จุฬาฯ ชู “แสมสารโมเดล” แก้ขยะล้นทะเลไทย
Photo by Naja Bertolt Jensen on Unsplash
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย “ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์” และ“สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ” เผยผลสำเร็จ “แสมสารโมเดล” นำร่องแก้ปัญหาขยะบนบกไหลลงทะเลชลบุรี ด้วยหลัก 3Rs ลดขยะพื้นที่แสมสารได้จริงกว่าร้อยละ 30 พร้อมขยายผลความสำเร็จจากชุมชนสู่ระดับชาติ
ที่มา: Sustainability Expo
[ https://www.youtube.com/watch?v=KP5M9OSGEcg ]
จากองค์ความรู้ “วิทยาศาสตร์ทางทะเล” สู่การพัฒนา “แสมสารโมเดล”
“แสมสารโมเดล” หรือ แสมสารไร้ขยะ เป็นหนึ่งในโครงการท้องทะเลไทยไร้ขยะ ภายใต้ “โครงการสร้างความตระหนักและจิตสำนึกของชุมชนในการลดและแยกขยะเพื่อไม่ให้ตกลงสู่ทะเลพื้นที่แสมสาร” โดยภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการศึกษาและวิจัยผลกระทบของขยะทะเลและไมโครพลาสติกที่มีผลต่อสัตว์ทะเลและมนุษย์ในพื้นที่นำร่องชุมชนแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยได้รับความร่วมมือจากชุมชนนำโดยองค์การบริหารส่วนตำบลแสมสาร กองทัพเรือสัตหีบ และประชาชนในพื้นที่ ได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ท้องทะเลร่วมกับชุมชน พร้อมถ่ายทอดความรู้เรื่องการลดและแยกขยะให้กับชุมชนจนกลายเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ผ่านการศึกษาวิจัยการมีส่วนร่วม การสร้างจิตสำนึก และการสร้างชุมชนเข็มแข็ง ได้บูรณาการองค์ความรู้ “Chula Zero Waste” ที่ใช้จัดการปัญหาขยะภายพื้นที่จุฬาฯ จนสำเร็จ มาขยายผลมายังชุมชนแสมสาร ได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (The Japan International Cooperation Agency หรือ JICA) สนับสนุนเครื่องมือสำรวจปริมาณขยะทะเลบนเกาะแสมสาร จากนั้นนำผลสำรวจมาจัดทำข้อเสนอแนะเสนอหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม และป้องกันปัญหามลภาวะจากขยะทะเลโดยเฉพาะขยะพลาสติก ส่งผลให้ลดปริมาณขยะในพื้นที่ได้มากถึงร้อยละ 30 ด้วยหลักการ 3Rs ลดการใช้ นำกลับมาใช้ซ้ำ และนำขยะกลับมาใช้ใหม่ (Reduce Reuse and Recycle)
ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ริเริ่มโครงการเล่าถึงความร่วมมือของภาคีเครือข่ายและชุมชนซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันคือมุ่งพัฒนาพื้นที่ให้สอดรับกับการท่องเที่ยว “ก่อนหน้านี้ที่แห่งนี้เคยเป็นสถานีทดลองเพาะขยายพันธุ์ปะการังด้วยวิธีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ซึ่งได้ผลสำเร็จเป็นที่แรกของประเทศไทยมาแล้ว ทำให้ชาวบ้านสนใจและอยากมีส่วนร่วมอนุรักษ์ท้องทะเลของเขา ประกอบกับที่นี่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก จึงเอื้อต่อการท่องเที่ยวและเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทำให้เราต้องเร่งสร้างจิตสำนึกร่วมทั้งกับคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวที่มาให้เขารู้จักลดและแยกขยะ เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะเหล่านี้ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยของเรา”
“แก้ขยะล้นทะเล” แนะแก้ปัญหาที่ต้นตอ
นอกจากนี้ ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ยังเผยข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสำคัญต่อด้วยว่า“ขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขยะบนบกที่ตกลงสู่ทะเลเป็นจำนวนมาก อันเนื่องมาจากการจัดการขยะบนบกที่ไม่เหมาะสมโดยเฉพาะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งไม่เพียงแต่ไม่สามารถย่อยสลายได้ แต่เมื่อตกลงสู่ทะเลแล้ว ยังแตกตัวกลายเป็นไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศปนเปื้อนอยู่ในสัตว์ทะเลที่กินเข้าไปโดยไม่ตั้งใจส่งผลต่อเนื่องมายังมนุษย์ จากการวิจัยพบว่าขณะนี้ในร่างกายของคนเรามีชิ้นส่วนของไมโครพลาสติกสะสมอยู่ในร่างกายมนุษย์มากกว่าหมื่นชิ้น ถึงแม้จะต้องรอผลการวิจัยยืนยันในอีกประมาณ 5 – 10 ปีข้างหน้าว่าไมโครพลาสติกจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์มากน้อยเพียงใด แต่การลด ละ เลิก การใช้ขยะพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งนั้นควรจะเริ่มลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้ก่อนที่จะสายเกินไป ดังนั้น การวางแผนการจัดการนโยบายและมาตรการการลดและกำจัดขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ตกลงสู่ทะเลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง”
ผลสำเร็จและองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยผลกระทบที่เกิดขึ้นของโครงการ นอกจากช่วยกำหนดแนวทางการจัดการขยะบนบกที่ไม่ถูกต้องเพื่อลดปริมาณขยะทะเลในระดับประเทศและนานาชาติแล้ว ยังส่งผลให้ในเห็นเชิงประจักษ์ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น เมื่อสัตว์น้ำที่ชาวประมงจับได้ไม่พบเศษซากขยะทะเลติดมา และปริมาณขยะพลาสติกในท้องทะเลที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของสัตว์ทะเลลดลง ช่วยคืนสมดุลและความหลากหลายทางชีวภาพให้น่านน้ำไทยได้อีกครั้ง โดยผลสำเร็จของโครงการนี้ได้ขยายผลต่อเนื่องจากพื้นที่นำร่องในอำเภอสัตหีบไปสู่พื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดชลบุรี อาทิ เมืองพัทยา อำเภออ่างศิลา เป็นต้น เกิดความร่วมมือต่อยอดกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมควบคุมมลพิษ กำหนดแนวทางการดำเนินงานเชิงนโยบายเพื่อจัดการขยะของประเทศ โดยขยายผลจากโครงการนำร่องไปยังจังหวัดใกล้เคียงอย่างระยองได้สำเร็จ
ยกระดับความสำเร็จ “แสมสารโมเดล” สู่เวทีนานาชาติ
“แสมสารโมเดล” (Sameasan Model) และองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะพลาสติกนำไปสู่การก่อตั้งภาคีเครือข่ายระหว่างประเทศ แบ่งปันและถ่ายทอดองค์ความรู้อนุรักษ์ท้องทะเลควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกในระดับนานาชาติ สู่ 2 หน่วยงานสำคัญ ได้แก่ IOC/WESTPA ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินกิจกรรมในภูมิภาคภายใต้กรอบของ UNESCO-IOC และ United Nations Environment Programme (UNEP) และยังเกิดโครงการความร่วมมือทำวิจัยขยะพลาสติกในทะเลน่านน้ำไทยกับประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งศูนย์วิจัยในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่าน Japan International Cooperation Agency (JICA) ผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยภาคีเครือข่ายในประเทศญี่ปุ่น อีก 7 แห่ง ได้แก่ Kyushu University, Tokyo University of Marine Science and Technology, Tokyo University of Agriculture and Technology, Kyoto University, Kumamoto University, Chuo University และ Kagoshima University เพื่อหาแนวทางลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเล คืนความสมดุลให้ทุกชีวิตใต้ท้องทะเลไทยต่อไป
การจัดการขยะของชาวประมงไทย
นอกจากนี้ งานวิจัยได้ขยายผลการศึกษาเรื่องการกำจัดขยะไปยังชาวประมง โดยหลักในการจัดการขยะในท้องทะเล มีสามขั้นตอนสำคัญคือ (1) การป้องกันและลดการผลิตขยะทะเลที่ต้นทาง (2) การป้องกันและลดขยะในทะเล (3) การกำจัดขยะทะเลออกจากทะเล (UNEP, 2017) การป้องกันและลดการผลิตขยะในทะเลจะเน้นการป้องกันขยะจากแหล่งที่มา โดยเริ่มด้วยการปรับปรุงการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และเพื่อลดของเสียในระบบที่เปลี่ยนไปใช้วัสดุทดแทน หรือแม้แต่สร้างจิตสำนึกให้ผู้บริโภคบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดของเสียน้อยลง เป็นต้น
กรมประมงจึงเริ่มโครงการ “ขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา” ในเดือนตุลาคม 2562 สำหรับ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล โดยมีจุดประสงค์ (1) สร้างจิตสำนึก ปรับวิธีคิด เปลี่ยนพฤติกรรมของชาวประมงในการจัดการขยะ (2) เพื่อให้เรือประมงทุกลำที่ออกไปทำการประมงมีการจัดเก็บขยะในเรือและนำกลับคืนฝั่ง (3) เพื่อส่งเสริมให้ท่าเทียบเรือประมงทุกแห่งมีการจัดจุดรวมขยะที่เก็บจากทะเล (4) เพื่อลดการนำหรือใช้ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นขยะย่อยสลายยาก (กรมประมง, 2563) อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม 2563 มีจำนวนเรือที่เข้าร่วมโครงการเพียงประมาณ 3,000 ลำ จากจำนวน 10,000 ลำ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความยั่งยืนของโครงการ และอาจล้มเลิกโครงการได้ จึงเป็นที่มาของงานวิจัยที่จะศึกษาปัจจัยที่น่าจะส่งผลหรือเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการของชาวประมง เพื่อนำผลการศึกษามาจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายอันเป็นประโยชน์ต่อความยั่งยืนของโครงการต่อไป สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมและหลักสูตรสิ่งแวดล้อม การพัฒนา และความยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ดร. สุจิตรา วาสนาดำรงดี ได้ดำเนินการศึกษาปัจจัยที่น่าจะมีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมของชาวประมง ในโครงการ เพื่อนำผลการศึกษาถูกนำมาเสนอนโยบายแก่โครงการ ผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจของชาวประมง 105 คนในจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสงคราม และพังงา ผลการวิจัยพบว่า มีปัจจัย 3 ประการที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมของชาวประมง ได้แก่ 1) ความพร้อมของแหล่งรวบรวมขยะทะเล 2) ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ และ 3) ประสบการณ์ในการจัดเก็บขยะในทะเล จากผลการศึกษาวิจัย ได้เสนอให้กรมประมงควรเผยแพร่ข้อมูลของโครงการมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านสมาคมการประมงในแต่ละท้องที่และศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกที่สามารถเข้าถึงเจ้าของเรือประมง นอกจากนี้ โครงการควรเพิ่มจุดรับทิ้งขยะสำหรับชาวประมงเมื่อนำขยะขึ้นฝั่งและแจ้งจุดที่ทิ้งได้ต่อชาวประมง บทบาทการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และภาคประชาชน สามารถก่อให้เกิดความยั่งยืนของโครงการได้ โดยอาจดึงความร่วมมือจากธุรกิจเกี่ยวเนื่องจากการนำขยะทะเลไปรีไซเคิลและอัพไซเคิลมารับขยะทะเลต่อ รวมถึงการสนับสนุนทางด้านการเงินและสิ่งของที่เป็นประโยชน์ต่อการเก็บขยะทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาชนะสำหรับใส่ขยะบนเรือ หรือของรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถตอบแทนการดูแลสิ่งแวดล้อมของชาวประมง เช่น ของอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
ที่มา: http://www.ej.eric.chula.ac.th/content/6140/325
ที่มา:
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
SDG ที่เกี่ยวข้อง
อื่นๆ
จุฬาฯ กับการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งใหญ่ ใน Chula Sustainability Fest 2022
ในปี 2022 ผลงานที่มีส่วนในการสร้างความยั่งยืนของจุฬาฯ จะไม่อยู่แค่ใน SDGs Report แต่ได้ออกมาสื่อสารในงาน Chula Sustainability Fest 2022 เมื่อวันที่ 2-4 กันยายน 2565 เพื่อสร้าง Commitment สื่อสารนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนของจุฬาฯ Connect เชื่อมโยงประชาคมจุฬาฯ และ Inspired สร้างแรงบันดาลใจให้ช่วยกันผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืน
อนุรักษ์ปลากระเบนเจ้าพระยา อนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่กลอง
นักวิชาการต่างยกให้ปลากระเบนเจ้าพระยาเป็นสิ่งมีชีวิตบ่งชี้ความไม่สมดุลของระบบนิเวศน้ำจืดด้วยคุณสมบัติของปลาชนิดนี้ที่มีความไวต่อสารพิษและสภาพการเปลี่ยนแปลงของถิ่นที่อยู่อาศัย
จุฬาฯ ชู “แสมสารโมเดล” แก้ขยะล้นทะเลไทย
จุฬาฯ โดย “ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์” และ“สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ” เผยผลสำเร็จ “แสมสารโมเดล” นำร่องแก้ปัญหาขยะบนบกไหลลงทะเลชลบุรี ด้วยหลัก 3Rs ลดขยะพื้นที่แสมสารได้จริงกว่าร้อยละ 30 พร้อมขยายผลความสำเร็จจากชุมชนสู่ระดับชาติ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้นิสิตจัดตั้งชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
เพื่อเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม