กฎและข้อบังคับ

นโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง มีพันธกิจในการพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ สร้างบัณฑิตวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม รวมทั้งสืบสานทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

มหาวิทยาลัย ได้มุ่งสู่ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) จำนวน 17 เป้าหมาย ผ่านบทบาทหลัก 4 ประการ คือ นโยบายและ แนวทางปฏิบัติภายในมหาวิทยาลัย (Policy and operation) วิจัยและนวัตกรรม (Research and innovation) การเรียนการสอน (Teaching and learning) และการเชื่อมโยงและสร้างความผูกพันกับสังคม (Outreach and Social engagement) ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ประกอบกับความหลากหลายของพื้นที่ดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด (น่าน สระบุรี เชียงใหม่ ชลบุรีและพังงา) ที่ครอบคลุมระบบนิเวศทั้งบนบกและ ในน้ำ รวมทั้งมีฐานทรัพยากรทั้งทรัพยากรมนุษย์ (บุคลากรและนิสิต) ในหลากหลายสาขาวิชา และหน่วยสนับสนุนผลผลิต ในสาขาที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความโดดเด่น ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนี้

  1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีพันธกิจด้านการเรียนการสอน วิจัย กิจการนิสิต และบริการวิชาการและ สังคมเพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
  2. ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือกับทุกหน่วยงานทั้งระดับชาติและนานาชาติในการบริหารจัดการ ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
  3. ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนานวัตกรรม และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทาง ชีวภาพ โดยการบูรณาการระหว่างศาสตร์ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
  4. เสริมสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น

ประกาศ ณ วันที่   24  พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

(ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์)
อธิการบดี

นโยบาย 1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีพันธกิจด้านการเรียนการสอน วิจัย กิจการนิสิต และบริการวิชาการและสังคมเพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

แนวปฏิบัติ

1.1 หน่วยงานวิชาการและหน่วยสนับสนุนผลผลิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมดำเนินการจัดการเรียนการสอน และดำเนินงานวิจัยเพื่อ

  • ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินความหลากหลายของพืชและสัตว์ในพื้นที่ดำเนินการของมหาวิทยาลัย
  • ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินสถานะด้านการอนุรักษ์ของพืชและสัตว์ในพื้นที่ดำเนินการของมหาวิทยาลัย ตามกฎหมายภายในประเทศ (เช่น พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562) และกฎหมายระหว่างประเทศ (เช่น Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) ตลอดจนสถานภาพการอนุรักษ์ตาม IUCN Red List เพื่อการวางมาตรการป้องกัน
  • ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินสถานะ และลดผลกระทบจากพืชและสัตว์ต่างถิ่น (alien species) ที่คุกคามความหลากหลายของพืชและสัตว์ท้องถิ่นในพื้นที่ดำเนินการของมหาวิทยาลัย

1.2 หน่วยงานวิชาการและหน่วยสนับสนุนผลผลิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมดำเนินการจัดการเรียนการสอน ดำเนินงานวิจัย สนับสนุนงานกิจการนิสิต และงานบริการวิชาการและสังคมเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน อาทิ

  • หลักสูตรให้ความรู้ เกี่ยวกับระบบนิเวศสำหรับชุมชนท้องถิ่นและชุมชนระดับชาติ
  • หลักสูตรให้ความรู้ เกี่ยวกับการจัดการระบบนิเวศเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนสำหรับการเกษตรและการท่องเที่ยว สำหรับชุมชนท้องถิ่นและชุมชนระดับชาติ
  • หลักสูตรให้ความรู้ เกี่ยวกับการดูแลและรักษาระบบนิเวศแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่น

นโยบาย 2. ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือกับทุกหน่วยงานทั้งระดับชาติและนานาชาติในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

แนวปฏิบัติ

หน่วยงานวิชาการและหน่วยสนับสนุนผลผลิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานระดับชาติและนานาชาติในการบริหารจัดการทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นระบบในด้าน

  • ร่วมมือกับหน่วยงานระดับชาติและนานาชาติ จัดกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
  • ร่วมมือกับหน่วยงานระดับชาติและนานาชาติ พัฒนาแนวปฏิบัติที่จะรักษาและยืดอายุระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืชและสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบนิเวศที่ถูกคุกคาม
  • ร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อดูแลและรักษาระบบนิเวศแบบมีส่วนร่วม

นโยบาย 3. ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนานวัตกรรม และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการบูรณาการระหว่างศาสตร์ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

แนวปฏิบัติ

หน่วยงานวิชาการและหน่วยสนับสนุนผลผลิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมดำเนินการจัดการเรียนการสอน และดำเนินงานวิจัยเพื่อส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนานวัตกรรม และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการบูรณาการระหว่างศาสตร์ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อ

  • ส่งเสริมการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศต่าง ๆ ในพื้นที่ดำเนินการของมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน
  • ส่งเสริมการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศต่าง ๆ ของภูมิภาค ประเทศ และโลก อย่างยั่งยืน

นโยบาย 4. เสริมสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น

แนวปฏิบัติ

หน่วยงานวิชาการและหน่วยสนับสนุนผลผลิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสริมสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้นิสิตและบุคลากรทุกภาคส่วน โดย

  • ดำเนินกิจกรรมโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น
  • วางแผนและพัฒนาโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น
  • ร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อดูแลและรักษาระบบนิเวศแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่ดำเนินการของมหาวิทยาลัย

ที่มา :

ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะวิทยาศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อื่นๆ