CU-ORGANIC CIRCLE:
โครงการ Organic Circle: นวัตกรรมการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ครบวงจร
การปลูกผักออแกนนิกนั้น ปัญหาที่สำคัญสุดคือทุกอย่างต้องเป็นอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นแปลงผัก น้ำที่ใช้รด และส่วนที่สำคัญอันหนึ่งคือปุ๋ยที่ต้องอินทรีย์ ยิ่งถ้าทำแปลงผักอินทรีย์ใหญ่เพื่อการส่งตลาด ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพดี ก็ต้องมีจำนวนมากพอ แต่ทำอย่างไรที่จะมีปุ๋ยอินทรีย์มากพอเพียงกับความต้องการ
ปัญหานี้ เกษตรกรที่บ้านใหม่สามัคคี หมู่ 9 ตำบลเมืองจัง อ.ภูเพียง จังหวัดน่าน ได้รับการแก้ไขแล้วด้วยการเลี้ยงแกะเนื้อ และเป็นการเลี้ยงแกะแบบอินทรีย์ ซึ่งเป็นตัวต่อสำคัญในการทำเกษตรอินทรีย์ที่ทำได้ครบวงจร
ด้วยความช่วยเหลือและคำแนะนำจากนักวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการ “Organic Circle: นวัตกรรมการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ครบวงจร” เกษตรกรกลุ่มแรกที่เข้ามาร่วมในโครงการนี้จำนวน 25 คน พบว่าพวกเขาจะมีรายได้จากการขายผักอินทรีย์ แต่ยังมีรายได้เพิ่มจากการขายแกะเนื้อที่เลี้ยงแบบอินทรีย์ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดและมีราคาสูง
“เกษตรกรจะได้รับการอบรมในการเลี้ยงแกะที่แทบจะไม่ต้องมีต้นทุนในการหาอาหาร เกษตรกรสามารถหาหญ้าหรือพืชอาหารสัตว์ในท้องถิ่นมาเลี้ยงแกะได้ โดยที่ไม่ต้องใช้เงินไปซื้อ ทำให้มีการใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์” ผศ. น.สพ.ดร. วินัย แก้วละมุล (Winai Kaewlamun) สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ อธิบาย
“เมื่อได้มูลแกะก็จะนำมาทำปุ๋ยหมักและนำไปใช้ในการบำรุงดินเพื่อการปลูกพืชผักต่าง ๆ ทำให้มีการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรในฟาร์มอย่างคุ้มค่า ลดต้นทุนการผลิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
น่านเป็นเมืองต้นน้ำแต่คนน่านแทบไม่ได้ใช้น้ำ เพราะน้ำไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาไปหมด การที่ชาวบ้านประกอบอาชีพปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ เพราะเขาไม่มีทางเลือก แต่การปลูกข้าวโพดมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการทำลายหน้าดิน และพื้นที่ป่าจำนวนมาก ฉะนั้น การปลูกผักอินทรีย์ควบคู่กับการเลี้ยงแกะเนื้ออินทรีย์ เป็นอีกอาชีพทางเลือกของเกษตรกรที่จะไปทดแทนการปลูกข้าวโพดบนพื้นที่สูง ลาดชัน เป็นการคืนพื้นที่ป่าหรือลดการทำลายหน้าดินจากการทำไร่ข้าวโพด และสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกรได้
นายขวัญประชา วังสนิท เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการนี้ กล่าวว่า เขารู้สึกตื่นเต้นกับโครงการนี้มาก เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่มีสถาบันวิชาการแบบจุฬา ร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน นำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ในพื้นที่
“มีสมาชิกของวิสาหกิจนำร่องจำนวน 25 คนเข้าร่วม ซึ่งมีชาวบ้านรอดูผลลัพธ์จากโครงการอยู่” นายขวัญประชาเล่าอย่างกระตือรือร้น
เกษตรกรได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำตลาดล่วงหน้า หรือเรื่องระบบอินทรีย์ ซึ่งเกษตรจำนวนหนึ่งไม่เชื่อว่าเรื่องนี้สามารถทำได้จริง รวมทั้งเรื่องที่นวัตกรรมสามารถลดการใช้แรงงานชาวบ้านลง ดังนั้นเกษตรกรชุดนำร่องก็จะแสดงให้คนอื่นๆ เชื่อได้ว่าสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้ “เป็นไปได้” และไม่ยากเกินไป
เช่นเดียวกันกับการเลี้ยงแกะ แม้จะเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็ไม่ยาก เพราะเจ้าหน้าที่ศูนย์ร่วมดูแลใกล้ชิด
“อาหารแกะในหน้าแล้งจะเป็นหญ้าและข้าวโพดหมัก โดย มีแปลงปลูกหญ้าและข้าวโพดอยู่ภายในศูนย์ฯ และมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ คอยให้อาหาร โดยมีการอบรมให้คำแนะนำก่อนเกษตรกรจะนำแกะไปเลี้ยง” นายขวัญประชาเล่า แม้จะมีปัญหาสุขภาพแกะบ้าง แต่มีนิสิตของจุฬาฯ และอาจารย์วินัยมาช่วยดูแล
เกษตรกรผู้สนใจจะได้รับแกะไปดูแล 3 ตัว โดยมีเงื่อนไขว่าภายใน 1 ปี 6 เดือน ต้องคืนลูกแกะมาที่ศูนย์ 3 ตัว เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนไปให้เกษตรกรรายใหม่ที่สนใจ
นายด้าย แสงดวงแก้ว อายุ 53 ปีทำไร่ข้าวโพดมายี่สิบปี แม้จะมีรายได้พอประมาณ แต่สารเคมีพิษที่ใช้ปีละ 100 กว่าลิตรทำให้ต้องมีค่าใข้จ่ายในการรักษาภรรยาครั้งละหลายหมื่นจากปัญหาสัมผัสสารเคมีพิษ นอกจากนั้นก็ยังติดหนี้สินจากการทำไร่ข้าวโพดเมื่อตัดสินใจเลิกทำไร่ข้าวโพด นายด้ายก็มาเป็นหนึ่งในอาสาสมัครทดลองเลี้ยงแกะกับสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ แม้เพื่อนบ้านจะเตือนว่า เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด เพราะจะไม่มีตลาดสำหรับเนื้อแกะ แต่เมื่อนายด้ายทดลองเอาเนื้อแกะไปอบโอ่งให้ชาวบ้านกิน การกินแกะก็กลายเป็นเรื่องความอร่อย
“แต่ก่อนมีวัวเลี้ยงกันเต็มทุ่ง แต่ตอนนี้เหลือแค่ 7 ตัว ชาวบ้านจะเอาเนื้อที่ไหนกิน” นายด้ายกล่าวด้วยความเขื่อมั่นว่าเลี้ยงแกะเนื้อมีตลาดแน่นอน ถ้าเมื่อไหร่ตลาดโต ชาวบ้านจะได้เลิกทำไร่ข้าวโพด
ก่อนหน้านี้การทำไร่ข้าวโพดเป็นทางรอดทางเดียวของเกษตรกรแม้ต้องรับพิษจากสารเคมีและเป็นหนี้สินจากการซื้อสารเหล่านี้มาใช้และติดกับดักในวงจรอุบาทว์นี้ แต่เมื่อไม่ถึงปีที่ผ่านมา
หลังจากที่นายด้ายได้เริ่มเลี้ยงแกะพร้อมทำเกษตรอินทรีย์เขาพบว่าหนี้สินที่มีอยู่ค่อยๆ ลดลง ครอบครัวมีพลานามัยที่ดีขึ้น
“การเลี้ยงแกะใข้พื้นที่น้อย และอาหารที่เป็นหญ้าก็ใช้ไม่มาก” แม้เพิ่งจะเริ่มทดลองเลี้ยงแกะและทำเกษตรอินทรีย์ไม่นาน นายด้ายก็เห็นอนาคตที่สดใสในการเลี้ยงแกะถึงขนาดว่าจะปรับพื้นที่ 17 ไร่ของตนเองให้เป็นฟาร์มแกะ ที่แกะสามารถเดินไปมาได้
“ผมได้แกะตัวเมียมา 3 ตัว ถ้าผมมี 30 ตัว ผมก็จะได้ลูก 60 ตัว ขายได้ตัวละ สองพันบาท ปีนึ่งก็จะได้เงินหลายบาทอยู่” นายด้ายยังปลูกข้าวโพดก็จริง แต่ปลูกเพื่อเป็นอาหารแกะ และสัตว์อื่นๆ โดยไม่ใช้สารเคมีมานานแล้ว
ด้านการทำผักเกษตรอินทรีย์นั้น ปัญหาใหญ่คือการทำการตลาด แต่ด้วยความช่วยเหลือจากโครงการ ขณะนี้มีกลุ่มนี้มีการทำตลาดล่วงหน้าเกี่ยวกับการขายผัก ซึ่งทำให้เกิดเงินหมุนเวียนเข้ามาในกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ประมาณเดือนละ 4,000-5,000 บาท
อย่างไรก็ตามโครงการนี้ ได้ใช้นวัตกรรมในกระบวนการผลิตเกษตรอินทรีย์นั้นตั้งแต่จุดเริ่มต้น คือการเตรียมพื้นที่เกษตรที่เปลี่ยนจากพื้นที่การใช้สารเคมี มาเป็นพื้นที่ที่ปลอดสารเคมีอย่างแท้จริง
ผศ. น.สพ.ดร. วินัยได้อธิบายว่า ก่อนการเริ่มต้นของการผลิต ทีมงานนวัตกรรมต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมจุลินทรีย์ย่อยสลายสารเคมีตกค้างในดินของเกษตรกรที่เข้าร่วม เพื่อลดการปนเปื้อนจากสารเคมีตกค้าง ซึ่งจุลินทรีย์นี้นอกจากจะย่อยสลายสารตกค้างแล้วยังช่วยปลดปล่อยธาตุอาหารที่อยู่ในดินให้อยู่ในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ได้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังนำเทคโนโลยีชีวภาพจุลินทรีย์การควบคุมโรคพืชและจุลินทรีย์ช่วยในการปรับปรุงดินมาใช้ในการปรับปรุงดินและควบคุมโรคพืชแทนการใช้สารเคมีในการกำจัดเชื้อก่อโรคในพืช รวมทั้งได้มีการจัดการน้ำด้วยเทคโนโลยีเซนเซอร์ ทำให้ลดการใช้แรงงานคน และมีการลดการใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดเชื้อก่อโรคในพืชผัก โดยการใช้วิธีการควบคุมทางชีวภาพแทน (Biological Control)ที่ศูนย์นี้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่จัดสรรให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตร ซึ่งเปิดโอกาสให้เกษตรกร บุคคลทั่วไป และนักเรียน เข้ามาเรียนรู้ได้ ในการดำเนินงานของโครงการที่ทั้งเด็กนักเรียน เกษตรกรและบุคคลทั่วไปที่เห็นตัวอย่าง เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี เกิดเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้
“เราอยากให้เขาเห็นถึงวิถีในการเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิมที่ทำตามๆ กันมา มาเป็นเกษตรแบบสมาร์ท คือ มีการวางแผน มีการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทาง” ผศ. น.สพ.ดร. วินัยอธิบาย
นอกจากนั้น ยังเกิดเครือข่ายในการทำงานร่วมกันระหว่างคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และระหว่างมหาวิทยาลัยและชุมชน และระหว่างหน่วยงาน นำไปสู่การบูรณาการในด้านความเชี่ยวชาญต่าง ๆ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและพัฒนาการเกษตรครบวงจร
“ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับโครงการนี้” ผศ. น.สพ.ดร. วินัย เน้น “ก็คือการที่เป็นโครงการความร่วมมือ ที่ไม่ใช่จุฬาฯ อย่างเดียว แต่เป็นความร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กับ ท้องถิ่นในการที่จะเดินร่วมกัน ภายใต้ความร่วมมือตรงนี้มันก็จะนำไปสู่ความยั่งยืน” ผศ. น.สพ.ดร. วินัยกล่าว
“เพราะมันไม่ใช่การให้ที่หยิบยื่นโดยที่เจ้าตัวไม่ได้รับ แต่มันเป็นการทำร่วมกัน เป็นจิ๊กซอว์ที่จะเติมเต็ม” ผศ. น.สพ.ดร.วินัยอธิบายต่อ เริ่มมีเกษตรกรเอาแกะไปเลี้ยงขยายผล ก็จะเกิดเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น แม้ว่ามันจะยังไม่เยอะมาก
“แต่มันเพิ่งเริ่มต้นและเราเชื่อว่ามันจะเกิดการขยายผลในวันข้างหน้า” เขากล่าว
โครงการนี้ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่าง
- สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
- ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
- วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักปลอดสารพิษบ้านใหม่สามัคคี ม.9 ตำบลเมืองจัง
- คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ประสานงาน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. วินัย แก้วละมุล
อีเมล winai.k@chula.ac.th
โทร 0811300327
ที่มา:
สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:
อื่นๆ
ความร่วมมือจุฬาฯ กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยของข้าราชการตำรวจ (Affordable Housing for Police Officers)
สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของข้าราชการตำรวจ อันเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อชุมชน
จุฬาฯ หวังเพิ่มประชากรเต่าทะเล หนุนตั้งเครือข่ายคุ้มครองแหล่งวางไข่ในอ่าวไทย
จำนวนเต่าทะเลในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 แม้รัฐบาลจะประกาศใช้กฎหมาย กำหนดเขตหวงห้าม ประกาศขึ้นทะเบียนเต่าทะเลในบัญชีรายชื่อของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งพันธุ์พืชป่าและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และพยายามสำรวจและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งอาศัยของเต่าทะเล เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการอนุรักษ์เต่าทะเลก็ตาม แต่จำนวนของเต่าทะเลในประเทศไทยยังคงลดลงจนใกล้ถึงจุดวิกฤต จากจำนวนมากกว่า 2,500 รังต่อปี เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเหลือเพียงปีละ 300-400 รังต่อปี เท่านั้น
จุฬาฯ ปลุกการท่องเที่ยวเมืองน่านสีเขียว
“น่าน” มีวิสัยทัศน์ประจำจังหวัด คือ “เมืองแห่งความสุข เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ธรรมชาติสมบูรณ์ เกษตรกรรมอุดมสมบูรณ์ ชุมชนแน่นแฟ้น และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” น่านได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดการพัฒนาการและเติบโตด้านการท่องเที่ยวอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยใช้ 5 กลยุทธ์
จุฬาฯ ต้าน COVID-19 ด้วยกลยุทธ์หลายมิติ; การวินิจฉัย การรักษา และการฉีดวัคซีน
ในช่วงวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สนับสนุนงานวิจัย การบริการ และนวัตกรรมมากมายแก่สังคมเพื่อฟื้นคืนสถานการณ์ที่ตึงเครียด ซึ่งรวมถึงวิธีการวินิจฉัย แพลตฟอร์มออนไลน์ด้านการดูแลผู้ป่วย (วอร์ดเสมือน) และงานด้านศูนย์บริการวัคซีน