เทคโนโลยีราไมคอร์ไรซาเพื่อการปลูกและฟื้นฟูป่าอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ตามรายงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร้อยละ 31-33 ของประเทศไทยเป็นพื้นที่สีเขียว ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและปกป้องผืนป่าโดยกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) วางเป้าหมายในการขยายพื้นที่ป่าให้เป็นร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าเศรฐกิจและการจัดการนิเวศของป่าชุมชนที่มีอยู่กว่า 10,000 แห่ง ภายในและภายนอกเขตพื้นที่อนุรักษ์ ป่าเหล่านี้ครอบคลุมพื้นที่ถึง 7,870,000 ไร่ หรือร้อยละ 7 ของป่าสงวนแห่งชาติของประเทศไทย
ในปี 2561-2562 พื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยมีอยู่ที่ 102,484,072.71 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 31.68 ของพื้นที่ทั่วประเทศ ไฟป่าที่เกิดจากสภาพแห้งแล้งหรือการลักลอบเผาป่าเพื่อการใช้ประโยชน์เป็นปัญหาสำคัญในการอนุรักษ์ผืนป่าไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึงเมษายน 2563 ป่าไม้ของไทยถูกเผาไปแล้ว 170,835 ไร่ โดยมากกว่า 3 ใน 4 อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ
การเผาป่าชุมชนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาวะโลกรวนทวีความรุนแรงขึ้น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูป่าที่ทำได้ยากขึ้นเนื่องด้วยเพราะความชื้น ธาตุอาหาร รวมไปถึงเชื้อจุลินทรีย์พื้นถิ่นในดินตามธรรมชาติได้ถูกทำลายไปพร้อมกับไฟป่า นอกจากนั้นการลักลอบเผาป่าชุมชนยังสร้างปัญหาการแพร่กระจายของฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ในชั้นบรรยากาศกลายเป็นหมอกควันพิษให้กลับมาทำลายสุขภาพของคนในพื้นที่เองอีกด้วย
ที่มา: NSRF THAILAND
[ https://www.youtube.com/watch?v=dtTK1B9s1D0 ]
พื้นที่ป่าไม้ที่เสียหายไปจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู โดยในเบื้องต้นการปรับหน้าดินเป็นสิ่งที่สำคัญ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านจุลินทรีย์ในดิน ได้เสนอแนวทางที่ดีในการฟื้นฟูป่าในท้องถิ่น ในปี พ.ศ. 2548 โครงการพัฒนาท้องถิ่นได้ศึกษาเชื้อเห็ดราไมคอร์ไรซาในป่าเต็งรังและป่าต้นน้ำในจังหวัดน่าน โดยทดลองนำเชื้อเห็ดราไมคอร์ไรซาและจุลินทรีย์ท้องถิ่นชนิดต่าง ๆ มาผสมในดินและกล้าไม้พื้นถิ่นของจังหวัดน่านในกลุ่มไม้วงศ์ยาง เช่น ยางนา เต็ง รัง เหียง พลวง เป็นต้น เพื่อเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ในดิน และช่วยเพิ่มอัตราการการรอดหลังย้ายปลูกทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี มีความแข็งแรงทนต่อสภาวะที่ไม่เอื้อในการดำรงชีวิต ซึ่งแนวทางนี้เป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้พื้นถิ่นตามธรรมชาติโดยคำนึงถึงระบบนิเวศ
จากความสำเร็จของโครงการฯ ที่สามารถพัฒนากล้าไม้พื้นถิ่นที่มีราไมคอร์ไรซา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงขยายผลงานวิจัย ผลิตกล้าไม้คุณภาพนำแจกจ่ายให้หน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดน่านเพื่อร่วมกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และขยายผลต่อยอดการดำเนินงานไปยังพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 3,000 ไร่ ในโครงการจัดตั้งสำนักงานจัดการพื้นที่จุฬาฯ-สระบุรี อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี พัฒนาขึ้นเป็นโครงการต้นแบบ “การประยุกต์ใช้เห็ดไมคอร์ไรซาในการปลูกป่าไม้วงศ์ยางเพื่อฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศ” โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้หน่วยงานภาครัฐ ชุมชน และประชาชนที่สนใจ ในปี พ.ศ. 2560
ที่มา: Sustainability Expo
[ https://www.youtube.com/watch?v=HoHr8uaIBB0 ]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้ขยายองค์ความรู้ฟื้นฟูป่าพื้นถิ่นไปสู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ของไทย โดยได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานระดับนานาชาติ “The Mushroom Initiative Limited, Hong Kong” พัฒนาโครงการ “การใช้ราไมคอร์ไรซาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกไม้ป่าพื้นถิ่นของไทย” โดยมีภาคีเครือข่ายสำคัญอย่างมูลนิธิฟื้นฟูป่าพื้นถิ่นในการรณรงค์ปลูกป่าพื้นถิ่นร่วมจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้หน่วยงานภาครัฐ ชุมชน ประชาชน สร้างแปลงสาธิตการใช้ราไมคอร์ไรซาฟื้นฟูป่าพื้นถิ่นทั้งในจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู และพื้นที่โรงเรียนบ้านคลองยางและชุมชนตำบลคลองยาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เกิดเป็นภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งโดยมี “The Mushroom Initiative Limited, Hong Kong” เป็นพันธมิตรร่วมภารกิจขยายผลไปยังพื้นที่ใหม่อีก 10 แห่งทั่วประเทศไทยและอีก 1 พื้นที่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยได้จัดเตรียมข้อมูลที่จำเป็นประกอบการติดตามไม้พื้นถิ่นที่ปลูกไว้ในแต่ละพื้นที่เพื่อประเมินและรับมือกับภัยแล้งรุนแรงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ผ่านการพัฒนาช่องทางประชาสัมพันธ์ที่ให้ประชาชนผู้สนใจสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่ายหลายช่องทาง อาทิ เว็บไซต์ Facebook เป็นต้น
ตลอดการดำเนินโครงการฯ ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา พบว่ากล้าไม้พื้นถิ่นที่ปลูกไว้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ดี ทั้งปริมาณความชื้นและแสงแดดที่เหมาะสมกับระบบนิเวศในพื้นที่ และยังช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอันมีสาเหตุมาจากภาวะโลกรวน นำมาสู่การดำเนินงานในปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบันที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่าย “ชมรมผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอนันทมหิดล” ร่วมกับ “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” นำความสำเร็จที่ได้กลับมาแก้ปัญหาละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือที่เกิดจากการเผาป่าในพื้นที่สำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ป่าอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ภายใต้โครงการ “นวัตกรรมเห็ดเผาะลดไฟป่าหมอกควัน สร้างป่า…สร้างรายได้” สร้างความรู้ความเข้าใจ และส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากไฟป่า พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้จากต้นแบบความสำเร็จของงานวิจัยการใช้ราไมคอร์ไรซาที่สามารถสร้างดอกเห็ดที่กินได้ อาทิ เห็ดเผาะ เห็ดตะไค เห็ดระโงก เห็ดน้ำหมาก รวมถึงเห็ดป่าอื่น ๆ นำมาใช้ฟื้นฟูป่าที่นอกจากจะได้ความหลากหลายทางชีวภาพกลับมาแล้วยังได้เห็ดที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ใหม่ให้ครัวเรือนได้อีกด้วย ถือเป็นกุศโลบายสร้างแรงจูงใจให้คนในพื้นที่หันมาใช้ไม้พื้นถิ่นร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าได้อย่างยั่งยืน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ส่งต่อความยั่งยืนไปยังกองทัพภาคที่ 2 กองบัญชาการกองทัพไทย ให้นำองค์ความรู้การใช้ราไมคอร์ไรซาฟื้นฟูป่าพื้นถิ่นภายใต้โครงการทหารพันธุ์ดี ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครราชสีมา เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพชีวิต หนึ่งทศวรรษของการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกลุ่มอื่นๆ ได้เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการปลูกป่าในท้องถิ่น
จากความมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่านมาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่าย ไม่เพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะพันธุ์ไม้พื้นถิ่นให้มีความแข็งแรงทนต่อภัยคุกคามทางชีวภาพและสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของพืชเท่านั้น แต่ยังช่วยลดทอนระยะเวลาการฟื้นตัวตามธรรมชาติของผืนป่าในประเทศไทยให้สั้นลงเหลือเพียง 30-40 ปี จากเดิมที่คาดการกันว่าอาจต้องใช้เวลานานกว่าศตวรรษที่ป่าจะกลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ประเทศไทยวางเป้าหมายรักษาผืนป่าไว้ให้ได้ถึงร้อยละ 40 และยังสามารถใช้เป็นแนวทางในการนำไปช่วยฟื้นฟูป่าพื้นถิ่นที่ประสบปัญหาไฟป่ารุนแรงทั่วโลกได้อีกด้วย
โครงการ “การใช้ราไมคอร์ไรซาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูป่าไม้ประจำถิ่นในประเทศไทย” ได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ “บ้านก้อแซนด์บ๊อกซ์”
ในส่วนของการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมจากการถูกไฟป่าทำลายโดยการปลูกป่าไม้พื้นถิ่นด้วยการใช้ราไมคอร์ไรซา โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้ สร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่า และสร้างการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าอย่างยั่งยืนผ่านกิจกรรมต่างๆ
- กิจกรรมการอบรมเชิงบรรยายและปฏิบัติการเรื่อง “นวัตกรรมเห็ดเผาะลดไฟป่าหมอกควัน สร้างป่า…สร้างรายได้” โดยได้รับการสนับสนุนจากชมรมผู้ได้รับพระราชทานทุนฯ และอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูน กิจกรรมนี้ประกอบไปด้วยการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจแก่ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับราไมคอร์ไรซ่า โดยเฉพาะ เห็ดเผาะและเห็ดป่าอื่นที่มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกับไม้ป่าพื้นถิ่นในป่า
- กิจกรรมการฟื้นฟูป่าพื้นถิ่นเพื่อการอนุรักษ์ในเขตอุทยานด้วยราไมคอร์ไรซาเห็ดเผาะ กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง ชาวบ้านในชุมชน และหน่วยงานราชการในอำเภอลี้ จ.ลำพูน ร่วมกันการปลูกป่าในพื้นที่นำร่องการจัดใช้มาตรา 64 ตามพรบ. อุทยานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นการเร่งพื้นฟูป่าในอุทยานแห่งชาติแม่ปิงให้ประสบผลสำเร็จและเป็นบริหารจัดการพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืน จนสามารถเป็นต้นแบบในการฟื้นป่าอนุรักษ์ในเขตอุทยานแห่งชาติอื่นๆ ในอนาคต โดยทำการปลูกพรรณไม้ที่เป็นไม้พื้นถิ่นเสริมแทรกเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวให้มีหลากหลายของพรรณไม้ โดยเฉพาะไม้ที่เป็นไม้เด่นของป่าเต็งรัง พร้อมกับใส่หัวเชื้อราไมคอร์ไรซาเห็ดเผาะให้กับกล้าไม้ก่อนย้ายปลูก
- กิจกรรมการสร้างแปลงสาธิตไม้ป่าพื้นถิ่นต้นแบบเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและรายได้อย่างยั่งยืน โดยทำแปลงสาธิตต้นแบบในพื้นที่ของชาวบ้านก้อ ประมาณ 3ไร่ เพื่อทดลองการปลูกพืชแบบวนเกษตรมีการปลูกไม้ป่าพื้นถิ่นที่เป็นอาหารและสร้างรายได้ให้แก่เจ้าของพื้นที่ ซึ่งได้แก่ พืชอาศัยของเห็ดเผาะ เช่น พลวง เต็ง รัง เหียง เป็นต้น ผักหวานป่า ไผ่ และพืชสมุนไพรต่างๆ รวมทั้งพืชเกษตรที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรนอกเหนือจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เคยปลูกอยู่เป็นประจำ เช่น องุ่น หน่อไม้ฝรั่ง ทุเรียน เป็นต้น กิจกรรมนี้จะเป็นตัวอย่างที่จะช่วยชาวบ้านให้มีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งช่วยให้สามารถลดการบุกรุกและรบกวนพื้นที่ป่าในเขตอุทยานได้
- กิจกรรมการฟื้นฟูป่าชุมชนเสื่อมโทรมด้วยราไมคอร์ไรซาเห็ดเผาะ กิจกรรมนี้จะเป็นกิจกรรมที่จะฟื้นฟูป่าชุมชนของหมู่บ้านที่อยู่รอบแนวเขตรอยต่อของพื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติแม่ปิงให้มีความอุดมสมบูรณ์กลับคืน โดยทำงานร่วมกันกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง และชาวบ้านก้อดำเนินการใส่หัวเชื้อเส้นใยเห็ดเผาะให้กับพืชอาศัยในป่าชุมชน เช่น เต็ง พลวง เหียง รัง เป็นต้น
ในปี 2564 “โครงการบูรณาการของการใช้เห็ดเผาะเพื่อฟื้นฟูป่าและลด PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาป่า ในบริเวณพื้นที่รอยต่ออุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับชมรมผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอนันทมหิดลและอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ทำการฟื้นฟูปลูกป่าทดแทนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิงภายใต้การจัดใช้มาตรา 64 ตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2562 โดยการใช้กล้าไม้พื้นถิ่นที่มีการใส่เชื้อเห็ดเผาะ เป็นจำนวน 15 ไร่ กิจกกรมดังกล่าวได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเยาวชนกลุ่ม “หละอ่อนก้ฮักฮักถิ่นเกิด” ซึ่งเป็นบุตรหลานของชาวบ้านที่มีใจรักถิ่นบ้านเกิดและต้องการให้สภาพแวดล้อมที่ดีกลับคืนมาเยาวชนกลุ่มนี้เป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า การเฝ้าระวังติดตามไฟ่ป่าที่จะเกิดขึ้นในอุทยานแห่งชาตแม่ปิง โดยทำงานประสานกับเจ้าหน้าที่อุทยานและหน่วยงานต่างๆในชุมชน นับว่าเป็นหนึ่งในการปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนในการหวงแหนและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตนอันจะนำมาซึ่งความยั่งยืนและความมั่นคงทั้งด้านอาหาร รายได้ และสิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคต
นอกจากนี้ เพื่อให้บรรลุตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ในการปลูกและฟื้นฟูป่าของประเทศและการทำตามเป้าหมายของการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ที่ประเทศไทยประกาศเป้าหมายที่สำคัญในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2508 การถ่ายทอดความรู้เรื่องการใช้แรคโตมัยคอร์ไรซาเพื่อฟื้นฟูป่าพื้นเมืองจึงมีความจำเป็นและกระทำการอย่างต่อเนื่อง โดยทางโครงการได้ขยายกิจกรรมไปยังพื้นที่ต่างๆ ดังนี้
- กิจกรรมการอบรมเชิงบรรยายและปฏิบัติการเรื่อง “นวัตกรรมการเพาะขยายเห็ดป่าไมคอร์ไรซาแบบจำลองธรรมชาติ จังหวัดสุรินทร์” ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
- กิจกรรมการอบรมเชิงบรรยายและปฏิบัติการเรื่อง “การใช้ราไมคอร์ไรซาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกไม้ป่าพื้นถิ่นไทย” ได้รับสนับสนุนจากมณฑลทหารบกที่ 38 จังหวัดน่าน และศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค
- กิจกรรมการปลูกป่าอย่างประณีต ณ บ้านเชตวัน ต.สันทะ อ.เวียงสา จังหวัดน่าน ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ลงทะเบียนเรียนวิชาการปลูกป่าพื้นถิ่น ได้รับการสนับสนุนจากกิจการนิสิตและภาควิชาพฤกษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การบริหารตำบลสันทะ และมูลนิธิฟื้นฟูป่าพื้นถิ่น
ที่มา:
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:
SDG ที่เกี่ยวข้อง
อื่นๆ
จุฬาฯ หวังเพิ่มประชากรเต่าทะเล หนุนตั้งเครือข่ายคุ้มครองแหล่งวางไข่ในอ่าวไทย
จำนวนเต่าทะเลในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 แม้รัฐบาลจะประกาศใช้กฎหมาย กำหนดเขตหวงห้าม ประกาศขึ้นทะเบียนเต่าทะเลในบัญชีรายชื่อของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งพันธุ์พืชป่าและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และพยายามสำรวจและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งอาศัยของเต่าทะเล เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการอนุรักษ์เต่าทะเลก็ตาม แต่จำนวนของเต่าทะเลในประเทศไทยยังคงลดลงจนใกล้ถึงจุดวิกฤต จากจำนวนมากกว่า 2,500 รังต่อปี เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเหลือเพียงปีละ 300-400 รังต่อปี เท่านั้น
จุฬาฯ ชู “แสมสารโมเดล” แก้ขยะล้นทะเลไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย “ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์” และ“สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ” เผยผลสำเร็จ “แสมสารโมเดล” นำร่องแก้ปัญหาขยะบนบกไหลลงทะเลชลบุรี ด้วยหลัก 3Rs ลดขยะพื้นที่แสมสารได้จริงกว่าร้อยละ 30 พร้อมขยายผลความสำเร็จจากชุมชนสู่ระดับชาติ
จุฬาฯ ปลุกการท่องเที่ยวเมืองน่านสีเขียว
“น่าน” มีวิสัยทัศน์ประจำจังหวัด คือ “เมืองแห่งความสุข เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ธรรมชาติสมบูรณ์ เกษตรกรรมอุดมสมบูรณ์ ชุมชนแน่นแฟ้น และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” น่านได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดการพัฒนาการและเติบโตด้านการท่องเที่ยวอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยใช้ 5 กลยุทธ์
นวัตกรรมฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมด้วยราไมคอร์ไรซา พิสูจน์ทราบแล้วจากป่าต้นน้ำน่าน พร้อมส่งผ่านสู่สมรภูมิไฟป่าทั่วโลก โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป้าหมายที่จะรักษาผืนป่าของไทยให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี