จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย “ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์” และ“สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ” เผยผลสำเร็จ “แสมสารโมเดล” นำร่องแก้ปัญหาขยะบนบกไหลลงทะเลชลบุรี ด้วยหลัก 3Rs ลดขยะพื้นที่แสมสารได้จริงกว่าร้อยละ 30 พร้อมขยายผลความสำเร็จจากชุมชนสู่ระดับชาติ
จากองค์ความรู้ “วิทยาศาสตร์ทางทะเล” สู่การพัฒนา “แสมสารโมเดล”
“แสมสารโมเดล” หรือ แสมสารไร้ขยะ เป็นหนึ่งในโครงการท้องทะเลไทยไร้ขยะ ภายใต้ “โครงการสร้างความตระหนักและจิตสำนึกของชุมชนในการลดและแยกขยะเพื่อไม่ให้ตกลงสู่ทะเลพื้นที่แสมสาร” ดำเนินงานโดยภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศึกษาและวิจัยผลกระทบของขยะทะเลและไมโครพลาสติกที่มีผลต่อสัตว์ทะเลและมนุษย์ในพื้นที่นำร่องชุมชนแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จากความร่วมมือในระดับท้องถิ่นนำโดยองค์การบริหารส่วนตำบลแสมสาร กองทัพเรือสัตหีบ และประชาชนในพื้นที่ ได้กำหนดแนวทางการสร้างความตระหนักและจิตสำนึกอนุรักษ์ท้องทะเลร่วมกับชุมชน พร้อมถ่ายทอดความรู้เรื่องการลดและแยกขยะให้กับชุมชนจนกลายเป็นนวัตกรรมทางสังคมผ่านการศึกษาวิจัยการมีส่วนร่วม การสร้างจิตสำนึก และการสร้างชุมชนเข็มแข็ง โดยได้บูรณาการองค์ความรู้ “Chula Zero Waste” ที่ทดลองนำมาใช้จัดการปัญหาขยะภายพื้นที่จุฬาฯ จนสำเร็จแล้ว ขยายผลมายังชุมชนแสมสาร โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (The Japan International Cooperation Agency หรือ JICA) สนับสนุนเครื่องมือสำรวจปริมาณขยะทะเลบนเกาะแสมสาร จากนั้นนำผลสำรวจมาจัดทำข้อเสนอแนะเสนอหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม และป้องกันปัญหามลภาวะจากขยะทะเลโดยเฉพาะขยะพลาสติก ช่วยลดปริมาณขยะในพื้นที่ได้มากถึงร้อยละ 30 ด้วยหลักการ 3Rs ลดการใช้ นำกลับมาใช้ซ้ำ และนำขยะกลับมาใช้ใหม่ (Reduce Reuse and Recycle)
ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ริเริ่มโครงการเล่าถึงบรรยากาศความร่วมมือของภาคีเครือข่ายและชุมชนซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันคือมุ่งพัฒนาพื้นที่ให้สอดรับกับการท่องเที่ยวว่า “ก่อนหน้านี้ที่แห่งนี้เคยเป็นสถานีทดลองเพาะขยายพันธุ์ปะการังด้วยวิธีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ซึ่งได้ผลสำเร็จเป็นที่แรกของประเทศไทยมาแล้ว ทำให้ชาวบ้านสนใจและอยากมีส่วนร่วมอนุรักษ์ท้องทะเลของเขา ประกอบกับที่นี่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนักจึงเอื้อต่อการท่องเที่ยวและเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ยิ่งทำให้เราต้องเร่งสร้างจิตสำนึกร่วมทั้งกับคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวที่มาให้เขารู้จักลดและแยกขยะ เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะเหล่านี้ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยของเรา”
“แก้ขยะล้นทะเล” แนะแก้ปัญหาที่ต้นตอ
นอกจากนี้ ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ยังเผยข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสำคัญต่อด้วยว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะบนบกที่ตกลงสู่ทะเลเป็นจำนวนมากเนื่องจากการจัดการขยะบนบกที่ไม่เหมาะสมโดยเฉพาะพลาสติกประเภทใช้แบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง เมื่อตกลงสู่ทะเลแล้วนอกจากจะไม่สามารถย่อยสลายได้ ยังแตกตัวกลายเป็นไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศปนเปื้อนอยู่ในสัตว์ทะเลที่กินเข้าไปโดยไม่ตั้งใจส่งผลต่อเนื่องมาถึงมนุษย์ที่บริโภคสัตว์ทะเลเข้าไป จากการวิจัยพบว่าขณะนี้ในร่างกายของคนเรามีชิ้นส่วนของไมโครพลาสติกสะสมอยู่ในร่างกายมนุษย์มากกว่าหมื่นชิ้นแล้ว ถึงแม้จะต้องรอผลการวิจัยยืนยันในอีกประมาณ 5 – 10 ปีข้างหน้าว่าไมโครพลาสติกดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์มากน้อยเพียงใด แต่การลด ละ เลิก การใช้ขยะพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งนั้นควรจะเริ่มลงมือทำได้เลยตั้งแต่ตอนนี้ก่อนที่จะสายเกินไป ดังนั้น การวางแผนการจัดการนโยบายและมาตรการการลดและกำจัดขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ตกลงสู่ทะเลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง”
ผลสำเร็จและองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยผลกระทบที่เกิดขึ้นของโครงการ ไม่เพียงแต่ช่วยกำหนดแนวทางการจัดการขยะบนบกที่ไม่ถูกต้องเพื่อลดปริมาณขยะทะเลในระดับประเทศและนานาชาติ แต่ยังประโยชน์เห็นผลเชิงประจักษ์ได้ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น เมื่อผลผลิตสัตว์น้ำที่ชาวประมงจับได้ไม่พบเศษซากขยะทะเลติดมา และปริมาณไมโครพลาสติกในท้องทะเลที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของสัตว์ทะเลลดลง ช่วยคืนสมดุลและความหลากหลายทางชีวภาพให้น่านน้ำไทยได้อีกครั้ง โดยผลสำเร็จของโครงการนี้ยังได้ขยายผลต่อเนื่องจากพื้นที่นำร่องในอำเภอสัตหีบไปสู่พื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดชลบุรี อาทิ เมืองพัทยา อำเภออ่างศิลา เป็นต้น และยังเกิดความร่วมมือต่อยอดกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมควบคุมมลพิษ กำหนดแนวทางการดำเนินงานเชิงนโยบายเพื่อจัดการขยะของประเทศ โดยเริ่มขยายผลจากโครงการนำร่องไปยังจังหวัดใกล้เคียงอย่างระยองได้สำเร็จเป็นจังหวัดแรกอีกด้วย
ยกระดับความสำเร็จ “แสมสารโมเดล” สู่เวทีนานาชาติ
มากไปกว่านั้น “แสมสารโมเดล” (Sameasan Model) และองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะพลาสติกยังนำไปสู่การก่อตั้งภาคีเครือข่ายระหว่างประเทศ แบ่งปันและถ่ายทอดองค์ความรู้อนุรักษ์ท้องทะเลควบคู่ไปกับสร้างจิตสำนึกในระดับนานาชาติไปสู่ 2 หน่วยงานสำคัญ ได้แก่ IOC/WESTPA ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินกิจกรรมในภูมิภาคภายใต้กรอบของ UNESCO-IOC และ United Nations Environment Programme (UNEP) และยังเกิดโครงการความร่วมมือทำวิจัยขยะพลาสติกในทะเลน่านน้ำไทยกับประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งศูนย์วิจัยในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่าน Japan International Cooperation Agency (JICA) ผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยภาคีเครือข่ายในประเทศญี่ปุ่น อีก 7 แห่ง ได้แก่ Kyushu University, Tokyo University of Marine Science and Technology, Tokyo University of Agriculture and Technology, Kyoto University, Kumamoto University, Chuo University และ Kagoshima University เพื่อแสวงหาแนวทางลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลคืนความสมดุลให้ทุกชีวิตใต้ท้องทะเลไทยต่อไป
ที่มา:
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง:
- http://www.cocc.psu.ac.th/blogs_view.php?lang=th&blog_id=2
- https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG191007210707743
- https://www.dailynews.co.th/education/735558/
- https://www.jst.go.jp/report/2019/191023_e.html
- https://mgronline.com/daily/detail/9620000091465
- https://www.matichon.co.th/publicize/news_1685338
- https://www.naewna.com/local/431305
- https://thesharpener.online/2021/02/%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%AC%E0%B8%B2%E0%B8%AF-%E0%B8%8A%E0%B8%B9-%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%A5-%E0%B9%81/
อื่นๆ
ความร่วมมือจุฬาฯ กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยของข้าราชการตำรวจ (Affordable Housing for Police Officers)
สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของข้าราชการตำรวจ อันเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อชุมชน
จุฬาฯ ชู “แสมสารโมเดล” แก้ขยะล้นทะเลไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย “ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์” และ“สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ” เผยผลสำเร็จ “แสมสารโมเดล” นำร่องแก้ปัญหาขยะบนบกไหลลงทะเลชลบุรี ด้วยหลัก 3Rs ลดขยะพื้นที่แสมสารได้จริงกว่าร้อยละ 30 พร้อมขยายผลความสำเร็จจากชุมชนสู่ระดับชาติ
จุฬาฯ ปลุกท่องเที่ยวน่านโตสมดุลและยั่งยืน ชู “เที่ยวกรีน กินคลีน เสพศิลป์เมืองน่าน”
“น่าน” มีวิสัยทัศน์ประจำจังหวัด คือ “เมืองแห่งความสุข เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ธรรมชาติสมบูรณ์ การเกษตรมั่งคั่ง ชุมชนเข้มแข็ง ท่องเที่ยวยั่งยืน” จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนเพื่อให้เป็นเมืองที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน
สผ. ร่วมกับ GIZ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หารือผู้เชี่ยวชาญในประเด็นความเสี่ยงของพืชเศรษฐกิจหลัก และข้อเสนอเชิงนโยบาย ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรของประเทศไทย
เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อผลการวิเคราะห์ประเด็นความเสี่ยงจากปัจจัยคุกคามทางสภาพอากาศต่อการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลักในแต่ละพื้นที่ย่อย โดยมีผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนจากสถาบันการศึกษา และภาครัฐ เข้าร่วมการประชุม