยู่ในระดับสูงเป็นร้อยละ 2 ของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย”
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงขาดแคลนบุคลากรด้านดิจิทัลเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ธุรกิจขาดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อที่จะผลิตบัณฑิตมาเติมเต็มในตลาดแรงงานและตรงกับความต้องการของภาคเอกชนในโลกธุรกิจ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล็งเห็นความสำคัญและเปิดหลักสูตรใหม่ ” Computer Engineering and Digital Technology (CEDT)” ในปีการศึกษา 2566 ที่เปิดรับนิสิตมากถึง 300 คนต่อปี ซึ่งถือเป็น 2 เท่าของหลักสูตรที่มีอยู่ก่อนอย่าง Computer Engineering อีกทั้งหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรแรกของมหาวิทยาลัยที่มีนโยบายการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher education sandbox) ตามข้อกำหนดสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน มุ่งเน้นให้นิสิตมีทักษะในทุกช่วงชั้นปีตลอดการศึกษา ผ่านการฝึกงานและสหกิจศึกษา ในองค์กรภาคเอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญากับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการเสริมความเข้มแข็งให้แก่องค์กรคู่สัญญา และเสริมสร้างสมรรถนะให้แก่นิสิตจากประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน ณ สถานที่จริงและสถานการณ์จริง โดยมีบริษัทเอกชนที่ลงนามให้ความร่วมมือกับหลักสูตร CEDT อย่างเป็นทางการแล้วถึง 30 บริษัทชั้นนำของประเทศในหลายสาขา ทั้งสถานบันการเงินต่าง ๆ ธุรกิจด้านบริการ ธุรกิจทางด้านเทคโนโลยี ทั้ง IT consult, software, hardware, security and AI รวมถึงบริษัทอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ยังมีอีก 12 บริษัท อยู่ระหว่างดำเนินการลงนาม
ด้วยโครงสร้างหลักสูตรที่ทันสมัย ตรงกับความต้องการของตลาด มีกิจกรรมเสริมทั้งจากบริษัทเอกชนและตามความสนใจของนิสิต รวมถถึงการเปิดโอกาสให้นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้จัดการแข่งขันต่าง ๆ ได้รวมเสนอข้อกำหนดในการคัดเลือกรอบ TCAS1 ซึ่งเป็นรอบที่ใช้ผลงานสะสม (portfolio) ของนักเรียนทั้งโครงการโอลิมปิกวิชาการและการประกวดแข่งขันต่าง ๆ นอกจากนี้ การประชาสัมพันธ์และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตร รวมถึงหลักเกณฑ์การรับเข้าศึกษาสามารถเข้าถึงได้ง่าย ผ่านทางสื่อออนไลน์จากสำนักข่าวต่าง ๆ และสื่อของหลักสูตรทั้งเว็บไซต์ เฟสบุ๊ค และติ๊กต๊อก พร้อมกับการประชาสัมพันธ์เชิงรุก (active participate) ผ่านการเป็นกรรมการในการแข่งขันต่าง ๆ เพื่อให้สาขาได้เป็นที่รู้จัก และ recruit นักเรียนที่ได้รับรางวัลให้เข้าศึกษาต่อ ทำให้หลักสูตรนี้ได้รับความสนใจจากนักเรียนโดยเฉพาะนักเรียนที่มึความสามารถสูงเพื่อเข้าศึกษาต่อเป็นอย่างมาก สะท้อนได้จากจำนวนนักเรียนที่สมัครมากกว่า 2,600 คน มีอัตราการแข่งขันเพิ่มขึ้นเป็น 7 เท่าจากปีที่ผ่านมา และผู้ผ่านการคัดเลือกในหลักสูตรนี้มีคะแนนสูงมาก จัดอยู่ในอันดับต้นร้อยละ 2 ของคะแนนการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
จากจำนวนผู้สมัครและนิสิตในหลักสูตรใหม่นี้ เป็นตัวบ่งชี้ว่าได้ว่า การพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ของโลกธุรกิจในปัจจุบันมากขึ้นดังเช่น Higher education sandbox รวมถึงการประชาสัมพันธ์ที่สม่ำเสมอและเข้าถึงได้ง่าย ทำให้หลักสูตรนี้เป็นที่ต้องการและดึงดูดความสนใจจากนักเรียนผู้มีความสามารถสูง ให้สมัครเข้ามาเรียนในหลักสูตรดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
ที่มา
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:
อื่นๆ
หลักสูตร “Quick MBA from Home” แพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบบูรณาการ
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่เพียงสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังส่งผลต่อระบบการศึกษา เป็นเหตุให้จำเป็นต้องออกแบบหลักสูตรใหม่ให้ยังสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ได้ต่อไปอย่างไม่หยุดชะงัก
“มายคอร์สวิลล์” ดิจิทัลแฟลตฟอร์มใหม่ เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทย
จุฬาฯ นำนวัตกรรมเยียวยาสังคมเพื่อให้การเรียนรู้ของคนไทยไม่สะดุดหยุดชะงัก แม้อยู่ในสภาวะคับขันจากมาตรการล็อกดาวน์เมืองยาวนานจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
จุฬาฯ กับรายวิชา SDGs 101
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการ ของสหประชาชาติ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อสังคม ทั้งในระบบชุมชน ประเทศ และโลก ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้จึงได้ดำเนินการจัดทำสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ เรื่อง SDGs 101 : 17 เป้าหมายเปลี่ยนโลกสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
โครงการจุฬาเวิร์ส: แพลตฟอร์มโลกเสมือนจริง เพื่อชุมชนวิถีใหม่อย่างยั่งยืน ด้วยกรณีใช้งานด้านการแพทย์ การศึกษาตลอดชีวิต และการพาณิชย์
แพลตฟอร์มจุฬาเวิร์ส ประกอบด้วยระบบสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และกรณีใช้งานในด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต การแพทย์และการพาณิชย์ ซึ่งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ChulaVerse World (CV-World) มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบโจทย์ด้านการใช้ชีวิตและการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ภายในมหาวิทยาลัย ได้มีการพัฒนาระบบการเชื่อมต่อบนมาตรฐานที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ และการพัฒนากรณีใช้งานเพื่อส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในด้านทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิต การบริการด้านการแพทย์รูปแบบใหม่ และการพาณิชย์ที่เชื่อมโยงกับภาคเอกชน สำหรับด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ChulaVerse Learn (CV-Learn)