กรณีศึกษา

สุขภาพดีถ้วนหน้า จุฬาฯ จัดให้

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย “ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักบริหารระบบกายภาพ” จัดพื้นที่ออกกำลังกายเพื่อให้นิสิตพร้อมกิจกรรมอบรมทักษะกีฬาให้กับนิสิต บุคลากรและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงพื้นที่ออกกำลังกายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามนโยบายของจุฬาฯ ที่มุ่งสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพประชาชน แก้ปัญหากิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ทวีพรปฐมกุล กล่าวว่า “จุฬาฯ ไม่เพียงเป็นสถาบันแห่งความรู้ แต่ยังเปิดพื้นที่รอบรั้วจุฬาฯ ดูแลสุขภาพ สร้างพื้นที่สีเขียวเป็นปอดให้คนกรุงได้ออกกำลังกายจำนวนหลายแห่ง รวมถึงสนามกีฬาประเภทต่าง ๆ ที่ให้บริการกับประชาชนทั่วไป ตลอดจนให้ชุมชนท้องถิ่นหรือสาธารณชนมาใช้อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬาร่วมกันด้วย ตามนโยบายของจุฬาฯ ที่มุ่งสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพประชาชน ซึ่งสถานที่ของเรามีความพร้อมและได้มาตรฐานสากล นอกจากนิสิต คณาจารย์ และบุคลากรของจุฬาฯ แล้ว ศูนย์กีฬาฯ ก็ยังเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาใช้บริการได้ สิ่งที่เราคำนึงถึงคือความสะอาดและการบริการที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวจุฬาฯ หรือประชาชนทั่วไป”

ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพื้นที่ออกกำลังกายเพื่อให้นิสิต บุคลากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงพื้นที่ออกกำลังกายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อาทิ สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสนามกีฬากลางแจ้งมาตรฐานขนาดใหญ่ ประกอบด้วย สนามหญ้าสังเคราะห์ระดับมาตรฐานที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) รับรองเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ลู่วิ่งยางสังเคราะห์ จำนวน 8 ลู่ ซึ่งได้รับรองจากสหพันธ์กรีฑานานาชาติ (IAAF) มีอัฒจันทร์สำหรับนั่งชมโดยรอบสามารถจุผู้ชมได้ประมาณ 20,000 – 25,000 คน มีความพร้อมเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมไปถึงแสงไฟที่ได้มาตรฐาน อาคารเฉลิมราชสุดากีฬาสถาน (CU Sports Complex) อาคารสปอร์ตคอมเพล็กซ์ 5 ชั้น ภายในอาคารประกอบด้วย สนามแบดมินตัน สระว่ายน้ำ 50 เมตร ฟิตเนสเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ สนามกีฬาประเภทกีฬาต่อสู้ สนามกีฬาเอนกประสงค์ ซึ่งสามารถปรับเป็นสนามแข่งขันกีฬาชนิดต่าง ๆ ได้หลายประเภท  พื้นที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง (outdoor fitness areas) ภายในมหาวิทยาลัยจำนวน 4 จุด ได้แก่ ด้านข้างสนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Park@Siam คณะวิทยาศาสตร์การกีฬาและอาคารมหิตลาธิเบศร์ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สวนสาธารณะกลางเมืองสำหรับครอบครัวโดยเฉพาะผู้สูงวัย พื้นที่สีเขียวร่มรื่น สวยงาม พร้อมพื้นที่สำหรับออกกำลังกายและวิ่งจ็อกกิง เปิดทุกวัน เวลา 05.00 – 22.00 น. Park@Siam พื้นที่สีเขียวติดกับศูนย์หนังสือจุฬาฯ สยามสแควร์ เปิดให้ทุกคนเข้ามาดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเดิน วิ่ง นั่งพักผ่อนคลายร้อน ภายในสวนยังมีฟิตเนสกลางแจ้งพร้อมด้วยเครื่องออกกำลังกายต่าง ๆ เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 20.00 น.

นอกจากนี้ ยังได้จัดโครงการฝึกอบรมทักษะกีฬาแก่ประชาชนทั่วไป ประกอบด้วย ว่ายน้ำ เทนนิส แบดมินตัน บาสเกตบอล เทควันโด โยคะ กอล์ฟ ลีลาศ ฟุตบอล ศิลปะมวยไทย ยิมนาสติก อีกทั้งยังจัดโครงการออกกำลังกาย อาทิ ZUMBA Fitness DANCE ON THE FLOOR กิจกรรมเต้นซุมบ้าบริเวณลานด้านหน้าอาคารเฉลิมราชสุดากีฬาสถาน ซึ่งซุมบ้าเป็นการออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมสูงสุดในจุฬาฯ ด้วยดนตรีที่คึกคัก ผสานท่าเต้นหลากหลาย ทำให้ออกกำลังกายได้นานและไม่รู้สึกเบื่อ เต้นซุมบ้าได้ทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 17.10 – 18.10 น. โครงการ “สุขภาพดี มีความสุข ด้วยโยคะ” บริเวณชั้น 2 ห้องแอโรบิคแดนซ์ เปิดให้บุคคลภายนอกสมัครเข้ามาเรียนโยคะได้ ทุกวันอังคารและวันศุกร์ เวลา 17.15 – 18.15 น.

ที่มา

ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:

อื่นๆ

“อาคารเขียว” กับ การพัฒนาอาคารใหม่อย่างยั่งยืนของจุฬาฯ

การพัฒนาพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งเน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงบริบทการเปลี่ยนแปลงที่เป็นปัจจุบันที่มีความสำคัญในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริบทที่มีความเกี่ยวข้องกับความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate change) ซึ่งมีผลมาจากกิจกรรมหรือการใช้ทรัพยากรที่เกิดขึ้นในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทางกายภาพภายในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาฯ กับนโยบายและการลงทุนเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

Net Zero​ Greenhouse Gas​ Emissions หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและมีการจัดการอย่างเร่งด่วน ตามมติการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 26 หรือ COP26 เมื่อปี 2021 (พ.ศ. 2564) ที่สนับสนุนเป้าหมายในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันหายนะที่จะเกิดจากสภาวะอากาศสุดโต่ง

การสนับสนุนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องการปฏิบัติงานที่ยืดหยุ่นของบุคลากร

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้คลี่คลายลงและลดระดับความรุนแรงของโรคจนกลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แต่จากการเกิดสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของทางภาครัฐ ดำเนินการปรับตัวและปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติงานของบุคลากรจากรูปแบบเดิมที่กำหนดให้บุคลากรต้องเข้ามาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของหน่วยงานภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเท่านั้น สู่ลักษณะของการปฏิบัติงานที่มีความยืดหยุ่น รองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่

นโยบายและการดำเนินการส่งเสริมพื้นที่เพื่อการเดินเท้าภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาฯ เป็นสถานศึกษาที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ในย่านใจกลางเมืองกรุงเทพฯ จึงทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นจุดเชื่อมต่อและผ่านทางไปยังจุดอื่น ๆ ได้ง่าย เพราะฉะนั้นจึงทำให้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยไม่ได้มีเพียงนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังมีผู้คนทั่วไปจำนวนมากที่เดินทางสัญจรไปมาผ่านพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ทั้งด้วยยานพาหนะ และการเดินเท้า อีกด้วย