กรณีศึกษา

จุฬาฯ สร้างยุวมัคคุเทศก์ชาวมอแกน สร้างหลักสูตรต่อลมหายใจวิถีชาวเลอันดามัน

ชาวเล เป็น 1 ใน 56 กลุ่มชาติพันธุ์ของไทย ถือเป็นชาวน้ำที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต สตูล มีวิถีพึ่งธรรมชาติ จับปลาทำประมงในท้องทะเลเพื่อยังชีพ เชี่ยวชาญการเดินเรือจากการดูทิศทางโดยอาศัยดวงดาวมานานนับร้อยปี ด้วยความแตกต่างด้านภาษา พีธีกรรม และลักษณะของเรือดั้งเดิมที่แต่ละกลุ่มชนเผ่าใช้ จึงมีการแบ่งชาวเลออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) มอแกน 2) มอแกลน 3) อูรักลาโว้ย

แม้ชาวเลจะเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ตามเกาะและชายฝั่งทะเลแถบอันดามันมายาวนานหลายร้อยปีแล้วก็ตาม แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักและยอมรับในวิถีชาติพันธุ์ของพวกเขา โดยเฉพาะในแง่การนำวัฒนธรรมมอแกนมาใช้บริหารจัดการทรัพยากรและระบบนิเวศชายฝั่งทะเลอันดามันให้เกิดความยั่งยืน ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมิอาจมองข้ามศักยภาพของชาวมอแกนที่อยู่คู่กับผืนน้ำอันดามันในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องทะเลและผืนป่าในแถบนี้ และยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในท้องทะเลและหาดทราย ดังเช่นที่เป็นมา

ยิ่งเมื่อความเจริญของเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็วข้ามเข้ามายังสังคมชาวเลชนเผ่ามอแกนเหตุด้วยเพราะเทคโนโลยีและนวัตกรรมเจริญรุดหน้าอย่างก้าวกระโดดนั้น พบหลักฐานเชิงประจักษ์คือเด็กและเยาวชนชาวเลเปิดรับภาษาและวัฒนธรรมจากภายนอกอย่างรวดเร็วเช่นกันจนเกรงกันว่าอาจละทิ้งมรดกวัฒนธรรมซึ่งเป็นรากเหง้าทรงคุณค่าของบรรพบุรุษของตน ซึ่งหากยังไม่รีบแก้ไขอาจทำให้วิถีชาวเลสูญสิ้น ไร้ผู้สืบทอดภูมิปัญญาและจิตวิญญาณแห่งการพิทักษ์รักษาผืนป่าและท้องทะเลอันดามัน เลือนหายไปกับวัฒนธรรมคนเมืองที่หลากเข้ามากลืนกิน

ด้วยเหตุนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยหน่วยปฏิบัติการวิจัยชนพื้นเมืองและทางเลือกการพัฒนาและโครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ผนึกกำลังกันในชุมชนเป็นภาคีเครือข่ายทำงานร่วมกันหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในท้องถิ่น กลุ่มผู้นำเครือข่ายชาวเล และอีกหลายกลุ่มในชุมชน เช่น กลุ่มศิลปวัฒนธรรม กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพประมง ฯลฯ จึงได้เล็งเห็นความสำคัญและดำเนิน “โครงการส่งเสริมและฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล” ให้กับเด็กและเยาวชนมอแกนและมอแกลนในจังหวัดพังงาและภูเก็ตทั้งในชุมชนชาวเลและโรงเรียนที่มีเด็กชาวเลกำลังศึกษาอยู่ ผ่านกิจกรรมค่ายอบรมยุวมัคคุเทศก์ และการฝึกปฏิบัติจริง เพื่อใช้เป็นตัวช่วยกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนชาวเลในชุมชนหันมาสนใจข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และธรรมชาติโดยรอบชุมชนและเพื่อให้เห็นความสำคัญรวมถึงคุณค่าของวิถีชีวิตดั้งเดิมของตนที่อยู่กับท้องทะเลมาอย่างยั่งยืนนับร้อยปี

กิจกรรมค่ายอบรมยุวมัคคุเทศก์ที่จัดขึ้นในหลายชุมชนชาวเลมีรูปแบบคล้ายกัน แต่จะต่างกันที่ฐานการเรียนรู้และเนื้อหาที่เน้นความโดดเด่นของวิถีวัฒนธรรมเฉพาะพื้นที่ เฉพาะในปี พ.ศ. 2563 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดค่ายที่หมู่เกาะสุรินทร์ให้กับเด็กและเยาวชน จำนวน 30 คน แบ่งฐานเรียนรู้ตามบริบทวัฒนธรรมของเกาะออกเป็น 3 ฐาน ได้แก่ 1) ฐานเรียนรู้เรื่อง “ก่าบาง” หรือเรือดั้งเดิมของชาวมอแกน 2) ฐานเรียนรู้ เรื่อง “แผนที่ภูมินามหมู่เกาะสุรินทร์” 3) ฐานเรียนรู้เรื่อง “เครื่องดนตรีและเพลงร้องภาษามอแกน” และยังมีการฝึกปฏิบัติจริงโดยให้ทดลองเล่าเรื่องราวในบ้านอีก 3 ฐาน ได้แก่ 1) ฐานศาลากระท่อมนิทรรศการมอแกน 2) ฐานเส้นทางศึกษาธรรมชาติ-วัฒนธรรม “ตะบิง ก่อตาน” หรือเส้นทางเลียบราวป่า 3) ฐานการเดินสำรวจหมู่บ้านมอแกน

ค่ายอบรมยุวมัคคุเทศก์และกิจกรรมต่าง ๆ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการให้กับชุมชนยังได้สร้างความตื่นตัวให้กับผู้คนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้อาวุโสชาวเลเห็นลูกหลานเข้ามาซักถามรายละเอียดเรื่องราวรากเหง้าของชนเผ่าในแง่มุมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเรือ ชีวิตในเรือในอดีต การเดินทางไปตามเกาะต่าง ๆ เพื่ออยู่อาศัย และทำมาหากิน ก็เกิดความยินดีและภาคภูมิใจที่เด็กและเยาวชนหันมาให้ความสนใจกับวัฒนธรรมมอแกน รวมถึงมองเห็นทิศทางการกำหนดรูปแบบของการท่องเที่ยวที่ช่วยสื่อสารให้คนภายนอกชนเผ่าเข้าใจวิถีแห่งความยั่งยืนนี้ของชาวเลอันดามัน

หลักจากผ่านกิจกรรมค่ายแล้ว เด็กและเยาวชนจะได้รับโจทย์ให้ทำงานกลุ่ม ระดมความคิดเรื่องเนื้อหาและความรู้ที่ได้จากการลงมือปฏิบัติจริง จากนั้นให้ออกมานำเสนอและแบ่งปัน “สิ่งที่ได้ค้นพบ” ร่วมกับเพื่อนกลุ่มอื่นบริเวณชายหาดหน้าหมู่บ้าน และยังมีการประเมินผลการอบรมยุวมัคคุเทศก์ เพื่อสะท้อนถึงสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ หรือสิ่งที่อยากเรียนรู้ในกิจกรรมอบรมครั้งต่อไป รวมถึงการชวนคุยเกี่ยวกับกิจกรรมร่วมระหว่างเด็กและเยาวชนชาวเลในชุมชนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนมอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย ซึ่งในอนาคตจะได้ประสานพลังให้เกิดเครือข่ายเด็กและเยาวชนอันดามันต่อไป

และที่มากไปกว่านั้น โครงการยังได้ถอดบทเรียนจากกิจกรรมค่ายมาจัดพิมพ์คู่มือนำเที่ยวชุมชนชาวเลบ้านแหลมตุ๊กแก เกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต ใช้โซเชียลมีเดียเผยแพร่ความรู้และสื่อสารความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับทะเลอย่างยั่งยืน นอกจากนั้นยังมีการผลิตคลิปวิดีโอเผยแพร่ทาง YouTube ชื่อ Andaman Pilot Channel เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในประเทศไทย มีคลิปวิดีโอจำนวน 65 ตอน โดยมีสถิติการเข้าชมรวมทั้งหมด 1,349 ครั้ง (ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2563)

โครงการส่งเสริมการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมชาวเล ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่ายได้ดำเนินงานจัดกิจกรรมมาต่อเนื่องหลายปีนั้น พบว่านอกจากชุมชนชาวเลจะมีจุดแข็ง (Strengths) ในแง่ของวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่สามารถจะดึงขึ้นมาเป็น “เรื่องเล่า” ที่สำคัญแล้ว ยังมีโอกาส (Opportunities) ใหม่ ๆ อีกหลายประการ เช่น ในระดับชุมชน เยาวชนเริ่มมีความคุ้นเคยกับเครื่องมือ เช่น กล้องถ่ายรูปดิจิตอล และ Smart Phone หลายคนกล้าพูดกล้าแสดงออกมากขึ้น และบางคนได้เรียนต่อด้านการบริหารจัดการท่องเที่ยวและภาษาต่างประเทศ ส่วนในระดับประเทศ ยังเป็นตัวช่วยผลักดันให้หลายกระทรวงออกนโยบายที่เอื้อต่อท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากำลังวางแผนออกกฎกระทรวงเพื่อให้บริษัททัวร์ที่จะนำนักท่องเที่ยวเข้าไปในท้องถิ่นอย่างชุมชนมอแกนต้องใช้มัคคุเทศก์จากท้องถิ่นเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อธำรงค์ไว้ซึ่งวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลให้อยู่คู่ผืนป่าและท้องทะเลอันดามันอย่างยั่งยืนได้สืบไป

ที่มา:

สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

อื่นๆ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดให้มีหลักสูตรเรียนฟรีออนไลน์ จัดพื้นห้องสมุดให้ใช้ฟรี และ co-working space แก่นิสิต บุคลากร และประชาชนทั่วไป

การศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่ได้มีไว้สำหรับนักศึกษาเท่านั้น เป็นสถานที่สำหรับทุกคน จุฬาลงกรณ์ได้พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนรู้ออนไลน์อย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนแนวคิดของ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” และเพื่อเตรียมความพร้อมให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่โดยไม่ต้องไปเรียนในมหาวิทยาลัย

UDDC ฟื้นฟูเมือง เพื่อความยั่งยืนและสุขภาวะของประชาชน

ฟื้นฟูย่านเมืองเก่าสู่กระบวนการพัฒนาแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างยั่งยืน สร้างการใช้ประโยชน์พื้นที่เมืองเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างมีคุณภาพ

อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ป่ากลางเมือง พื้นที่สีเขียวเพื่อชุมชนที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้

พื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองบนพื้นที่กว่า 29 ไร่ ของจุฬาฯ อันเกิดขึ้นจากนโยบายการสร้างเมือง GREEN & CLEAN CITY และเพื่อเป็นการตามรอยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ในการพระราชทานที่ดินให้แก่จุฬาฯ เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และคืนประโยชน์สู่สังคมส่วนร่วม โดยก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้เข้าใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ค่ายวิศวพัฒน์ ส่งต่อองค์ความรู้การจัดการน้ำสู่ชุมชนเพื่อความยั่งยืน

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย 12 ภาควิชา รวมถึง ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสำรวจ และวิศวกรรมแหล่งน้ำ พร้อมด้วยคณาจารย์ผู้ทรงความรู้ ถือเป็นแหล่งบ่มเพาะองค์ความรู้ที่สำคัญทางการชลประทานที่พร้อมถ่ายทอดสู่นิสิต นำไปสู่การฝึกปฏิบัติจริงในการแก้ปัญหาด้านการจัดการน้ำให้กับชุมชนห่างไกล ผ่านค่ายวิศวพัฒน์ ซึ่งเป็นโครงการค่ายวิศวกรรมอาสาพัฒนาชนบทที่พร้อมปลูกฝังความเป็นผู้นำทั้งในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้แก่นิสิตจิตอาสาที่เข้าร่วมค่าย