กรณีศึกษา

จุฬาฯ ผนึกกำลังชุมชน ติวน้อง “ละอ่อนสารักษ์ป่าน่าน” ใช้ Google Earth Pro กู้ป่าชุมชนเสื่อมโทรม

สถานการณ์ป่าน่านเสื่อมโทรมเป็นปฐมเหตุให้ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง และสถานีวิจัยคัดเลือกและบำรุงพันธุ์สัตว์ ตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ต้องผนึกกำลังกันดำเนินกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเพื่อวางแนวทางการพลิกฟื้นผืนป่าสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศป่าชุมชน “ไหล่น่าน”

จากการศึกษาวิจัยร่วมกับชุมชนตำบลไหล่น่านในช่วงกว่า 10 ปี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ชัย ดำรงโรจน์วัฒนา และนิสิตภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท พบว่าในพื้นที่มีป่าชุมชนของหมู่บ้านต่าง ๆ รอบสถานีวิจัยคัดเลือกและบำรุงพันธุ์สัตว์ ตำบลไหล่น่านได้รับการดูแลรักษาจากชุมชนอยู่บ้าง  แต่ยังขาดการรวมกลุ่มของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการเชิงอนุรักษ์และศึกษาทรัพยากรต่าง ๆ ในป่าชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2561 จึงได้บูรณาการกิจกรรมที่ได้ดำเนินการร่วมกันระหว่างคณะนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนชาวบ้าน ตัวแทน อบต. ตัวแทนนักเรียนและครูโรงเรียนสา  บริหารจัดการองค์ความรู้ด้านป่าชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ผู้เข้าร่วมเกิดการมีส่วนร่วมและตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการป่าชุมชน และต้องการต่อยอดให้เกิดความเข้มแข็งของกระบวนการสร้างความยั่งยืนและประโยชน์ที่สูงขึ้นโดยให้คณะนักวิจัยเข้ามาช่วยดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จึงพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่าชุมชนบ้านบุญเรืองขึ้นมา ในช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2562

ตัวแทน อบต. ไหล่น่านและตัวแทนคณะครูโรงเรียนสามีความตั้งใจสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติสายนี้ ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ทางธรรมชาติวิทยาและรองรับคณะดูงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนร่วมสนองพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) โดยให้ตัวแทนนักเรียนมาเข้าร่วมกิจกรรมสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาตินี้ด้วย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียนโดยทำโครงงานของรายวิชาการค้นคว้าอิสระ (Independent Study) ซึ่งใช้หลักการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Project-based and problem-based learning) มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (21st century learning skill) ควบคู่กันไป

การสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 1,500 เมตร สายนี้ มิใช่เพียงเป็นไปเพื่ออนุรักษ์และกอบกู้ผืนป่าชุมชน หากแต่ยังได้สร้างกิจกรรมที่หลากหลายให้นักเรียน คนในชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายอย่างคณะนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้หันหน้าเข้าหากันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อาทิ อบรมความรู้การสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติ อบรมการใช้โปรแกรม GPS Essentials และ Google Earth Pro อบรมความรู้และแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาเกี่ยวกับทรัพยากรเห็ดในป่าชุมชน เดินสำรวจป่าชุมชนร่วมกับตัวแทน อบต. ชาวบ้าน ครู และนักเรียนถึง 3 ครั้ง เพื่อจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ จัดทำป้ายความรู้และสื่อประชาสัมพันธ์ให้อบต.ไหล่น่านและชุมชนได้ใช้ประโยชน์ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ จากทุกภาคส่วนรวมทั้งสิ้น 96 คน และที่มากไปกว่านั้น คือ นักเรียนกลุ่มนี้ยังได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์ขึ้นอีก 8 โครงการ ได้แก่

  1. การสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่าชุมชน
  2. ความหลากหลายของไม้ยืนต้นตามแนวเส้นทางการศึกษาธรรมชาติ
  3. ความหลากหลายของไม้ยืนต้นตามแนวเส้นทางศึกษาธรรมชาติในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ Google Earth Pro
  4. การเติบโตของต้นไม้ในแปลงถาวร
  5. ความหลากหลายของพืชสมุนไพรและการใช้ประโยชน์
  6. ความหลากหลายของเห็ดและการใช้ประโยชน์
  7. ความหลากหลายของมดในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
  8. อาหารพื้นบ้านจากทรัพยากรในป่าชุมชน
https://anyflip.com/tqmmg/tyzl
https://anyflip.com/tqmmg/tyzl

ที่มา:

คณะวิทยาศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

อื่นๆ

Park @ Siam พื้นที่สีเขียวของจุฬาฯ ใจกลางเมืองเพื่อชุมชน

“Park @ Siam” พื้นที่สีเขียวใจกลางย่านการค้าสยามสแควร์ เป็นสวนสาธารณะแห่งเดียวในย่านการค้าที่มีชื่อเสียง ภายใต้การดูแลและบริหารจัดการโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU)

จุฬาฯ หนุนใช้นวัตกรรมกู้วิกฤตประมงไทย ผุดวิธีแก้ประมงผิดกฎหมาย ช่วยชาติปลดล็อคใบเหลือง IUU

ต่อยอดผลสำเร็จงานวิจัยการจัดการและถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาประมงแบบ IUU แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ในกิจการประมงไทย

ศิลปะบำบัด ปลดปล่อยความวิตกกังวลจากเหตุการณ์วิกฤต

หลายคนที่เคยประสบกับเหตุการณ์วิกฤตไม่ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการเข้าบำบัดรักษาสุขภาพจิต เนื่องจากค่านิยมในสังคมเป็นสาเหตุที่สำคัญทำให้ผู้คนที่ได้รับความบาดเจ็บทางอารมณ์จากเหตุการณ์รุนแรงไม่เข้ารับการบำบัด ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมีความเชื่อว่าการเข้ารับการบำบัดหมายถึงการเป็นคนบ้าหรือมีสภาพจิตใจที่อ่อนแอ การปรับทัศนคติในเรื่องนี้กับผู้คนในสังคมมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้การบำบัดสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงได้ง่ายและเป็นที่ยอมรับ

เข้าใจชุมชนคนรักช้าง สู่สถาปัตยกรรมเพื่อช้าง Elephant World จังหวัดสุรินทร์

ความตั้งใจให้พื้นที่เป็นศูนย์อนุรักษ์ช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นแหล่งศึกษาข้อมูลทางวิชาการ ผลักดันให้โลกของช้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกี่ยวกับช้างแบบครบวงจร